เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว อุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนก็คืออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีเทคโนโลยีล้ำสมัยอยู่แนวหน้าของการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
เมื่อไม่นานมานี้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเนื่องจากเทคโนโลยีที่น่าทึ่ง Internet of Things (IoT) พัฒนาการเชื่อมต่อของอุปกรณ์ผ่านบลูทูธและอินเทอร์เน็ต ทำให้ถ่ายโอนข้อมูลได้เร็วขึ้น ส่วนปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาล ทำให้สามารถดำเนินงานได้ในขอบเขตที่กว้างขึ้น เทคโนโลยีทั้งสองนี้ผลักดันอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปฏิวัติวิธีการออกแบบ ผลิต และใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้มีประสิทธิภาพ ชาญฉลาด และบูรณาการมากขึ้น
ในขณะเดียวกันอุปกรณ์เหล่านี้ต้องการส่วนประกอบที่แข็งแกร่งเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด นี่คือจุดที่เซมิคอนดักเตอร์มีบทบาทสำคัญ โดยมันทำหน้าที่เป็นระบบประสาทของอุปกรณ์มากมาย เช่น ระบบคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สื่อสาร ระบบพลังงานหมุนเวียน และเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ไม่เพียงสนับสนุน แต่ยังผลักดันวิวัฒนาการของอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้มั่นใจได้ว่าอุปกรณ์ต่าง ๆ สามารถตอบสนองความต้องการของโลกดิจิทัลได้มากขึ้น
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีพลวัตและเชื่อมโยงกันมากขึ้น
ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มาอย่างยาวนาน โดยติดอันดับเป็นผู้ผลิตและส่งออกฮาร์ดดิสก์รายใหญ่มาโดยตลอดหลายปี แม้จะมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้น แต่รากฐานที่แข็งแกร่งของไทยในฐานะผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์ยังคงเหนือกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ทำให้ประเทศเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับการลงทุนใหม่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนมีทีท่าว่าจะยังคงดำเนินต่อไปและทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต
โอกาสสำหรับประเทศไทยไม่ได้จำกัดอยู่แค่ด้านอุปทานเท่านั้น แต่ยังมีอุปสงค์ที่ช่วยเร่งโมเมนตัมนี้ด้วย ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์เช่นสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์อัจฉริยะอื่น ๆ ได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันและคาดว่าจะขยายตัวมากขึ้นในอนาคต เมื่อผู้คนเข้าถึงอิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่เหล่านี้มากขึ้น เซมิคอนดักเตอร์จะกลายเป็นกุญแจสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมโดยรวม ทำให้มั่นใจได้ถึงอนาคตที่มีพลวัตและเชื่อมโยงกันมากขึ้นสำหรับภาคอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย
การพัฒนาอุตสาหกรรมกระตุ้นความต้องการเซมิคอนดักเตอร์
การเติบโตของอุตสาหกรรมหลักอย่างยานยนต์ไฟฟ้า (EV) พลังงานหมุนเวียน และศูนย์ข้อมูล ส่งผลให้ความต้องการเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากภาคส่วนเหล่านี้ต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงและส่วนประกอบอัจฉริยะเพื่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วจากนโยบายที่ทะเยอทะยาน เช่น นโยบาย 30@30 ที่ตั้งเป้าผลิต EV 725,000 คัน ภายในปี 2030 ในขณะที่ประเทศพยายามที่จะเป็นศูนย์กลางของ EV อุตสาหกรรมนี้ต้องการห่วงโซ่อุปทานที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ EV นั้นพึ่งพาส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ที่ซับซ้อน เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของระบบจัดการแบตเตอรี่ อิเล็กทรอนิกส์กำลัง และเซ็นเซอร์ขั้นสูง เพื่อให้มั่นใจถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด นี่จึงเป็นโอกาสสำคัญสำหรับนักลงทุนในการตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น
ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียน 30% ของพลังงานทั้งหมดภายในปี 2037ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 การบรรลุเป้าหมายที่ทะเยอทะยานเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากภาคพลังงาน การเปลี่ยนแหล่งพลังงานแบบดั้งเดิมมาเป็นพลังงานหมุนเวียนต้องการการพัฒนาระบบอัจฉริยะที่พึ่งพาอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงอย่างมากสำหรับการแปลงพลังงาน การจัดเก็บ และการกระจายพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเซมิคอนดักเตอร์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะอื่น ๆ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเพิ่มผลผลิตพลังงานสูงสุดและความมั่นคงของระบบไฟฟ้า
