fbpx
confidence in evs fuels thai market 2

รถยนต์ไฟฟ้า (EV): ตัวการขับเคลื่อนตลาดรถยนต์ของไทย

1000 611 Content Writer
ความเชื่อมั่นใน EV ขับเคลื่อนตลาดไทย

เช่นเดียวกันกับที่ความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี EV ช่วยผลักดันยอดขาย EV ทั่วโลกให้เพิ่มขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ ปัจจัยเดียวกันนี้ยังได้เพิ่มความสนใจของผู้ใช้รถยนต์ในไทยในการเปลี่ยนไปใช้ EV อีกด้วย

ความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นในข้อได้เปรียบระยะยาวของรถยนต์ไฟฟ้า ประกอบกับความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมทำให้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2563 พร้อมกับการลงทุนที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ ด้วยแผนการพัฒนาที่แข็งแกร่งสำหรับอุตสาหกรรมในประเทศ ตลาด EV ของไทยกำลังอยู่บนเส้นทางการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า

จากข้อมูลของสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) การใช้ EV ทุกรูปแบบ ได้แก่ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถโดยสาร และรถบรรทุก เพิ่มขึ้น 70% จากช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้มียอด EV ที่ใช้งานในประเทศไทยรวม 192,000 คัน ณ สิ้นปี 2563 จากจำนวน EV ใหม่ 35,300 คัน ที่จดทะเบียนในปี 2563 ส่วนใหญ่ 32,300 คัน เป็นรถ PHEV และ HEV ในขณะที่แม้จะมี BEV เพียง 3,000 คัน แต่ตัวเลขนั้นเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากปีก่อนหน้า โดยในแง่ของวัตถุประสงค์ในการใช้งาน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลมีการจดทะเบียนใหม่มากที่สุด รองลงมาคือรถจักรยานยนต์

คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติของรัฐบาลไทยตั้งเป้าให้มีรถยนต์ไฟฟ้า 30% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดในประเทศไทยภายในปี 2573 ซึ่งคิดเป็น 750,000 คันจาก 2.5 ล้านคัน โดยในการก้าวไปสู่เป้าหมายนั้นคณะกรรมการคาดว่าจะมีการเพิ่มจำนวน EV ใหม่ระหว่าง 60,000 ถึง 110,000 คัน ในอีกสองสามปีข้างหน้า รวมถึง Eco EV 250,000 คัน และ Smart City Bus 3,000 ในอีกห้าปีข้างหน้า

เป้าหมายของคณะกรรมการคือประเทศไทยจะมีรถยนต์ไฟฟ้า 1.2 ล้านคัน บนท้องถนนภายในปี 2573 โดยมีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นสองเท่าเป็น 2.5 ล้านคัน ภายใน 6 ปีข้างหน้า มุมมองนี้ตอกย้ำถึงตำแหน่งของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการลงทุน EV ที่สำคัญในอาเซียนและจะช่วยให้ประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกและการพัฒนาระบบนิเวศของ BEV

 

เปลี่ยนรถโดยสารสาธารณะเป็น EV ช่วยส่งเสริมระบบในประเทศ

เพื่อเป็นการเริ่มนำเทคโนโลยี BEV มาใช้อย่างรวดเร็ว รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ และสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้เข้ามามีบทบาทนำในการกำหนดเป้าหมายการจัดซื้อและการใช้งาน BEV ในระบบขนส่งสาธารณะ

ในบรรดาความคิดริเริ่มในการส่งเสริมการสร้างขีดความสามารถของ EV หลายหน่วยงานได้ร่วมมือกันในการประกวดเพื่อสนับสนุนการแปลงรถโดยสารประจำทางแบบดั้งเดิมเป็นรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า จากแผนการออกแบบที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมด มีบริษัทในประเทศ 4 แห่งได้รับการคัดเลือก แต่ละแห่งได้รับทุนสนับสนุนและรถโดยสารที่เลิกใช้แล้วจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เพื่อพัฒนาให้เป็นต้นแบบ E-bus โดยต้นแบบที่ผ่านการคัดเลือกนั้นใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ 40%-60% และมีความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง 80-90 กม.ต่อชั่วโมง ในระยะทาง 160-250 กม.ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ซึ่งการปรับเปลี่ยนดังกล่าวจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 7 ล้านบาทต่อคัน เทียบกับ 14 ล้านบาทต่อคัน สำหรับการนำเข้า E-bus ใหม่

ในการพัฒนาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง กระทรวงคมนาคมได้อำนวยความสะดวกให้กับเรือที่ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่เพื่อให้บริการตามแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองสายหลักของกรุงเทพฯ เพื่อเป็นการลดมลพิษในเมือง เนื่องจากเรือเป็นรูปแบบการคมนาคมยอดนิยมสำหรับผู้อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ

