ความท้าทายในระยะแรกของบริษัท
แม้ว่าการทำงานระยะไกลจะเป็นประโยชน์สำหรับหลาย ๆ คน ทั้งประหยัดเวลาในการเดินทางสำหรับพนักงานและการเช่าพื้นที่สำนักงานสำหรับนายจ้าง แต่สำหรับบริษัทบางแห่ง ในช่วงแรกพวกเขากังวลว่าการทำงานลักษณะดังกล่าวจะส่งผลต่อองค์กรและประสิทธิภาพการทำงานอย่างไร
Lim Hong Zhuang CEO ของ ShuttleOne บริษัทสตาร์ทอัพด้านบล็อกเชน กล่าวว่าข้อกังวลหลักที่เขามีคือการทำให้พนักงานมีส่วนร่วมและแน่ใจว่าพวกเขาจะทำงานร่วมกันในขณะที่ทำงานจากที่บ้าน
“นอกจากนั้นเราจะดึงความสนใจของพนักงานจากสิ่งต่าง ๆ ที่อาจทำให้พวกเขาเสียสมาธิ เช่น การใข้งาน WhatsApp บนเบราว์เซอร์ระหว่างการคุยงาน ได้อย่างไร” เขากล่าว
Leong Chee Tung CEO ของ EngageRocket บริษัทสตาร์ทอัพด้านทรัพยากรบุคคล กล่าวว่าเขากังวลเรื่องการรับพนักงานใหม่ การสื่อสารที่ต้องมีความชัดเจนและรวดเร็ว รวมถึงการทำให้พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์อยู่ตลอด
Dutch Ng CEO ของ I-Sprint บริษัทรักษาความปลอดภัยทางเทคโนโลยี ต้องจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงแรก เช่น การเข้าถึงพนักงานจากระยะไกล การสื่อสารกับเจ้าหน้าที่หลังบ้าน และการแชร์ข้อมูลต่าง ๆ
ขณะที่ Douglas Abrams CEO ของ Expara บริษัทด้านการลงทุน ได้ต่อต้านแนวคิดการทำงานจากที่บ้านในช่วงแรก แต่ตอนนี้เขามองว่ามันเป็นแนวโน้มของอนาคต
“หลังถูกสถานการณ์บังคับจาก Covid-19 ผมได้รับรู้ด้วยตัวเอง เห็นประโยชน์ของมัน ซึ่งถูกต้องแล้ว นี่เป็นแนวทางที่เราจะต้องเดินหน้าต่อไป” เขากล่าว
การเปิดรับการทำงานจากที่บ้านไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ ได้พูดถึงวิธีการลองผิดลองถูกที่พวกเขาทำเพื่อค้นหาวิธีการที่เหมาะสมที่สุด
แม้ว่าตอนนี้สถานการณ์จะเริ่มดีขึ้น นายจ้างบางคนกล่าวว่าพวกเขายังคงมีการปรับเปลี่ยนขั้นตอนการทำงานด้วยกระบวนการทางไกลอยู่
ตัวอย่างเช่น Leong ได้พัฒนาระบบการจัดการบุคลากรที่เหมาะสมกับบริษัทของเขาโดยนำตัวอย่างของบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ มาใช้ บางสิ่งที่ง่าย ๆ เช่น การใช้อีโมจิบ่อยขึ้น คือเทคนิคการสื่อสารอย่างหนึ่งที่เขาได้มาระหว่างทาง
“เมื่อคุณไม่สามารถแสดงความคิดเห็นโดยไม่ใช้คำพูดได้ เวลาถูกหัวหน้าถามคำถาม ซึ่งอาจเป็นแค่เรื่องธรรมดา ๆ แต่พนักงานอาจมองดูแล้วคิดว่า ‘พวกเขากำลังถามฉันอยู่หรือเปล่า นี่เป็นเรื่องร้ายหรือไม่’ อีโมจิมีไว้เพื่อช่วยถ่ายทอดสิ่งที่มากกว่าแค่ข้อความ”
ในช่วงแรกบริษัทของเขาจัดการประชุมแบบวิดีโอค่อนข้างบ่อย โดยคิดว่าการประชุมดังกล่าวมีความสำคัญในการป้องกันไม่ให้พนักงานขาดการติดต่อซึ่งกันและกัน รวมถึง “หยุดการทำงาน”
อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านไปหลายเดือน Leong พบว่าพนักงานรู้สึกเหนื่อยและมันส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของพวกเขา ด้วยเหตุนี้ฝ่ายบริหารจึงตัดสินใจว่าการเข้าร่วมประชุมแบบวิดีโอส่วนใหญ่ไม่จำเป็นอีกต่อไป
