หากพูดถึงช่วงเวลาที่สำคัญของชีวิต แน่นอนว่าคุณคงมีแผนการอยู่แล้ว เช่น วันหยุดพักผ่อนกับครอบครัวของคุณนั้นมีกำหนดการ งบประมาณ ซึ่งต้องมีการพูดคุยและการประนีประนอม การวางแผนทางการเงินที่ชาญฉลาดก็ใช้หลักการเดียวกัน
พื้นฐานของการวางแผนทางการเงินคืออะไร ควรเริ่มต้นด้วยขั้นตอนไหน บทความนี้จะพาคุณไปเรียนรู้ทีละขั้นตอนเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องรู้เพื่อสร้างแผนการเงินส่วนบุคคลและช่วยจัดการเงินของคุณให้เป็นระบบ ตั้งแต่การใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงแผนการเกษียณที่คุณต้องการ แนวคิดเหล่านี้ช่วยให้คุณปรับสมดุลระหว่างความฝันระยะยาวกับความต้องการระยะสั้น รวมถึงเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่เกิดขึ้นระหว่างทาง
- ตั้งเป้าหมายทางการเงิน
เป้าหมายนั้นมีความสำคัญมากต่อแผนการเงิน ก่อนที่จะเริ่มคำนวณอะไร คุณต้องตัดสินใจว่าคุณกำลังมุ่งหน้าไปที่ไหนและทำไม การวางแผนการออมตามเป้าหมายทางการเงินที่เฉพาะเจาะจงตลอดทั้งชีวิตสามารถช่วยให้คุณใช้เงินได้อย่างชาญฉลาด คุณอาจต้องการที่จะ
- ออมเงินสำหรับดาวน์บ้านใหม่
- เก็บเงินทุนการศึกษาสำหรับลูก ๆ
- ชำระหรือลดหนี้สินที่มีอยู่
- เริ่มต้นธุรกิจขนาดเล็ก
- เร่งการลงทุนและการออมเพื่อเกษียณอายุ
เมื่อคุณใช้เวลาจินตนาการถึงชีวิตที่คุณต้องการในอีกไม่กี่ปีหรือหลายปีข้างหน้า คุณสามารถจัดระเบียบเป้าหมายทางการเงินของคุณเป็นสามช่วงเวลาดังนี้
- เป้าหมายระยะสั้น (6 เดือน – 5 ปี): อาจรวมถึงขั้นตอนเริ่มต้นหลายอย่างที่กล่าวในบทความนี้ เช่น การทำงบประมาณ การชำระหนี้ และการสร้างเงินสำรองฉุกเฉิน
- เป้าหมายระยะกลาง (5 – 10 ปี): การซื้อประกันหรือการขยายแนวทางการลงทุนของคุณอาจเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนเป้าหมายระยะกลาง
- เป้าหมายระยะยาว (10+ ปี): นี่คือที่ที่คุณจะลงลึกในการวางแผนเกษียณอายุอย่างละเอียด คิดถึงสิ่งที่คุณให้คุณค่าจริง ๆ ในชีวิต แล้วนำมารวมกับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญและข้อมูลเชิงลึกทางการเงิน
กำหนดวันเวลาที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้นสำหรับแต่ละเป้าหมายทางการเงินของคุณ ตัวอย่างเช่น หากคุณเป็นพ่อแม่ของเด็กที่อาจเข้ามหาวิทยาลัยในช่วงปี 2040 นั่นคือกำหนดเวลาสำหรับเป้าหมายการออมเพื่อการศึกษาของคุณ จัดกลุ่มเป้าหมายตามความจำเป็นและความต้องการ เพิ่มข้อมูลสถานะของเงินออมในปัจจุบันเพื่อดูว่าคุณสามารถปรับเปลี่ยนการออมเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายได้อย่างไร
- ทำตามงบประมาณ
