fbpx

อุตสาหกรรมการแพทย์ของสิงคโปร์: ประตูสู่ตลาดการดูแลสุขภาพของอาเซียน (ตอนที่ 1)

150 150 Content Writer

อุตสาหกรรมการแพทย์ของสิงคโปร์: ประตูสู่ตลาดการดูแลสุขภาพของอาเซียน (ตอนที่ 1)

อุตสาหกรรมการแพทย์ของสิงคโปร์นั้นถูกให้การยอมรับว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ดีที่สุดของโลก เนื่องมาจากปัจจัยหลายประการ ทั้งการกำกับดูแลด้านกฎระเบียบที่เข้มงวด เงินสมทบจากบัญชีออมทรัพย์ทางการแพทย์ และระบบการแบ่งปันต้นทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน

ธุรกิจการดูแลสุขภาพนี้ยังคงดึงดูดนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ได้อย่างต่อเนื่อง จากทักษะความสามารถของผู้คน สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ โครงสร้างพื้นฐาน และภูมิทัศน์การวิจัยและพัฒนาที่เฟื่องฟูของประเทศ

กลยุทธ์หลักของรัฐบาลคือการเปลี่ยนแปลงภาคการดูแลสุขภาพผ่านระบบที่ใช้เทคโนโลยีด้านไอที การวิจัยทางคลินิกที่ดีเยี่ยม พัฒนาการดูแลระยะยาว และก้าวไปสู่การให้บริการที่ล้ำสมัยยิ่งขึ้น

ดังนั้นสิงคโปร์จึงเป็นเหมือนสถานที่สำหรับจัดแสดงเทคโนโลยีทางการแพทย์และการส่งมอบบริการด้านสุขภาพสมัยใหม่ โดยดึงดูดนักท่องเที่ยวทางการแพทย์มากกว่า 500,000 คนต่อปี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียงไม่ถึง 4% ของรายรับจากการท่องเที่ยวโดยรวม (ประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และที่น่าสนใจคือ 60% ของคนเหล่านี้เป็นชาวอินโดนีเซีย)

นักลงทุนต่างชาติสามารถใช้สิงคโปร์เป็นฐานในการขยายสู่ตลาดการดูแลสุขภาพในอาเซียนที่กำลังพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ความใกล้ชิดกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ ตลอดจนสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่โปร่งใสและความสะดวกในการทำธุรกิจเป็นเพียงปัจจัยบางประการที่โน้มน้าวผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพรายใหญ่ เช่น Siemens และ Medtronics ให้มาจัดตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคที่สิงคโปร์

 

เรื่องราวความสำเร็จของสิงคโปร์

Fitch Solutions บริษัทข้อมูลด้านการตลาดระบุว่าตลาดการดูแลสุขภาพของสิงคโปร์คาดว่าจะเติบโตเป็น 4.94 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2029 และค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลจะสูงถึง 9% ของ GDP ในปีเดียวกัน นอกจากนี้จะมีชาวสิงคโปร์ที่ใช้บริการด้านสุขภาพมากขึ้นจากกลุ่มประชากรผู้สูงอายุ โดย 26.6% ของประชากรในประเทศจะมีอายุเกิน 65 ปี ในปี 2035

อย่างไรก็ตามสิงคโปร์ยังคงมีการใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพน้อยกว่าประเทศขนาดใหญ่อื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้จ่ายโดยเฉลี่ย 17% ของ GDP (3.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ต่อปีในด้านการดูแลสุขภาพ แต่ถึงอย่างนั้นอายุขัยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดในสิงคโปร์กลับสูงกว่าสองถึงสามปีเมื่อเทียบกับสหราชอาณาจักร อีกทั้งอัตราการเสียชีวิตของเด็กทารกก็อยู่ในกลุ่มที่ต่ำที่สุดในโลก ประมาณครึ่งหนึ่งของแคนาดา สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส

 