ประเทศไทยยังเป็นที่ตั้งของศูนย์ข้อมูลมากกว่า 30 แห่ง จัดอยู่ในอันดับที่ 6 ของเอเชีย และอันดับที่ 3 ของอาเซียน แผนการสร้างศูนย์ข้อมูลในไทยของบริษัทชั้นนำอย่าง Microsoft และ Amazon ทำให้เกิดการขยายตัวของบริการคลาวด์ IoT และธุรกิจดิจิทัล ทั้งหมดนี้ต้องการโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ซึ่งกระตุ้นความต้องการของเซมิคอนดักเตอร์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลดีต่อการขยายตัวโดยรวมของอุตสาหกรรม
การวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง
นอกเหนือจากปัจจัยภายนอก เช่น ภูมิทัศน์ทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปและผลกระทบจากการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ แล้ว รัฐบาลยังได้ดำเนินนโยบายหลายประการเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมไปสู่เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง หนึ่งในโครงการที่สำคัญคือการจัดตั้งเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ซึ่งภายในเขตการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ได้มีการจัดตั้ง ARIPOLIS ขึ้นเป็นหนึ่งในสี่ศูนย์นวัตกรรม ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการวิจัยเชิงประยุกต์ที่เชื่อมโยงนักวิจัยในห้องปฏิบัติการกับผู้ใช้ปลายทาง มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะมาใช้เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรม
ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) เป็นโครงการนำร่องภายใน EECi ที่ดำเนินการโดยมุ่งเน้น 5 ส่วนสำคัญเพื่อสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของระบบนิเวศอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของประเทศ ได้แก่ การพัฒนาบุคลากร การจับคู่เทคโนโลยีและธุรกิจ Testbed การวิจัยและพัฒนา และการตรวจประเมินความพร้อม มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะและเครื่องจักรที่ล้าสมัย พร้อมกับเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงอุตสาหกรรมการเกษตรและสุขภาพ
นอกเหนือจากบริการเหล่านี้ EECi ARIPOLIS ยังให้การสนับสนุนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น การออกแบบและพัฒนาระบบ IoT, Network Platform for Internet of Everything (NETPIE), Industrial IoT และ Data Analytics (IDA) ที่มุ่งเน้นการจัดการห่วงโซ่อุปทานการผลิต และระบบติดตามตำแหน่ง UNAI นักลงทุนที่ดำเนินธุรกิจใน EECi ARIPOLIS จะได้รับสิทธิประโยชน์มากมาย เช่น สิทธิการเช่าระยะยาวเพื่อสร้างศูนย์วิจัยและพื้นที่ภายในอาคารสำหรับการวิจัยและพัฒนา การเข้าถึงพื้นที่ส่วนกลางและโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยและพัฒนา สภาพแวดล้อมแบบ Sandbox กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัย เป็นต้น
เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการลงทุนที่โดดเด่น มีส่วนร่วมในความสำเร็จของโครงการต่าง ๆ ที่กระตุ้นความต้องการอุปกรณ์อัจฉริยะของภาคเอกชน พัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง
โครงการริเริ่มและการพัฒนาระบบนิเวศทั้งหมดนี้กำลังเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันใหม่ ๆ ซึ่งช่วยสนับสนุนเส้นทางการเปลี่ยนผ่านจากอิเล็กทรอนิกส์แบบดั้งเดิมไปสู่อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของประเทศ อย่างไรก็ตามไทยไม่ได้มุ่งเน้นเพียงแค่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมปลายน้ำเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมต้นน้ำ โดยเฉพาะการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และแผงวงจร ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่ ด้วยแผนกลยุทธ์ที่วางไว้อย่างดีและความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน โอกาสในภาคส่วนนี้กำลังถูกเผยให้เห็นและรอต้อนรับนักลงทุนทุกคนเข้ามาสำรวจ
ด้วยการสร้างนวัตกรรมและปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ประเทศมีความพร้อมที่จะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ส่งเสริมการเติบโตและความสามารถในการแข่งขันในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อย ๆ และก้าวขึ้นเป็นผู้นำในภูมิทัศน์อิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก
Leave a Reply