แทนที่จะคิดว่าการกำหนดงบประมาณเป็นวิธีจำกัดการใช้จ่าย ให้มองว่ามันเป็นเครื่องมือในการจัดการกับกระแสเงินสดรายเดือนของคุณ เพื่อช่วยให้คุณสามารถเก็บเงินได้ (การออม/การลงทุน) และยังมีเงินเหลือสำหรับใช้จ่ายในสิ่งอื่น ๆ การเห็นรายรับและรายจ่ายทั้งหมดโดยละเอียดนั้นสำคัญต่อการประเมินสถานะทางการเงินของคุณทั้งในปัจจุบัน (ความต้องการระยะสั้น) และอนาคตที่ห่างไกล (ความฝันระยะยาว) การทำงบประมาณจะรวมทั้งค่าใช้จ่ายคงที่ (ค่าที่พัก ค่าเดินทางหนี้สิน) และค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นอื่น ๆ (ร้านอาหาร ความบันเทิง ของขวัญ)
มีแอปและเครื่องมือดิจิทัลมากมายที่ช่วยคุณวางแผนและดำเนินการตามงบประมาณในชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับบัญชีทางการเงินหรือตั้งค่าการแจ้งเตือนเพื่อช่วยในการจัดหมวดหมู่และติดตามการใช้จ่ายของคุณ
- เก็บเงินสำรองฉุกเฉิน
แผนการที่ดีแค่ไหนก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ หากชีวิตเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันและคุณไม่มีการเตรียมความพร้อมทางการเงิน นั่นคือสาเหตุที่ต้องมีเงินสำรองฉุกเฉิน
- คำนวณว่าคุณอาจต้องการเงินสำรองฉุกเฉินเท่าไหร่: เงินสำรองฉุกเฉินขั้นต่ำที่แนะนำมักเริ่มที่ 3 เท่าของของค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตต่อเดือน โดย 6 เดือนหรือ 1 ปีจะเป็นเวลาที่เหมาะสมมากขึ้นสำหรับการฟื้นตัวหลังจากเหตุการณ์ ความยืดหยุ่นของกระแสเงินสดจะเป็นตัวกำหนดเป้าหมายสำหรับเงินสำรองฉุกเฉินของคุณและความเร็วในการบรรลุเป้าหมายนั้น หากทำงานอิสระเงินสำรองฉุกเฉินของคุณควรมีจำนวนมากขึ้นเนื่องจากความเสี่ยงทางการเงินที่สูงกว่า (ความผันผวนของรายได้ ค่าใช้จ่ายทางธุรกิจที่ไม่ได้วางแผนไว้)
- เลือกกลยุทธ์ที่เหมาะกับนิสัยทางการเงินของคุณ: คุณต้องการที่จะออมเงินแบบอัตโนมัติ โดยหักเงินจำนวนเล็กน้อยจากเงินเดือนปกติเพื่อนำไปฝากเข้าบัญชีออมทรัพย์ หรือคุณจะโอนเงินก้อนใหญ่เช่นโบนัสจากการทำงานหรือเงินคืนภาษีเพื่อเริ่มต้นเงินสำรองฉุกเฉินของคุณ
- เลือกประเภทบัญชี: คุณต้องการบัญชีที่มีสภาพคล่องและเข้าถึงได้ง่าย แต่ไม่ใช่บัญชีที่ดึงดูดใจให้ถอนเงินตามอำเภอใจมากเกินไป ตัวอย่างเช่น บัญชีออมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงโดยมียอดคงเหลือขั้นต่ำอาจเป็นตัวเลือกที่ดี
กำหนดเงื่อนไขสำหรับตัวเองและเติมเงินเข้าเป็นประจำ: ค่าใช้จ่ายนั้นไม่คาดคิด หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเร่งด่วนหรือไม่ ยิ่งค่าใช้จ่ายของคุณตรงกับเกณฑ์ทั้งสามข้อมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเหมาะสมที่จะใช้เงินก้อนนี้มากเท่านั้น ซึ่งเมื่อคุณใช้เงินไปแล้วให้รีบสร้างมันขึ้นมาใหม่โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
- จัดการหนี้สิน
การเข้าใจและจัดการกับหนี้สินเป็นส่วนสำคัญของการวางแผนทางการเงิน การสร้างประวัติที่ดีสามารถช่วยปรับปรุงคะแนนเครดิตของคุณ และส่งผลให้คุณมีคุณสมบัติที่เหมาะสมสำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำลง จำไว้ว่าไม่ใช่หนี้สิ้นทั้งหมดจะเป็นเรื่องเสียหาย สินเชื่อบ้านที่ให้คุณใช้ดอกเบี้ยเพื่อการหักลดหย่อนภาษีสามารถเป็นประโยชน์ได้ อย่างไรก็ตามบัตรเครดิตที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงและยอดคงเหลือที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจะไม่ช่วยแผนการเงินของคุณ
