fbpx
attract-investor-to-s-curve-industries

อุตสาหกรรม EV ไทย จากฐานที่มั่นคงภายใน สู่การเป็นผู้นำของภูมิภาค

640 426 Earn Thongyam

แนวคิด “เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลกในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากภาวะโลกร้อนทำให้ตลาดยานยนต์ไฟฟ้า (EV) กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่อย่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์และต้นทุนแรงงานที่เอื้อต่อการแข่งขัน มีการคาดการณ์ยอดขาย EV ใน 6 ประเทศสมาชิกอาเซียนรวมเกือบ 10 ล้านคันต่อปี ภายในสิ้นปี 2035 คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

การผลิต EV ของไทยผลักดันการเติบโตในภูมิภาค

แต่ละประเทศสมาชิกภายในอาเซียนต่างมุ่งมั่นที่จะผสมผสานความได้เปรียบด้านการแข่งขันของภูมิภาค เข้ากับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการพัฒนาและนำเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดมาใช้เพื่อสร้างศูนย์กลางการลงทุนที่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น อินโดนีเซีย ซึ่งไม่เพียงเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังอุดมไปด้วยแร่ธาตุที่มีค่าทั้ง นิกเกิล ดีบุก และทองแดง ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับ EV ส่วนเวียดนามนอกจากจะมีแหล่งนิกเกิลเป็นของตนเองแล้ว ยังเป็นที่ตั้งของ Vinfast บริษัทเอกชนที่มีชื่อเสียงด้านการผลิต EV และมีโรงงานแบตเตอรี่ที่มีกำลังการผลิตถึง 30 ล้านเซลล์ต่อปี ตัวอย่างเหล่านี้ย้ำให้เห็นว่าอาเซียนกำลังใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างเต็มที่เพื่อสร้างภูมิภาคนี้ให้เป็นศูนย์กลางการผลิต EV ที่สำคัญ

แม้จะอยู่ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงแต่ประเทศไทยก็สามารถยกระดับตัวเองให้เป็นผู้ผลิต EV ชั้นนำได้ โดยในปี 2023 ยอดขาย EV ของประเทศเติบโตขึ้นถึง 10 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทำให้ไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้ผลิต EV รายใหญ่ที่สุดในอาเซียน ครองส่วนแบ่งการตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) มากกว่า 75% ของภูมิภาคในไตรมาสแรกของปี 2023

ตัวเลขเหล่านี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรม EV ที่กำลังเติบโตในประเทศไทย รัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการผลิต EV ของประเทศผ่านมาตรการและสิ่งจูงใจต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายในการวางตำแหน่งประเทศให้เป็นศูนย์กลางชั้นนำสำหรับการผลิตและนวัตกรรมในตลาดที่มีความสำคัญระดับโลกนี้ นอกเหนือจากความพยายามเหล่านี้ ประเทศไทยยังมีข้อได้เปรียบด้านการแข่งขันหลายประการที่ทำให้เป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรม EV ภายในอาเซียน

 

ห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่น

ด้วยประสบการณ์อันยาวนานในอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ประเทศไทยมีจุดยืนที่แข็งแกร่งที่จะเดินหน้าพัฒนาการผลิต EV และยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีอยู่เดิมให้ดียิ่งขึ้นไปพร้อม ๆ กัน ตามรายงานล่าสุดของ WTO ประจำปี 2023 ไทยติดอันดับ 10 ประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ยานยนต์ชั้นนำของโลก โดยมีมูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมสำหรับฐานการผลิตในภูมิภาคของบริษัทยานยนต์ชั้นนำมาอย่างยาวนาน เนื่องจากนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ของรัฐบาลไทยตั้งแต่ปี 1963 ประกอบกับความตกลงการค้าเสรีหลายฉบับที่ให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีนำเข้า รวมถึงทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์สำหรับการผลิต ประเทศไทยสามารถดึงดูดบริษัทต่างชาติกว่า 2,200 แห่ง เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ แม้จะประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกจากการระบาดของโควิด-19 และราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น แต่อุตสาหกรรมนี้ก็เติบโตได้ 3.5% ในปี 2022

ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านจากเครื่องยนต์สันดาปไปสู่ EV ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงภาคอุตสาหกรรมของไทยได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากรัฐบาลไทย โดยเมื่อปีที่แล้วได้มีการจัดสรรงบประมาณ 3,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ ภายใต้นโยบาย EV 3.5 ผู้ผลิตรถยนต์ที่นำเข้า BEV ในปี 2024-2025 จะต้องผลิต BEV ภายในประเทศเพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกภายในระยะเวลา 2 ปี ด้วยสัดส่วนการผลิต 2 คันต่อการนำเข้า 1 คันภายในปี 2026 หากไม่สามารถทำตามเงื่อนไขได้ ผู้ผลิตจะต้องทำการผลิต 3 คันต่อการนำเข้า 1 คันภายในปี 2027 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากอัตราส่วน 1:1 และ 1.5:1 ของนโยบาย EV 3.0 เดิม โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมทั้งการขายและการผลิต EV ภายในประเทศ กระตุ้นให้โรงงานเพิ่มกำลังการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 100 โครงการ ภายใต้การส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ระหว่างปี 2017-2023 ความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการยกระดับอุตสาหกรรม EV ยังสร้างความมั่นใจให้กับบริษัทและผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างชาติพิจารณาประเทศไทยเป็นฐานการผลิต EV ที่สำคัญอีกด้วย

 

