การประชุมคณะกรรมการนโยบายรถยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) ซึ่งมีคุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน สานต่อความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่โดดเด่นของภูมิภาค สอดคล้องกับนโยบาย 30@30 ที่ตั้งเป้าจะผลิตยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle; ZEV) ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2030 หรือคิดเป็นกำลังการผลิตรถยนต์ประมาณ 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์ประมาณ 675,000คัน
บอร์ด EV ได้ห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือที่เรียกว่า EV 3.5 เป็นเวลา 4 ปี (2024-2027) เพื่อส่งเสริมการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมและเป็นการเปิดโอกาสในการลงทุนการผลิต EV ในประเทศไทยสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ โดยมาตราการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนการลงทุนที่ครอบคลุมระบบนิเวศอุตสาหกรรม EV ทั้งหมด ตั้งแต่รถยนต์นั่ง รถกระบะไฟฟ้า ไปจนถึงรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้เข้าร่วมมาตรการ EV 3 อยู่แล้วสามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการใหม่นี้เพิ่มเติมได้ โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของแต่ละมาตรการด้วย
หนึ่งในนโยบายของมาตรการ EV 3.5 คือรัฐบาลจะให้เงินอุดหนุนสำหรับการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยขึ้นอยู่กับประเภทของยานพาหนะและความจุของแบตเตอรี่ดังนี้
– กรณีรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่มีความจุแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh ขึ้นไปจะได้รับเงินอุดหนุนระหว่าง 50,000-100,000บาทต่อคัน ส่วนที่มีความจุแบตเตอรี่น้อยกว่า 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุนคันละ 20,000-50,000 บาท
– กรณีรถกระบะไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่มีความจุแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh ขึ้นไปจะได้รับเงินอุดหนุนระหว่าง 50,000-100,000 บาทต่อคัน
– กรณีรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 150,000 บาท ที่มีความจุแบตเตอรี่ตั้งแต่3 kWh ขึ้นไปจะได้รับเงินอุดหนุนระหว่าง 5,000-10,000 บาทต่อคัน
ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหารือร่วมกันเพิ่มเติมเพื่อกำหนดอัตราเงินอุดหนุนที่เหมาะสมและจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
นอกจากนี้ยังมีการลดอากรนำเข้าไม่เกิน 40% สำหรับการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูป (Completely Built-Up Unit; CBU) ในช่วง 2 ปีแรก (2024-2025) กรณีเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท และลดอัตราภาษีสรรพสามิตลงจาก 8% เหลือ 2% สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขกระตุ้นการลงทุนในประเทศคือผู้ที่ได้รับการสนับสนุนจะต้องผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้าภายในปี 2026 ในอัตราส่วน 1:2 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 2 คัน) และจะเพิ่มอัตราส่วนเป็น 1:3 ภายในปี 2027 พร้อมทั้งกำหนดให้แบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปที่นำเข้าและผลิตในประเทศไทยจะต้องได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานตามมาตรฐานสากลจากศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC)
นอกจากนั้นแล้วคณะกรรมการยังเห็นชอบให้กรมสรรพสามิตขยายกำหนดเวลาการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิตามมาตรการEV 3 จากเดิมที่ต้องจดทะเบียนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2023 เป็นต้องจำหน่ายภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2023 และจดทะเบียนภายในวันที่ 31 มกราคม 2024 เพื่อให้ผู้บริโภคที่วางแผนจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในงาน Thailand International Motor Expo สามารถดำเนินการจดทะเบียนได้ทัน
“มาตรการ EV 3.5 ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้เกิดความต่อเนื่องของนโยบายในการสนับสนุนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางที่โดดเด่นสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค ด้วยกลยุทธ์การดึงดูดนักลงทุนรายใหม่ให้เข้ามาสร้างฐานการผลิตในประเทศและกระตุ้นให้ผู้ประกอบการรายเดิมเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
ความพยายามดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับภาคการผลิตยานยนต์ของประเทศ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยครองตำแหน่งผู้นำของอาเซียนและติด 1 ใน 10 อันดับแรกของโลก อีกทั้งยังสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยในการก้าวไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 อีกด้วย” คุณนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และเลขาธิการบอร์ด EV กล่าว
สำหรับมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะแรกหรือ EV 3 ที่ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2022 มีผู้เข้าร่วมแล้ว รวมทั้งสิ้น 13 แบรนด์ จาก 15 บริษัท ทั้งในประเภทรถยนต์ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า สามารถกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในช่วง 9 เดือนแรกของโครงการ (มกราคม-กันยายน 2023) มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่จำนวน 50,340 คัน สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 7.6 เท่า และนับตั้งแต่มีการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2017 เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้ารวมทั้งหมดแล้วเป็นมูลค่ากว่า61,425 ล้านบาท จากการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ การผลิตชิ้นส่วนสำคัญ รวมถึงสถานีชาร์จ
Leave a Reply