มีหลายวิธีในการจัดการกับหนี้สิน ให้ความสำคัญกับการการชำระหนี้ขนาดเล็กก่อนเพื่อช่วยเพิ่มขวัญกำลังใจด้วยความก้าวหน้าที่จับต้องได้ในการลดรายการหนี้ของคุณ หรือคุณสามารถมุ่งเน้นการชำระเงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงสุดเพื่อให้คุณจ่ายโดยรวมน้อยลง แม้ว่าจะต้องคงเงินกู้ไว้นานขึ้นก็ตาม
- ป้องกันด้วยการประกันภัย
ชีวิตประจำวันของคุณสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว คนที่มีแผนการเงินที่ดีคาดหวังถึงสิ่งที่ดีที่สุด แต่ก็พยายามวางแผนสำหรับสิ่งที่ไม่คาดคิดเสมอ ซึ่งการประกันจะช่วยในเรื่องนี้ คุณอาจไม่ตระหนักถึงความยืดหยุ่นของการทำประกันชีวิตในฐานะเครื่องมือทางการเงินเพื่อปกป้องคุณและผู้ที่อยู่ในความอุปการะกรณีที่เกิดเหตุร้าย หรืออาจยังไม่รู้จักวิธีที่การประกันอุบัติเหตุสามารถช่วยรักษาไลฟ์สไตล์โดยการปกป้องรายได้ของคุณ นี่คือคำถามสำคัญสองข้อที่ควรถามตัวเอง
- มีประกันอุบัติเหตุและประกันชีวิตที่ทำงานหรือไม่ ฝ่ายทรัพยากรบุคคลหรือผู้ดูแลสวัสดิการของคุณควรสามารถช่วยกำหนดความคุ้มครองและคุณสมบัติพื้นฐานได้
- มีความคุ้มครองเท่าไหร่เมื่อเทียบกับที่คุณอาจต้องการ การประกันทุพพลภาพระยะยาวมักทดแทนรายได้ของคุณที่ประมาณ 60% บางครั้งอาจต่ำกว่าครึ่งหนึ่งหลังหักภาษี ดังนั้นคุณอาจต้องการรวมความคุ้มครองนั้นกับกรมธรรม์แบบจ่ายเงินส่วนตัวเพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับงบประมาณ ลำดับความสำคัญ และความเสี่ยงที่คุณยอมรับได้
หากต้องการซื้อประกันเพิ่มเติมผ่านที่ทำงาน เบี้ยประกันมักจะถูกกว่าและสามารถหักจากเงินเดือนได้ (คุณอาจหลีกเลี่ยงการตรวจสอบทางการแพทย์เพื่อเริ่มความคุ้มครอง รวมทั้งนำกรมธรรม์ติดตัวไปด้วยหากออกจากงาน อย่างไรก็ตามหากซื้อประกันด้วยตัวเอง คุณอาจซื้อความคุ้มครองได้มากขึ้นและปรับแต่งให้เหมาะกับความต้องการเฉพาะของคุณได้ดีกว่า)
- วางแผนภาษี
การจ่ายภาษีเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทางการเงินที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของคุณ เริ่มจากทำความเข้าใจเรื่องอัตราภาษี จากนั้นรวมกลยุทธ์ทางภาษีที่มีเป้าหมายและครอบคลุมทั้งปีเข้ากับแผนการเงินของคุณเพื่อจัดสรรเงินตามลำดับความสำคัญให้ดียิ่งขึ้น เข้าใจความแตกต่างระหว่างการลดหย่อนและเครดิตภาษี คุณอาจพบสิ่งที่มองข้ามไปในปีก่อน ๆ มีวิธีมากมายที่ช่วยให้คุณลดหย่อนภาษีได้ ลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยวางแผนสำหรับลดภาษีที่คุณต้องจ่าย และนำเงินที่ได้คืนมาไปใช้กับส่วนอื่นในแผนการเงินของคุณ