ความสนใจจากทั่วโลกต่ออุตสาหกรรม EV ของไทย

ข้อได้เปรียบที่สำคัญอันเนื่องมาจากความเป็นผู้นำในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรม EV ระดับโลก ได้ดึงดูดบริษัทและซัพพลายเออร์ต่างชาติจำนวนมากให้เข้ามาลงทุนในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ประเทศไทยกลายเป็นเป้าหมายหลักในการขยายกำลังการผลิตและส่งออก EV จากจีน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 80% ของตลาด EV ในประเทศไทยในปี 2023 มีบริษัทจีน 8 แห่ง ประกาศแผนการก่อสร้างโรงงานผลิต EV ในไทย ล่าสุด Chery บริษัทผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์รายใหญ่ของจีนแสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุน โดยมีแผนจัดตั้งทั้งโรงงานผลิตและสายการผลิตชิ้นส่วนในประเทศไทย เพื่อใช้เป็นฐานหลักในการผลิตและส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าพวงมาลัยขวาไปยังภูมิภาคอาเซียน ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง

นอกจากหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคแล้ว การลงทุนของจีนในตลาด EV ของไทยยังสอดคล้องกับนโยบายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของไทย อีกทั้งยังได้ประโยชน์จากการส่งออกปลอดภาษีไปยังตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเติบโตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท่ามกลางตลาดที่อิ่มตัวและกำลังการผลิตที่มากเกินไปในประเทศของตน นักลงทุนชาวจีนถูกดึงดูดจากพื้นฐานอุตสาหกรรมยานยนต์ที่โดดเด่นของไทย และด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลประเทศไทยทำให้สามารถจัดหาแรงงานฝีมือจำนวนมากในราคาที่แข่งขันได้เมื่อเทียบกับแรงงานจีน ช่วยให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง รวมถึงความเสถียรของกำลังไฟฟ้าและเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ของไทยยังเป็นสิ่งจูงใจที่สำคัญสำหรับนักลงทุนชาวจีนอีกด้วย

นอกเหนือจากการได้รับเงินลงทุนจากต่างชาติจำนวนมากในอุตสาหกรรม EV แล้ว ประเทศไทยยังดึงดูดบริษัทชั้นนำระดับโลกหลายแห่งที่มองหาโอกาสในการลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ โดย SVOLT Energy ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Great Wall Motor ได้ลงทุน 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับสร้างโรงงานผลิตโมดูลแบตเตอรี่และขยายกำลังการผลิตขึ้นเป็นเกือบ 120,000 ชุดต่อปี ซึ่งนอกจากจะส่งออกไปยังตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นยังจะรองรับห่วงโซ่อุปทาน EV ที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วของไทย ทางด้าน BMW บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชื่อดังจากเยอรมนีที่ดำเนินธุรกิจในไทยมาเกือบ 60 ปี ก็ได้รับสิทธิประโยชน์มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท สำหรับการลงทุนผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าผสมและแบตเตอรี่แรงดันสูง นอกจากนี้ SAIC Motor-CP Co., Ltd. และ MG Sales (Thailand) Co., Ltd. ได้เข้าสู่ธุรกิจ EV ในประเทศไทยด้วยการร่วมลงทุนใน New Energy Industrial Park เพื่อผลิตแบตเตอรี่ EV โดยโรงงานแห่งใหม่นี้ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศไทยและจะเป็นโรงงานแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียนที่มีกำลังการผลิต 50,000 ก้อนต่อปี ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่เติบโตควบคู่ไปกับการผลิต EV ที่เพิ่มขึ้น ช่วยให้ไทยยังคงรักษาสถานะผู้นำในการผลิตยานยนต์ระดับโลกต่อไป

นอกจากนี้ยังมีการดำเนินโครงการและมาตรการอื่น ๆ ทั้งในส่วนต้นน้ำและปลายน้ำของห่วงโซ่อุปทานเพื่อสนับสนุนการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเครือข่ายการผลิต EV ของประเทศไทย ในส่วนของการพัฒนาต้นน้ำ จีนได้เปิดศูนย์วิจัยเทคโนโลยียานยนต์จีน (CATARC) แห่งที่ 4 ของโลกในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประสานงานด้านการผลิต อำนวยความสะดวกด้านการลงทุน สนับสนุนการวิจัยและพัฒนา และท้ายที่สุดเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในการผลิต EV คุณภาพสูงจำนวนมากและส่งออกไปทั่วภูมิภาค ในส่วนของการพัฒนาปลายน้ำนั้น จากยอดขาย EV ที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้มีความต้องการสถานีชาร์จมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้รับการตอบสนองจากการลงทุนของทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีสถานีชาร์จ EV เกือบ 10,000 แห่งทั่วประเทศภายในสิ้นปี 2023

ด้วยการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง แรงงานที่มีทักษะและราคาประหยัด รวมถึงทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ ประเทศไทยกำลังปรับความได้เปรียบในการแข่งขันและประสบการณ์ในการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ให้สอดคล้องกับความต้องการใหม่ ๆ ของภูมิทัศน์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อสร้างตัวเองให้เป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคสำหรับตลาด EV ซึ่งแล้วไทยได้รับความไว้วางใจจากผู้ผลิตและนักลงทุนระดับโลกมาแล้ว อุตสาหกรรม EV ที่กำลังเฟื่องฟูของไทยนั้นยิ่งน่าดึงดูดสำหรับนักลงทุนมากขึ้นจากการสนับสนุนเพิ่มเติมจากรัฐบาลไทย มาตรการส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งด้านต้นน้ำผ่านสถานวิจัยและพัฒนาและปลายน้ำผ่านสถานีชาร์จ EV ล้วนแต่มีส่วนช่วยให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิต EV ในภูมิภาค

Author

Earn Thongyam

All stories by: Earn Thongyam

Leave a Reply

Your email address will not be published.