 

confidence in evs fuels thai market 2

 

ให้ความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งพลังงาน

เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนไปใช้ EV กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับรองว่าผู้ใช้ EV จะสามารถเข้าถึงสถานีชาร์จสาธารณะได้อย่างสะดวกสบายทั่วประเทศ โดยสถานีชาร์จแต่ละแห่งจะอยู่ห่างกันไม่เกิน 50-70 กิโลเมตร และเพื่อเป็นการกระตุ้นการพัฒนาในธุรกิจชาร์จไฟฟ้า รัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ร่วมกันบุกเบิกการลงทุนในสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการชาร์จ EV ทั้งในที่สาธารณะและที่พักอาศัย

ภายใต้แผนการลงทุนด้านพลังงานอย่างครอบคลุมเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการใช้งาน EV ส่วนบุคคล ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาระบบ Smart Grid และระบบชาร์จอัจฉริยะ รวมถึงการนำระบบไฟฟ้าแบบ “Vehicle to Grid” (V2G) มาใช้เพื่อการจัดการพลังงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นสำหรับรองรับการใช้งาน EV

กฟผ. กฟน. และ กฟภ. ร่วมมือกับ ปตท. พัฒนาต้นแบบ V2G ด้วยการใช้ระบบคลาวด์แพลตฟอร์มรวบรวมโปรไฟล์การชาร์จและการใช้งานของ EV ที่เซิร์ฟเวอร์ของผู้จำหน่ายไฟฟ้าเพื่อให้แน่ใจว่ากำลังไฟฟ้าของประเทศเพียงพอกับการใช้งาน

แผนพลังงานแห่งชาติของประเทศไทยสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ามีจุดมุ่งหมายเพื่อควบคุมค่าธรรมเนียมไฟฟ้าตามระยะเวลาการใช้งาน ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการแข่งขันในธุรกิจชาร์จไฟฟ้าและช่วยสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น โซลาร์เซลล์ เป็นแหล่งพลังงานร่วม โดยแผนดังกล่าวมีเป้าหมายในการนำเทคโนโลยี Smart Grid มาใช้เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลการชาร์จและการใช้งานของประเทศเพื่อจัดการประสิทธิภาพในการส่งไฟฟ้า กระทรวงพลังงานยังได้ปรับแผนพัฒนาพลังงานของประเทศเพื่อเพิ่มกำลังผลิตเตรียมพร้อมสำหรับความต้องการที่สูงขึ้น ซึ่งกฟผ. คาดการณ์ว่าการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นประมาณ 9% หากมีการใช้งาน BEV 1.5 ล้านคัน และ PHEV 8 แสนคัน ภายในปี 2579

หลังจากการลงทุนอย่างรวดเร็วจากทั้งภาครัฐและเอกชน ข้อมูลจาก EVAT แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีเครื่องชาร์จประมาณ 2,000 เครื่อง และสถานีชาร์จ 650 แห่ง จากนักพัฒนา 10 รายทั่วประเทศ ณ สิ้นปี 2563 ในจำนวนนี้ 60% เป็นเครื่องชาร์จปกติ ส่วนที่เหลือเป็นแบบชาร์จเร็ว โดยกระทรวงพลังงานเป็นผู้กำหนดอัตราการชาร์จเพื่อให้มั่นใจว่ามีความคุ้มค่า ในขณะที่ผู้พัฒนากำลังเสนอแอปพลิเคชั่นเพื่อแสดงแผนที่สถานีชาร์จและปริมาณเชื้อเพลิงที่เหลือโดยประมาณ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเพื่ออำนวยความสะดวกในการนำ EV ไปใช้งานทั่วประเทศ

โอกาสในการพัฒนาสถานีชาร์จยังดึงดูดการลงทุนจากบริษัทสตาร์ทอัพหลายแห่งเพื่อขายและติดตั้งจุดชาร์จที่บ้านและระบบชาร์จสำหรับพื้นที่ที่อยู่อาศัยและเชิงพาณิชย์ โดยบริษัทสตาร์ทอัพเหล่านี้บางรายได้ร่วมมือกับแบรนด์อุปกรณ์ EV ระดับสากล ในขณะที่บริษัทอื่น ๆ ให้ความสนใจกับการนำเข้าที่ชาร์จจากแบรนด์ขนาดเล็ก อย่างไรก็ตามบริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะใช้เครื่องมือออนไลน์ในการโปรโมตบริการของตน โดยมีเพียงไม่กี่แห่งที่มีการขยายเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ

Author

Content Writer

All stories by: Content Writer

Leave a Reply

Your email address will not be published.