fbpx

ตัวเปลี่ยนเกมเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทย – อุตสาหกรรมอัจฉริยะแห่งอนาคต (ตอนที่2)

1024 683 jai

จากรายงานขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) โรดโชว์ของ BOI ที่จัดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากเช่นกัน มีบริษัทญี่ปุ่นจำนวนประมาณ 5,800 แห่ง ที่ลงทุนในประเทศไทยซึ่งปัจจุบันกำลังมีเป้าหมายเรื่องคาร์บอนเป็นกลางเช่นเดียวกันกับญี่ปุ่น และมีหลายบริษัทที่มองเห็นโอกาสในการลงทุนในเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ BCG เช่น การพัฒนาเชื้อเพลิงไฮโดรเจน นอกจากนี้ยังมีความสนใจอย่างมากในด้านระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ รวมไปถึงสิทธิพิเศษสำหรับบริษัทที่จะย้ายสำนักงานใหญ่มายังประเทศไทย โดย Kuroda Jun ผู้บริหารของ JETRO ประจำภูมิภาคอาเซียนกล่าวในการให้สัมภาษณ์ว่าจากการสำรวจล่าสุดพบว่าบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งยืนยันที่จะขยายการดำเนินงานในประเทศไทยต่อไป  

ประเทศไทยนั้นเป็นผู้ส่งออกฮาร์ดดิสก์คอมพิวเตอร์รายใหญ่อันดับที่ 2 เป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับที่ 10 และเป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์อาหารชั้นนำของโลก โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่ ห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง และโครงสร้างพื้นฐานที่ดีทั้งท่าเรือ ถนน และไฟฟ้า ล้วนแต่เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับนักลงทุนชาวญี่ปุ่นตามการสำรวจของ JETRO “เรามีข้อได้เปรียบบางอย่างที่ญี่ปุ่น แต่ในบางแง่มุมประเทศไทยก้าวหน้ามากกว่าญี่ปุ่นด้วยซ้ำ เช่น ด้านอีคอมเมิร์ซและระบบธนาคารผ่านโทรศัพท์มือถือ” Kuroda กล่าว 

นักลงทุนต่างทราบดีว่าพวกเขาต้องพบกับความท้าทายในประเทศไทยเช่นกัน ประเทศที่มีประชากร 70 ล้านคนต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ตั้งแต่การจราจรติดขัด ประชากรสูงวัย ไปจนถึงระบบการศึกษาและการฝึกอบรมที่บางครั้งก็ต้องดิ้นรนเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศสู่เศรษฐกิจที่มีนวัตกรรม ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิช ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) องค์กรอิสระทางความคิดที่ไม่แสวงหาผลกำไรให้ความเห็นว่า แม้ว่าประเทศไทยะมีทรัพยากรมนุษย์ที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่ความท้าทายในตอนนี้คือการยกระดับกำลังคนไปสู่ระดับที่สูงขึ้น 

ดร.สมเกียรติ ซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับ BOI ยังมองว่ากลยุทธ์การลงทุนใหม่เป็นเครื่องมือในการรับมือกับความท้าทายดังกล่าว โดยชี้ไปที่ความยืดหยุ่นที่เพิ่มขึ้นต่อบริษัทประเภทต่าง ๆ และกล่าวว่าสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับนักลงทุนที่อยู่มายาวนานจะกระตุ้นให้พวกเขายกระดับการดำเนินงานในประเทศไทยยิ่งขึ้นไปอีก  

ความทะเยอทะยานแห่งอนาคตของประเทศไทยถูกต่อยอดจากรากฐานที่มั่นคงในปัจจุบัน แม้ว่าประเทศนี้จะยังคงเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของรถยนต์แบบสันดาป แต่ก็กำลังจะกลายเป็นศูนย์กลาง EV ระดับภูมิภาคอย่างรวดเร็ว นอกจาก BYD ที่กำลังสร้างทั้งโรงงานผลิตรถยนต์และแบตเตอรี่แล้ว คู่แข่งจากจีนด้วยกันอย่าง Great Wall Motor และ SAIC Motor ผู้ผลิตแบรนด์ MG ร่วมกับกลุ่ม CP ของไทยก็วางแผนที่จะใช้ประเทศเป็นฐานในการผลิตรถยนต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน 

