ในปัจจุบันรัฐบาลมีโครงการบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติสำหรับชาวนา 2 โครงการ คือ โครงการเยียวยาความเสียหาย ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2545 และโครงการประกันภัยข้าวนาปี ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554
จากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้น สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้จัดทำงานวิจัยเรื่อง “การออกแบบการจัดการความเสี่ยงปัญหาสภาพภูมิอากาศสำหรับการผลิตข้าวของไทย” และพบว่าในการดำเนินงานทั้ง 2 โครงการที่ผ่านมาประสบปัญหาอย่างน้อย 4 ประการ ได้แก่
- กระบวนการประเมินความเสียหายใช้เวลานานเกินไป ทำให้ความช่วยเหลือไม่ทันการณ์ เนื่องมาจากการลงตรวจพื้นที่และระเบียบข้อบังคับของระบบราชการที่ยุ่งยาก
การประเมินความเสียหายจะใช้เวลา 95-115 วัน นับตั้งแต่มีการประกาศเขตภัยพิบัติจนเสร็จสิ้นการลงทะเบียนเพื่อขอรับความช่วยเหลือ แม้ว่าการจ่ายเงินประกันสามารถทำได้ภายใน 15 วัน แต่โครงการเยียวยาความเสียหายนั้นใช้เวลานานหลายเดือนหากจำเป็นต้องส่งต่อคำขอไปยังส่วนกลางเพื่อการพิจารณา ความล่าช้าส่งผลกระทบต่อการบริหารกระแสเงินสดของเกษตรกรซึ่งอาจทำให้พวกเขาเป็นหนี้ได้
- ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของโครงการเยียวยาความเสียหายนั้นสูงเกินไป โดยกระบวนการประเมินความเสียหายมีต้นทุนเฉลี่ยต่อปีตั้งแต่ปี 2559-2561 สูงถึง 295 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตรา 0.6-3.1% ต่อปี จากภาวะโลกร้อน
- โครงการเยียวยาความเสียหายและประกันภัยข้าวครอบคลุมเฉพาะชาวนาที่สูญเสียผลผลิตทั้งหมดจากภัยธรรมชาติเท่านั้น ผู้ที่ได้รับความเสียหายเพียงบางส่วนจะไม่ได้รับความช่วยเหลือใด ๆ
- เกณฑ์การประกาศเขตภัยพิบัติโดยผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นถูกวางแผนไว้สำหรับภัยธรรมชาติขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อหลายชุมชน หากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมีขนาดเล็กหรืออยู่นอกขอบเขตของความเสียหายส่วนใหญ่จะไม่สามารถประกาศให้เป็นเขตภัยพิบัติได้ ดังนั้นจึงไม่มีสิทธิ์ได้รับการชดเชย
จากสถิติของสมาคมประกันวินาศภัยระบุว่ามีเกษตรกรมาร้องขอสินไหมกรุณา (เงินสินไหมทดแทนที่บริษัทประกันจ่ายให้ด้วยความเห็นอกเห็นใจ ต่อเหตุการณ์ความเสียหายที่ไม่ได้อยู่ในความคุ้มครองของกรมธรรม์) ถึง 4.5% ของพื้นที่ที่ทำประกันภัย
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้สามารถลดขั้นตอนที่ยุ่งยากของระบบราชการ รวมถึงลดเวลาที่ใช้ในขั้นตอนการประเมินความเสียหายได้อย่างมาก
ตัวอย่างเช่น โครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็น เป็นโครงการประกันภัยแล้งที่ใช้ระบบการประกันภัยจากดัชนีสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอาศัยข้อมูลปริมาณน้ำฝนจากสถานีตรวจวัดอากาศเป็นตัวประเมินความเสียหายโดยไม่ต้องลงไปสำรวจ แต่ในปัจจุบันวิธีนี้ยังไม่ดีพอเนื่องจากมีจำนวนสถานีต่อพื้นที่น้อยเกินไป
เป้าหมายของการวิจัยนี้คือการระบุดัชนีสภาพอากาศซึ่งสะท้อนถึงความเสียหายโดยรวมได้แม่นยำกว่าสถานีตรวจวัดอากาศ และครอบคลุมความเสียหายทั้งบางส่วนและทั้งหมดที่เกิดจากน้ำท่วมหรือภัยแล้ง ในการประกันภัยตามดัชนีสภาพอากาศนี้ผู้ประกันตนจะจ่ายเงินชดเชยเมื่อดัชนีอากาศสูงหรือต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้
สำหรับน้ำท่วม ได้มีการพัฒนาแบบจำลองเพื่อประเมินความเสียหายด้วยเทคโนโลยีการถ่ายภาพจากเรดาร์ดาวเทียม (Synthetic-aperture radar : SAR) ซึ่งสามารถทะลุผ่านเมฆเพื่อสร้างภาพสองมิติหรือสามมิติของพื้นที่เป้าหมายได้
