RCEP ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างไร
ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) คาดว่าจะช่วยเพิ่มการค้าและการลงทุนของไทยกับคู่ค้าทางเศรษฐกิจที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะประเทศในเอเชียตะวันออกอย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่น
ประเทศไทยเริ่มได้เห็นประโยชน์ของ RCEP แล้วหลังจากมีผลบังคับใช้มาได้ประมาณครึ่งปี โดยผัก ผลไม้ สิ่งทอ ยานพาหนะ และชิ้นส่วนยานยนต์เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับผลประโยชน์ในระยะแรกภายใต้ RCEP ซึ่งเห็นได้จากการค้าที่เพิ่มขึ้นในช่วงต้นปี 2022
ผู้สังเกตการณ์มักเรียก RCEP ว่าเป็น “ข้อตกลงทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก” เนื่องจาก 15 ประเทศที่เข้าร่วมคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 30% ของ GDP โลก ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ที่ให้สัตยาบันในเดือนตุลาคม 2021 และข้อตกลงดังกล่าวมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2022
รัฐบาลไทยหวังว่า RCEP จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศท่ามกลางแรงกดดันจากโควิด-19 และระดับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันก็จะช่วยให้ประเทศกลายเป็นคู่ค้าที่มีความสามารถมากขึ้นในระยะยาว
ประเทศไทยได้ลดภาษีอะไรบ้างภายใต้ RCEP
กระทรวงพาณิชย์ของไทยประมาณการว่าสินค้า 39,366 รายการ จะได้รับการลดภาษีภายใต้ RCEP โดยในระยะแรกของข้อตกลงจะครอบคลุม 29,891 รายการ เปรียบเทียบกับเกาหลีใต้ที่ 11,104 ญี่ปุ่น 8,216 จีน 7,491 นิวซีแลนด์ 6,866 และออสเตรเลีย 5,689 รายการ นอกจากนี้ RCEP ยังมีการกำหนดกรอบความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งรวมถึงทรัพย์สินทางปัญญาและอีคอมเมิร์ซอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ RCEP จึงมีผลในการเพิ่มการค้าและการลงทุนกับคู่ค้าทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยรวมแล้ว RCEP จะลดอัตราภาษีลง 91% ระหว่างประเทศที่เข้าร่วม โดยการปรับลดภาษีเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นทันทีในระยะแรกของข้อตกลง ในขณะที่ส่วนอื่น ๆ จะค่อย ๆ เพิ่มเติมภายในช่วงระยะเวลาสูงสุด 20 ปี
ประเทศไทยจำเป็นต้องเช้าร่วม RCEP หรือไม่
RCEP จะเสนอมาตรการลดภาษีเพิ่มเติมและกรอบการค้าที่เป็นมาตรฐานทั่วทั้งภูมิภาค ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการค้าและการลงทุนต่อไปในอนาคต การค้าของไทยกับกลุ่ม RCEP ระหว่างปี 2016 ถึง 2019 มีมูลค่า 2.69 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี หรือประมาณ 60% ของการค้าทั้งหมดของประเทศ RCEP มีแนวโน้มที่จะเพิ่มทั้งยอดการค้ารวมและสัดส่วนการค้าของไทยที่เกิดขึ้นภายในกลุ่มประเทศ RCEP
โดยการเพิ่มขึ้นดังกล่าวจะได้รับประโยชน์จากกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าที่สอดคล้องกันของ RCEP ซึ่งอนุญาตให้จัดสินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบที่ได้มาจาก RCEP เป็นสินค้าในท้องถิ่น ข้อกำหนดเหล่านี้จะส่งเสริมการจัดหาวัตถุดิบจากภายในประเทศสมาชิก RCEP ทำให้ธุรกิจสามารถได้รับสิ่งจูงใจและอัตราภาษีพิเศษที่มากขึ้น ในขณะที่ลดต้นทุนการจัดการของห่วงโซ่อุปทานและการปฏิบัติตามข้อกำหนดต่าง ๆ
