ประเทศไทยร่วมกับอาลีบาบาเปิดตัวศูนย์กลางการค้าเสรีดิจิทัล (Digital Free Trade Hub) แห่งแรก นับเป็นความพยายามในการยกระดับภาคโลจิสติกส์และอีคอมเมิร์ซครั้งสำคัญของประเทศ
ศูนย์กลางดังกล่าวเป็นเขตการค้าเสรีในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ของประเทศไทย ถูกออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกด้านอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนระหว่างไทยและจีน โดยรัฐบาลไทยได้พัฒนาร่วมกับบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของ Electronic World Trade Platform (eWTP) ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มเพื่อส่งเสริมอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศ
หากประสบความสำเร็จเขตการค้าเสรีดิจิทัลจะช่วยให้ผู้บริโภคทั้งในไทยและจีนสามารถซื้อสินค้าจากตลาดของกันและกันได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น การเปิดตัวโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของไทยในการวางตำแหน่งตัวเองให้เป็นศูนย์กลางทางโลจิสติกส์ที่สำคัญสำหรับการค้าและอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เขตการค้าเสรีดิจิทัลคืออะไร
เขตการค้าเสรีดิจิทัล หรือบางครั้งถูกเรียกว่า Smart Digital Hub เป็นพื้นที่ขนาด 40,000 ตารางเมตร ที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากกฎพิเศษสำหรับการค้าข้ามพรมแดนไทย-จีน ศูนย์กลางดังกล่าวประกอบด้วยคลังสินค้าทัณฑ์บน (Bonded Warehouse) สำหรับจัดเก็บสินค้าจากจีนที่จะเข้ามาขายในประเทศไทย รวมถึงเก็บสินค้าของไทยเพื่อจัดส่งไปยังผู้บริโภคชาวจีนที่ทำการซื้อผ่านแพลตฟอร์มของอาลีบาบาด้วย
เขตการค้าเสรีดิจิทัลนั้นมีจุดเด่นอยู่ที่ความรวดเร็ว ทั้งเรื่องกระบวนการทางศุลกากรและการจัดส่งสินค้า โดยสินค้าจากจีนที่จะต้องเสียภาษีจะถูกจัดเก็บไว้ที่คลังสินค้าทัณฑ์บนในประเทศไทย ซึ่งถูกออกแบบมาให้เป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด
ผู้ออกแบบกล่าวว่าระยะเวลาที่ต้องใช้สำหรับซื้อสินค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนจากจีนของผู้บริโภคชาวไทยนั้นจะลดลงจาก 10 วัน เหลือเพียง 3 วัน ซึ่งหากทำได้จริงการขนส่งที่รวดเร็วจะทำให้สินค้าจากจีนมีความน่าสนใจและเข้าถึงผู้บริโภคชาวไทยได้มากขึ้น
Song Juntao เลขาธิการ eWTP กล่าวว่าเขตการค้าดังกล่าวถือเป็นความสำเร็จในการจำลองรูปแบบอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีน ซึ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาโมเดลนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในประเทศ เนื่องจากช่วยให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าจากต่างประเทศอย่างรวดเร็วผ่านคลังสินค้าทัณฑ์บนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของจีน
จากแผนสู่ความเป็นจริง
เขตการค้าเสรีดิจิทัลเริ่มดำเนินการในวันที่ 8 ธันวาคม 2022 และได้รับความสนใจจากนานาชาติเป็นพิเศษหลังจากเปิดตัวเมื่อแจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบามาเยือนประเทศในเดือนมกราคม 2023 ซึ่งเป็นการปรากฏตัวต่อสาธารณะที่หาได้ยาก