เทคโนโลยีเรดาร์นี้จะรวบรวมข้อมูลจากดาวเทียมหลาย ๆ ดวงเช่น COSMO-Skymed, RADARSAT และ Sentinel 1 เพื่อสร้างภาพเป้าหมายที่ครอบคลุมด้วยรายละเอียดภาพ 30 เมตร
สำหรับภัยแล้ง เทคโนโลยีที่มีประโยชน์ในการประเมินพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบคือ การทำแผนที่ปริมาณน้ำฝน (GSMaP) ที่มีความแม่นยำและความละเอียดสูงขององค์การวิจัยและพัฒนาการสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ซึงจะแสดงปริมาณน้ำฝนแบบเรียลไทม์และบันทึกจำนวนวันที่ไม่มีฝนตกต่อเนื่องด้วยรายละเอียดภาพ 11 กิโลเมตร
เทคโนโลยีดาวเทียมทั้งสองใช้เรดาร์ตรวจจับน้ำบนโลก โดยดัชนีได้รับการพัฒนาจากแบบจำลองการเพาะปลูกของปัจจัยการเจริญเติบโตของพืชในสภาพอากาศที่รุนแรง แบบจำลองการเพาะปลูกเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อผลผลิต ตัวอย่างเช่น จากข้อมูลวันที่มีฝนตกและไม่ตก แบบจำลองการเพาะปลูกสามารถคาดเดาได้ว่าพืชผลจะได้รับผลกระทบมากเพียงใด ข้อมูลนี้มีประโยชน์อย่างมากในการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
การศึกษาข้อมูลดาวเทียมโดยใช้ดัชนี แสดงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าวิธีการประเมินความเสียหายแบบปกติถึงสามเท่า วิธีนี้สามารถช่วยเกษตรกรที่ประสบปัญหาการสูญเสียพืชผลบางส่วน รวมถึงผู้ที่ได้รับความเสียหายทั้งหมดแต่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ประกาศให้ได้รับรับการเยียวยา ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีแรงจูงใจในการเข้าร่วมโครงการประกันภัยด้วยความสมัครใจมากขึ้น จากในปัจจุบันมีเพียง 39% ของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเท่านั้นที่เข้าร่วมโครงการ โดยเทคโนโลยีดาวเทียมจะใช้เวลาเพียง 3-5 วันในการประเมินพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและเพียง 1 วันสำหรับภัยแล้ง
การลงทุนในเทคโนโลยีเรดาร์ดาวเทียมนี้ใช้เงินประมาณ 60 ล้านบาทในปีแรก หลังจากนั้นมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและบำรุงรักษาประมาณ 43 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายทางสังคม เช่น ต้นทุนการดำเนินงานของโครงการและต้นทุนของเกษตรกรในการรักษากระแสเงินสดให้อยู่เหนือเส้นความยากจน ได้อย่างน้อย 3.2 พันล้านบาทต่อปี
แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีดาวเทียมยังมีความแม่นยำเพียง 83-87% ทำให้ผลการวัดพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมีแนวโน้มสูงกว่าความเป็นจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงน้ำท่วม เนื่องจากไม่มีแบบจำลองระดับสูงเชิงเลข (Digital Elevation Model) ซึ่งแสดงข้อมูลภูมิประเทศโดยละเอียด จึงจำเป็นต้องอาศัยการรวบรวมข้อมูลจากท้องถิ่นเพื่อช่วยในการตรวจสอบความถูกต้อง เช่น เทคโนโลยี Crowdsourcing ที่ช่วยให้เกษตรกรรายงานสถานการณ์ผ่านแอปพลิเคชันโทรศัพท์มือถือ หรือการถ่ายภาพจากโดรน (NIR) ที่ช่วยในการสำรวจที่ดินและการจัดการภัยพิบัติ
เนื่องจากปัจจุบันมีเทคโนโลยีเรดาร์ดาวเทียมซึ่งสามารถใช้เพื่อเร่งความช่วยเหลือจากภาครัฐในราคาที่ถูกลง ระบบการจัดการความเสี่ยงด้านสภาพอากาศซึ่งมีข้อกำหนดที่ยุ่งยากและขาดประสิทธิภาพจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงใหม่อย่างเร่งด่วน เพื่อให้เกษตรกรที่เผชิญกับภัยธรรมชาติได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
Leave a Reply