- วางแผนเพื่อการเกษียณ
แม้ว่าจะยังอีกไกล แต่ให้คิดถึงสิ่งที่ต้องการให้เงินของคุณทำหลังเกษียณ คุณอาจเคยได้ยินคำแนะนำพื้นฐานเกี่ยวกับการพยายามเก็บเงินเพื่อการเกษียณอายุอย่างจริงจังตั้งแต่ช่วงต้นของอาชีพ เพื่อให้เงินทำงานหนักขึ้นโดยทบต้นเป็นเวลาหลายปี หรือคุณอาจรู้กฎทั่วไปที่ต้องพยายามทดแทน 80% ของรายได้ในวัยเกษียณ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถเทียบได้กับการตรวจสอบการเงินส่วนบุคคลและเป้าหมายในชีวิตของคุณโดยตรงอย่างละเอียดเพื่อสร้างแผนการเกษียณที่เหมาะสมสำหรับคุณ
มีรายละเอียดมากมายที่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เฉพาะของคุณ คุณจะชำระสินเชื่อบ้านให้หมดก่อนเกษียณหรือไม่ แหล่งรายได้หลังเกษียณของคุณจะมาจากไหน คุณได้พิจารณาผลกระทบของเงินเฟ้อหรือไม่ คุณได้คำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลระยะยาวหรือบ้านพักคนชราหรือไม่ ในภาพรวม เริ่มสร้างแผนการเกษียณแบบเฉพาะตัวเพื่อช่วยให้คุณมีแนวทางที่ครอบคลุม คุณสามารถปรึกษาผู้เชียวชาญด้านการเงินที่เชื่อถือได้เพื่อสร้างแผนที่ละเอียดมากขึ้น
- ลงทุนเพิ่มเติม
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายระยะกลางและระยะยาวของคุณ นำกลยุทธ์การออมของคุณมาใช้และเพิ่มพลังให้กับมัน นั่นคือสิ่งที่การลงทุนสามารถทำได้ กรอบเวลาและการยอมรับความเสี่ยงของคุณเหมาะกับแนวทางที่อนุรักษ์นิยมเช่นพันธบัตรรัฐบาล หรือคุณชอบการลงทุนที่มีความเสี่ยงมากกว่าอย่างหุ้น ไม่ว่าจะเป็นแบบใด การกระจายการลงทุนสามารถช่วยให้คุณสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอมากขึ้นในระยะยาวเพื่อรับมือกับความผันผวนได้ แนวทางที่รอบคอบและหลากหลาย รวมถึงการปรับสมดุลพอร์ตโฟลิโอของคุณเป็นประจำเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดและช่วงชีวิต นั้นทำได้ไม่ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณใช้ประโยชน์จากผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน
- สร้างแผนมรดก
คุณไม่จำเป็นต้องร่ำรวย อายุมาก แต่งงานแล้ว หรือมีลูกถึงจะต้องมีแผนมรดก ซึ่งยังระบุด้วยว่าใครจะเป็นผู้ตัดสินใจทางการเงินและการดูแลสุขภาพแทนหากคุณไม่สามารถตัดสินใจเองได้ แผนมรดกโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่รวมถึงพินัยกรรม (เพื่อหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายทางกฎหมายเพิ่มเติมและความสับสนในหมู่ผู้รับผลประโยชน์) ช่วยให้คุณสามารถแสดงเจตนาเกี่ยวกับทรัพย์สินได้อย่างชัดเจนหลังจากที่คุณจากไปแล้ว ใครจะเป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมายในนามของคุณ คุณจะรวมพินัยกรรมที่มีผลบังคับใช้ขณะมีชีวิตอยู่ในกรณีที่คุณหมดสติและไม่สามารถสื่อสารความปรารถนาของคุณได้ด้วยหรือไม่ ศึกษาข้อมูลและทางเลือกต่าง ๆ ให้เข้าใจจากนั้นจึงเริ่มลงมือวางแผนมัน
Leave a Reply