ในฐานะที่เป็นสมาชิกของอาเซียน ประเทศไทยได้เข้าร่วมเขตการค้าเสรีอาเซียนและเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้อยู่ก่อนแล้ว ทำให้ผลกระทบของ RCEP ที่จะมีต่อประเทศไทยนั้นไม่มากนัก ตัวอย่างเช่น ประมาณ 85-90% ของสินค้าเกษตรที่นำเข้าจากออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ ปลอดภาษีในประเทศไทยอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตามการปรับลดภาษีภายใต้ RCEP จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อสินค้าไทยหลายชนิดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ปัจจุบันประเทศไทยมีการเกินดุลการค้ากับประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่ รวมทั้งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ แต่ขาดดุลการค้ากับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
ในปี 2022 ภายในกลุ่มประเทศ RCEP ไทยมีการเกินดุลการค้าที่มากที่สุดกับเวียดนาม (7.2 พันล้านดอลลาร์) และขาดดุลการค้าที่มากที่สุดกับจีน (2.68 หมื่นล้านดอลลาร์) โดยรวมแล้วประเทศไทยขาดดุลการค้ากับกลุ่ม RCEP อยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์
RCEP จะเพิ่มการเข้าถึงตลาดของประเทศไทยในเอเชียตะวันออกได้อย่างไร
เนื่องจากประเทศไทยมีข้อตกลงการค้าเสรีกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้อยู่แล้ว ประเทศเหล่านี้ได้ตกลงที่จะเสนอการลดภาษีเพิ่มเติมให้กับประเทศไทยภายใต้ข้อตกลง RCEP ดังนั้น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้จึงเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแนวโน้มนำเข้าสินค้าไทยเพิ่มขึ้นจากข้อตกลงดังกล่าว
สำหรับหลาย ๆ ประเทศที่เข้าร่วม รายการที่ไม่รวมอยู่ในการลดภาษีภายใต้ RCEP คือสินค้าเกษตรและชิ้นส่วนยานยนต์เพราะมีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากข้อตกลงกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ นี่คืออุตสาหกรรมบางส่วนที่ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์สูงสุด
นอกจากนี้การปรับลดภาษีประกอบกับข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาและอีคอมเมิร์ซมีศักยภาพในการกระตุ้นการค้าอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศของไทยกับภูมิภาค อุตสาหกรรมที่อาจได้รับประโยชน์จากอีคอมเมิร์ซ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหาร สิ่งทอ และอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตามภาคอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยยังค่อนข้างด้อยพัฒนาเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย ทำให้เกิดความท้าทายด้านโลจิสติกส์สำหรับธุรกิจที่ขายผ่านช่องทางดังกล่าว
RCEP จะส่งผลกระทบต่อตำแหน่งของประเทศไทยในการค้าระดับภูมิภาคอย่างไร
แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับประโยชน์มากมายจากการค้าที่เพิ่มขึ้นภายใต้ RCEP แต่ก็ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นจากประเทศอื่น ๆ ที่เข้าร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องเผชิญกับความท้าทายที่แข่งขันกับจีนสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ในราคาไม่แพง ในขณะที่การลดภาษีสำหรับสินค้าขั้นสูงจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็เสี่ยงที่จะทำให้เกิดอุปสรรคในความพยายามของไทยในการยกระดับห่วงโซ่คุณค่า ดังนั้นในขณะที่การส่งออกของไทยไปจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้จะเพิ่มขึ้นภายใต้ RCEP แต่การขาดดุลการค้ากับประเทศเหล่านี้โดยเฉพาะจีนอาจเพิ่มขึ้น
ไม่ว่าผลกระทบของ RCEP ที่มีต่อเศรษฐกิจของแต่ละประเทศจะเป็นอย่างไร การจัดตั้งเขตการค้าเสรีจะช่วยให้ธุรกิจที่มีการดำเนินงานอยู่ทั่วเอเชียแปซิฟิกสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทานและการเข้าถึงตลาดทั่วทั้งภูมิภาค ด้วยเหตุนี้ธุรกิจที่มีการดำเนินงานในประเทศไทยจึงควรประเมินการดำเนินงานของตนใหม่อีกครั้งโดยพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงที่มีผลจาก RCEP
Leave a Reply