ในขณะเดียวกันผู้ผลิตรถยนต์หรูสัญชาติเยอรมันอย่าง Mercedes-Benz ซึ่งผลิตรถยนต์แบบสันดาปในประเทศมาตั้งแต่ปี 1979 ก็ได้เลือกไทยเป็นสถานที่แรกในภูมิภาคที่จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น Mercedes-EQS 

รัฐบาลคาดการณ์ว่าภายในปี 2030 30% ของรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตในประเทศจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า อย่างไรก็ตามหากมองถึงความต้องการของรถยนต์แบบสันดาปที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง การลงทุนทั้งหมดในภาคยานยนต์ในปี 2022 ถือว่าเกือบจะสมดุลกันระหว่างห่วงโซ่อุปทานของรถยนต์ทั้งสองแบบและจะอยู่ร่วมกันไปอีกระยะหนึ่ง 

ในทำนองเดียวกัน ขณะที่ยังคงผลิตและส่งออกอาหารไปทั่วโลก ภาคเกษตรกรรมก็มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ BCG ไปพร้อม ๆ กัน ตัวอย่างเช่น กลุ่ม Toyota และ CP พยายามหาแหล่งไฮโดรเจนจากชีวมวลทางการเกษตรเพื่อนำใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์พลังงานสะอาด หรือบริษัทข้ามชาติที่ก่อตั้งมายาวนานอย่าง TotalEnergies Corbion และ NatureWorks บริษัทในเครือของ Cargill Inc. ไปจนถึงสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีชีวภาพก็กำลังใช้ทรัพยากรน้ำตาลอ้อยและของเสียทางการเกษตรที่มีอยู่จำนวนมากในการผลิตสินค้าที่ยั่งยืนแทนผลิตภัณฑ์ที่ใช้น้ำมัน เช่น พลาสติกและสิ่งทอ 

ตัวอย่างหนึ่งที่ปฏิวัติวงการ คือ Spiber Inc. จากญี่ปุ่นที่ได้ลงทุน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อสร้างโรงงานที่ใหญ่ที่สุดในโลกสำหรับการผลิตโปรตีนสังเคราะห์ที่ใช้ผลิตไหมใยแมงมุมสังเคราะห์ซึ่งเป็นเส้นใยที่แข็งแกร่งและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถนำไปใช้ในการผลิตเสื้อผ้า เช่น เสื้อคลุม Moon Parka ที่ทำร่วมกับแบรนด์ North Face เป็นต้น “Spiber สามารถเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจทั้งหมดของการผลิตสิ่งทอ และพวกเขาเลือกประเทศไทยเป็นที่ตั้งของโรงงานเทคโนโลยีล้ำสมัยนอกประเทศญี่ปุ่น” Kuroda กล่าว 

เทคโนโลยีลักษณะดังกล่าวนั้นส่วนใหญ่แล้วจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถระดับสูงจากต่างประเทศ และนั่นคือจุดที่วีซ่าผู้พำนักระยะยาวของประเทศไทยหรือ LTR จะตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี โดยมาตรการนี้จะให้สิทธิ์ผู้สมัครที่ผ่านเกณฑ์สามารถพำนักอาศัยในประเทศได้นานถึง 10 ปี คิดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ 17% ยกเว้นภาษีสำหรับรายได้จากต่างประเทศ รวมไปถึงมีบริการช่องทางด่วนที่สนามบินนานาชาติของประเทศไทย 

เช่นเดียวกับ Akio Toyoda ของ Toyota ก่อนหน้านี้ นักลงทุนต่างชาติรุ่นใหม่จะสามารถเรียกประเทศไทยว่าเป็นบ้านหลังที่สองของพวกเขาได้ในไม่ช้า

Leave a Reply

Your email address will not be published.