ภาพรวมของระบบการรักษาพยาบาลของสิงคโปร์

โครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าของสิงคโปร์นั้นได้รับเงินทุนมาจากหลายส่วน ประกอบด้วยรายได้ทางภาษี (ซึ่งครอบคลุมเพียงหนึ่งในสี่ของค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลทั้งหมด) เงินจากตัวบุคคลและนายจ้างผ่านโครงการประกันชีวิตภาคบังคับ และเงินที่ถูกหักเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยระบบการดูแลสุขภาพจะมีศูนย์กลางอยู่ที่ 3 โครงการ ที่ถูกเรียกว่า 3M

MediSave พลเมืองสิงคโปร์และผู้อยู่อาศัยถาวรมีหน้าที่ต้องส่งเงิน 8-10.5% ของเงินเดือนไปยังบัญชี MediSave ส่วนตัว ซึ่งเงินส่วนนี้จะถูกจะนำไปใช้เป็นค่ารักษาพยาบาลของตัวเองและผู้เกี่ยวข้องได้ โดยผู้ที่อยู่ในความอุปการะจะต้องเป็นพลเมืองสิงคโปร์หรือมีถิ่นที่อยู่ถาวรเท่านั้น

MediShield Life เป็นอีกหนึ่งโครงการด้านการดูแลสุขภาพภาคบังคับซึ่งให้การคุ้มครองขั้นพื้นฐานแก่พลเมืองและผู้อยู่อาศัยถาวร การรักษาพยาบาลตามโครงการนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลรัฐหอ B2 หรือ C หากบุคคลใดต้องการใช้หอผู้ป่วย B1 หรือระดับสูงกว่านั้นในโรงพยาบาลของรัฐ จะต้องชำระค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ด้วยตนเอง โดยแต่ละคนจะได้รับวงเงินที่ 100,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (72,800 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ต่อปี และไม่มีการจำกัดตลอดชีวิต

Medifund เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลและทำหน้าที่เป็นเครือข่ายความปลอดภัยสำหรับพลเมืองและผู้อยู่อาศัยถาวร หากมีเงินในบัญชี MediSave และ MediShield Life ไม่เพียงพอ โดยสามารถขอรับเงินอุดหนุนค่ารักษาพยาบาลได้เมื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐที่มีหอผู้ป่วยที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกน้อยกว่า เช่น ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในหอ C (ห้องที่มีแปดเตียง) จะได้รับเงินช่วยเหลือสูงถึง 80% ของค่ารักษาพยาบาล

 

อุตสาหกรรมยาและชีวการแพทย์: ตัวขับเคลื่อนชั้นนำของการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ภาคเภสัชกรรมและชีวการแพทย์ของสิงคโปร์กำลังขึ้นเป็นผู้นำอย่างรวดเร็วในการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่สำหรับอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพของประเทศเท่านั้นแต่ยังรวมถึงภาคการผลิตด้วย

จำนวนผู้ที่มีความสามารถ สภาพแวดล้อมเชิงธุรกิจ โครงสร้างพื้นฐาน และภูมิทัศน์การวิจัยและพัฒนาที่เฟื่องฟูของประเทศได้ดึงดูดบริษัทยาขนาดใหญ่ที่สุดของโลกบางแห่ง ส่งผลให้สิงคโปร์เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ยา (ประมาณ 8.92 พันล้านดอลลาร์ในปี 2020) ได้มากกว่าการนำเข้า (3.69 พันล้านดอลลาร์ในปี 2020)

ปัจจุบันมีโรงงานผลิตมากกว่า 50 แห่งในประเทศ โดยบริษัทยาขนาดใหญ่ที่สุด 8 ใน 10 แห่งของโลกมีโรงงานตั้งอยู่ในสิงคโปร์ ได้แก่ Abbott, GlaxoSmithKline, Novartis และ Pfizer ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 40% ของตลาดระดับภูมิภาคของสิงคโปร์

นับตั้งแต่เริ่มการระบาดของโควิด-19 มีความต้องการยาฉุกเฉินและยาที่ใช้สำหรับผู้ป่วยหนัก เช่น ยาปฏิชีวนะและยาสลบ เพิ่มสูงขึ้น โดยยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดสำหรับสิงคโปร์

Author

Content Writer

All stories by: Content Writer

Leave a Reply

Your email address will not be published.