สำหรับ Lim บริษัทของเขาใช้เวลาประมาณหนึ่งปีในการค้นหาสิ่งที่ใช้ได้ผลสำหรับพวกเขา
“เราประเมินเครื่องมือทั้งหมดที่มีและทำการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราเปลี่ยนแดชบอร์ด อีเมล เครื่องมือต่าง ๆ มากมาย” เขากล่าว
ที่บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านอย่าง Electrolux การรวมกลุ่มรายวันหรือรายสัปดาห์กับหัวหน้าทีมถูกใช้เป็นช่องทางแสดงความคิดเห็นสำหรับฝ่ายบริหารเกี่ยวกับความรู้สึกของพนักงานเรื่องการทำงานที่บ้าน Joanna Bilewicz-Porzycka รองประธานฝ่ายทรัพยากรบุคคลและการสื่อสารของแผนกเอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง และแอฟริกา กล่าว
ฝ่ายบริหารพบว่าพนักงานจำเป็นต้องมีเวลาในการพักมากขึ้น ดังนั้นพวกเขาจึงได้ทบทวนปริมาณงานและการประชุมในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา และยังได้จำกัดการโทรคุยงานในช่วงเย็นกับพนักงานที่อยู่นอกสิงคโปร์ รวมถึงกำหนดให้มีเพียงพนักงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้นที่ต้องเข้าร่วม
“เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ที่สร้างความแตกต่าง และเปิดโอกาสให้พนักงานของเราตัดสินใจด้วยตนเอง เมื่อใดที่ควรเข้าร่วมการประชุมและเมื่อใดที่ควรให้ความสำคัญกับสิ่งอื่น ๆ ที่พวกเขาเลือก” Bilewicz-Porzycka กล่าว
อย่างไรก็ตามบริษัทอื่น ๆ บางแห่งโดยเฉพาะที่ไม่ใช่บริษัทเกี่ยวกับเทคโนโลยี พบว่าการเปลี่ยนไปทำงานจากที่บ้านนั้นยากกว่า
พนักงานฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัทสถาปัตยกรรมที่ไม่ประสงค์ออกนามเนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้พูดกับสื่อกล่าวว่า ลักษณะงานทางสถาปัตยกรรมนั้นควรพบหน้ากันจะดีที่สุด เนื่องจากต้องมีการทำงานร่วมกันมากและการคุยงานมักเกี่ยวข้องกับการดูแบบหรือตัวอย่างวัสดุ
“ผมไม่ได้บอกว่ามันไม่สามารถทำได้ เพียงแต่มันมีอุปสรรคมากมาย” เขากล่าว
หลังจาก 18 เดือนของการทำงานจากที่บ้าน Koh Qin Wen ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทด้านการศึกษากล่าวว่า เธอยังคงสงสัยว่าจะสามารถทำอะไรได้มากกว่านี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานหรือไม่
แม้ Koh จะกล่าวว่าเธอไม่ได้บริหารแบบ Micro-Management และจะยอมรับเมื่อพนักงานบอกว่าพวกเขาไม่มีเวลาหรือทรัพยากรที่จะทำงานอื่นเพิ่มเติม แต่ก็มีบางส่วนของเธอที่ยังคงตั้งคำถามกับคำตอบดังกล่าวในบางครั้ง
“มีความคิดอยู่เสมอว่า ‘พวกเขาสามารถทำได้มากกว่านี้หรือทำได้ดีกว่านี้ไหม’ ท้ายที่สุดแล้วถ้าผลลัพธ์ออกมาดีก็ถือว่าโอเค แต่ฉันสงสัยอยู่เสมอว่าพวกเขากำลังทำงานเต็ม 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์หรือไม่” เธอกล่าว
Leave a Reply