fbpx

นโยบายขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ศูนย์กลาง EV ระดับโลก

1024 683 Earn Thongyam

การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของไทยไม่เพียงแต่มุ่งเน้นแค่ระดับอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นนโยบายสำคัญระดับชาติที่มุ่งหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางระดับโลกด้านการผลิต EV และชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแนวทางการส่งเสริม EV ภายใต้นโยบาย 30@30 ในปี 2022 ประเทศไทยได้เริ่มต้นเส้นทางของการก้าวสู่จุดหมายแห่งความเป็นผู้นำในด้าน EV โดยมีเป้าหมายไม่เพียงต้องการเป็นผู้ผลิตรายใหญ่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ส่งเสริมการใช้งาน และสร้างระบบนิเวศสำหรับการเติบโตที่ยั่งยืน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการนำมาตรการต่าง ๆ มาใช้เพื่อให้นโยบายนี้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานอย่างเท่าเทียมกัน โดยในด้านอุปสงค์มีความพยายามกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาใช้งาน EV มากขึ้นผ่านการสร้างความตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

หลังจากสิ้นสุดมาตรการสนับสนุนเฟสที่ 1 หรือ EV3.0 ในปี 2023 รัฐบาลได้เริ่มดำเนินมาตรการสนับสนุนเฟส 2 หรือ EV3.5 ซึ่งจะมีผลตั้งแต่ปี 2024 ถึง 2027 ครอบคลุมการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ผ่านสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ได้แก่

  1. การให้เงินอุดหนุนสูงสุด 100,000 บาท สำหรับรถยนต์และรถกระบะไฟฟ้า และ 10,000 บาท สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า
  2. การลดภาษีนำเข้าสูงสุด 40% สำหรับการนำเข้า EV ประกอบสำเร็จ (CBU) ที่มีราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ในช่วงปี 2024-2025
  3. การลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2%

เพื่อเป็นการกระตุ้นการลงทุนในประเทศเพิ่มเติม นโยบายนี้ยังกำหนดให้ผู้ผลิตที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากมาตรการสนับสนุนต้องผลิต EV เพื่อชดเชยการนำเข้าในอัตราส่วน 1:2 ภายในปี 2026 กล่าวคือจะต้องมีการผลิตภายในประเทศ 2 คัน ต่อรถยนต์นำเข้า 1 คัน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 1:3 ภายในปี 2027 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยลดต้นทุนเพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้ EV และเป็นแรงผลักดันให้ผู้ผลิตเปลี่ยนจากการนำเข้ามาเป็นการผลิตเองอย่างเต็มรูปแบบภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายสำคัญประการหนึ่งของนโยบาย 30@30 คือการเพิ่มการผลิต EV ให้เป็นอย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2030

นอกเหนือจากการสนับสนุนในกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไปแล้ว รัฐบาลยังส่งเสริมการนำเอา EV มาใช้ในภาคส่วนราชการและเอกชนอีกด้วย โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2024 คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติได้อนุมัติมาตรการสนับสนุนการใช้ EV เพื่อการพาณิชย์ขนาดใหญ่ ซึ่งครอบคลุมทั้งรถโดยสารไฟฟ้า (E-Bus) และรถบรรทุกไฟฟ้า (E-Truck) เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มาตรการดังกล่าวจะอนุญาตให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนสามารถบันทึกค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อ E-Bus และ E-Truck เพื่อนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยจะสามารถหักได้ 200% สำหรับรถที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ และ 150% สำหรับรถนำเข้าที่ประกอบเสร็จแล้ว มาตรการนี้จะมีผลบังคับใช้จนถึงสิ้นปี 2025

ในส่วนของการสนับสนุนด้านอุปทาน คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอุตสาหกรรม EV อย่างครบวงจร โดยมีมาตรการสนับสนุนสำหรับผู้ผลิตทุกประเภท ครอบคลุมทั้งรถยนต์ไฟฟ้า 4 ล้อ 3 ล้อ 2 ล้อ เรือไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า จักรยานไฟฟ้า ชิ้นส่วนประกอบ สถานีชาร์จไฟฟ้า และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ นอกจากนี้ BOI ยังสนับสนุนการพัฒนาแพลตฟอร์ม BEV ซอฟต์แวร์และแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต EV ของเอเชีย โดยผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมจาก BOI จะได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งด้านภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งรวมถึงการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตั้งแต่ 3 ถึง 13 ปี ขึ้นอยู่กับประเภทกิจกรรมที่ได้รับการส่งเสริมและรายละเอียดหรือระดับของกระบวนการผลิต

ขณะเดียวกันผู้ผลิตรถยนต์ทั้งแบบดั้งเดิมและแบบ HEV/PHEV จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 3 ปี หากมีการนำระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งจะครอบคลุมทั้งกิจการเดิมและโครงการลงทุนใหม่ โดยบริษัทจำเป็นต้องเสนอแผนพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ที่ใช้พลังงานสะอาด มาตรการประหยัดพลังงาน คุณสมบัติด้านความปลอดภัย ระบบขับขี่อัจฉริยะ และเทคโนโลยีขั้นสูงอื่น ๆ การยกเว้นภาษีดังกล่าวครอบคลุม 50% ของเงินลงทุนในระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน) นอกจากนี้ยังมีการยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรหากยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในสิ้นปี 2024

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2024 ได้มีการอนุมัติมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมสำหรับการผลิตแบตเตอรี่สำหรับ EV และระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดการลงทุนในด้านการผลิตแบตเตอรี่ซึ่งเป็นส่วนประกอบต้นน้ำของอุตสาหกรรมและต้องการเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง นักลงทุนที่ยื่นข้อเสนอการลงทุนสำหรับโครงการดังกล่าวต่อ BOI ภายในสิ้นปี 2027 จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้

  1. เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำ ซึ่งเป็นที่ยอมรับและใช้งานโดยผู้ผลิต EV
  2. มีแผนที่ชัดเจนในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับ EV และระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) หากเป็นไปได้
  3. ผลิตแบตเตอรี่ที่มีค่าพลังงานจำเพาะ ไม่น้อยกว่า 150 วัตต์-ชั่วโมง/กก.
  4. ผลิตแบตเตอรี่ที่มีจำนวนรอบการอัดประจุไม่น้อยกว่า 1,000 รอบ โดยนับจาก 70% ของ nominal capacity ที่ depth of discharge ไม่ต่ำกว่า 80% ณ อุณหภูมิทดสอบ 20-25 องศาเซลเซียส

สิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนจะได้รับประกอบไปด้วย

  1. เงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุน การวิจัยและพัฒนาการส่งเสริมนวัตกรรม หรือการพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้าน
  2. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลาไม่เกิน 15 ปี โดยไม่กําหนดวงเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จะได้รับการยกเว้น
  3. ยกเว้นภาษีเงินได้สําหรับเงินปันผลที่ได้รับจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริม
  4. สิทธิและประโยชน์อื่น ๆ ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน

มาตรการสนับสนุนเหล่านี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามของประเทศไทยในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม EV อย่างครบวงจรตลอดห่วงโซ่อุปทาน นอกเหนือจากการส่งเสริมการผลิตและการใช้งานในประเทศแล้ว ไทยยังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสร้างระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยต่อการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้ EV อย่างครอบคลุม สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศในการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิต EV ชั้นนำของภูมิภาค

Author

Earn Thongyam

All stories by: Earn Thongyam

Leave a Reply

Your email address will not be published.