โครงการนี้เริ่มต้นขึ้นในปี 2018 เมื่อหม่าได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ 4 ฉบับ กับรัฐบาลไทยในด้านการค้า การลงทุน รวมถึงการสนับสนุนอีคอมเมิร์ซและการท่องเที่ยว โดยก่อนหน้านั้นอาลีบาบาและรัฐบาลไทยมีการลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงเพื่อความร่วมมือด้านอีคอมเมิร์ซเมื่อปี 2016
ในตอนนั้นอาลีบาบามีแผนที่จะลงทุน 10,000 ล้านบาท (302.8 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อพัฒนาโครงการดังกล่าว ซึ่งเดิมทีจะเปิดให้บริการอย่างสมบูรณ์ภายในปี 2019 แต่ล่าช้าออกไปด้วยสาเหตุต่าง ๆ รวมถึงการระบาดของโควิด-19
อาลีบาบาได้เปิดตัวศูนย์กลางระหว่างประเทศแห่งแรกภายใต้โครงการ eWTP ในประเทศมาเลเซียเมื่อปี 2017 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ที่สนามบินนานาชาติกัวลาลัมเปอร์ ส่วนภายในประเทศจีนก็ได้มีการจัดตั้งพันธมิตรในหางโจว อี้หวู่ ไหหลำ และฮ่องกง
การลงทุนในอุตสาหกรรม 4.0
เขตการค้าเสรีดิจิทัลดำเนินการโดยความร่วมมือระหว่างสำนักงาน EEC ศุลกากรไทย และอาลีบาบา โดย EEC นั้นเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ประกอบด้วย 3 จังหวัดของประเทศไทย ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย
โลจิสติกส์เป็นหนึ่งในหลาย ๆ อุตสาหกรรมที่รัฐบาลไทยกำลังหาทางพัฒนาใน EEC โดยจากข้อมูลของกรมศุลกากรไทย แพลตฟอร์ม eWTP จะมีส่วนช่วยในการจัดการเกี่ยวกับระบบดิจิทัล ตั้งแต่การนำสินค้าเข้าสู่ประเทศไปจนถึงการจัดจำหน่ายให้กับผู้บริโภค
ในส่วนหนึ่งของข้อตกลงในการสร้างเขตการค้าเสรีดิจิทัล อาลีบาบาจะต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีและกระบวนการต่าง ๆ ให้กับผู้มีส่วนร่วมชาวไทย เพื่อสนับสนุน “Thailand 4.0” ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมของประเทศไทยในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่นำโดยเทคโนโลยีและนวัตกรรม
เขตการค้าเสรีดิจิทัลจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีต่าง ๆ ของอาลีบาบา รวมถึง Cainiao Network ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มโลจิสติกส์ของบริษัท โดยเทคโนโลยีเหล่านี้จะถูกนำมาใช้เพื่อปรับปรุงการค้าและเปลี่ยนแปลงกระบวนการศุลกากรให้เป็นดิจิทัล
การส่งเสริมอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศ
เขตการค้าเสรีดิจิทัลจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออกสินค้าจากจีนมายังไทย ด้วยการนำโมเดลคลังสินค้าทัณฑ์บนมาใช้จะทำให้สินค้าจีนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ในขณะเดียวกันสินค้าไทยก็จะถูกนำเสนอบนแพลตฟอร์มของอาลีบาบาและจัดส่งไปยังประเทศจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นการเพิ่มการเข้าถึงตลาดที่ใหญ่ที่สุดของเอเชีย
ในปี 2018 หม่าเน้นย้ำว่าศูนย์กลางดังกล่าวจะช่วยธุรกิจไทยในการขายสินค้าของตนในประเทศจีน โดยเฉพาะสินค้าการเกษตร เช่น ข้าวหอมมะลิและผลไม้เมืองร้อน ซึ่งจะสามารถจัดส่งได้ทันทีภายใน 24 ชั่วโมงหลังการเก็บเกี่ยว
ในระยะยาวประโยชน์สูงสุดของเขตการค้าเสรีดิจิทัลคือ ความสามารถในการนำเสนอประสบการณ์อันมีค่าแก่ศุลกากรไทยและผู้มีส่วนร่วมอื่น ๆ ในการเปลี่ยนแปลงกระบวนการศุลกากรและโลจิสติกส์ให้เป็นดิจิทัล ซึ่งผลลัพธ์ดังกล่าวอาจทำให้ระบบการค้า โลจิสติกส์ และอีคอมเมิร์ซของไทยมีประสิทธิภาพและสามารถแข่งขันได้มากขึ้นในอีกหลายปีข้างหน้า
Leave a Reply