fbpx

BOI ขยายโอกาสในการขอวีซ่า LTR สำหรับผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ

972 634 jai

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกันยายน 2022 รัฐบาลไทยได้เปิดตัวโครงการวีซ่าสำหรับชาวต่างชาติประเภทผู้พำนักระยะยาว (LTR) ผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยมีจุดประสงค์ดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพซึ่งต้องการย้ายมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย ไม่ว่าจะเพื่อโอกาสในการทำงานหรือเกษียณอายุ โดยมาตรการเชิงกลยุทธ์นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อก่อให้เกิดคลื่นลูกใหม่ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) รวมถึงผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถในระดับโลกทำให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ได้ เพื่อเป็นการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป

ภายใต้โครงการวีซ่า LTR ผู้สมัครที่ผ่านเงื่อนไขและได้รับอนุมัติทั้ง 4 ประเภท ได้แก่ ประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ ผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ พร้อมด้วยคู่สมรสและผู้ติดตามโดยชอบด้วยกฎหมาย จะได้รับสิทธิประโยชน์หลากหลายประการ ประกอบด้วยระยะเวลาวีซ่า 10 ปี (สามารถขยายได้) ขยายเวลาการรายงานตัวจาก 90 วัน เป็น 1 ปี ไม่ต้องยื่นขออนุญาตกลับเข้ามาในราชอาณาจักร ได้รับใบอนุญาตให้ทำงานอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 17% (สำหรับผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ) และบริการช่องทางพิเศษณ ท่าอากาศยานระหว่างประเทศ โดยนับตั้งแต่เปิดตัว BOI ได้รับคำขอแล้วเกือบ 5,000 รายการจากทั่วทุกมุมโลก

รัฐบาลไทยตระหนักถึงความจำเป็นในการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญและผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ การเงิน และการตลาด ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการจัดตั้งฐานการผลิตสำหรับบริษัทต่างชาติรายใหญ่ในประเทศไทย จึงเห็นความจำเป็นในการแก้ไขข้อกำหนดในการยื่นขอวีซ่า LTR เพื่อขยายขอบเขตของผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษเพิ่มเติม

ดังนั้นเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2023 BOI จึงออกประกาศแก้ไขคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการขอวีซ่า LTR ในส่วนนี้ ซึ่งผลจากการแก้ไขทำให้ขณะนี้ผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษมีสิทธิ์ทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายได้ถึง 15 อุตสาหกรรม ดังต่อไปนี้

1. อุตสาหกรรมยานยนต์
2. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
3. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระดับคุณภาพ
4. อุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ
5. อุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์
6. อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์
7. อุตสาหกรรมการบิน อากาศยาน และอวกาศ
8. อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
9. อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ
10. อุตสาหกรรมดิจิทัล
11. อุตสาหกรรมการแพทย์
12. อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ
13. อุตสาหกรรมที่สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยตรงและมีนัยสำคัญ (เช่น การผลิตเชื้อเพลิงจากขยะ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เป็นต้น)
14. ศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (IBC)
15. อุตสาหกรรมอื่น ๆ โดยชาวต่างชาติซึ่งขอรับการรับรองคุณสมบัติต้องทงานโดยใช้ทักษะเชี่ยวชาญพิเศษในด้านใดด้านหนึ่ง ดังต่อไปนี้
1) การวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมหรือเทคโนโลยีเป้าหมาย เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีวัสดุขั้นสูง และเทคโนโลยีดิจิทัล
2) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับอาชีวศึกษาหรืออุดมศึกษา
3) การประยุกต์ใช้้เทคโนโลยปัญญาประดิษฐ์ ระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ในการประกอบธุรกิจ
4) การวางแผนและพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อยกระดับการผลิตและการบริการของธุรกิจ
5) การให้บริการหรือให้คปรึกษาด้านการเงินหรือการตลาด
6) การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงาน
7) การบริหารจัดการหรือให้คปรึกษาในโครงการบ่มเพาะ (Incubation Program)โครงการเร่งการเติบโต (Acceleration Program) และการสนับสนุนนวัตกรรมและ Startup Ecosystem
8) การบริการด้านการระงับข้อพิพาททางเลือก
9) การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนโดยหอการค้าต่างประเทศ และองค์กรส่งเสริมการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ

การแก้ไขนี้จะทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายมีความยืดหยุ่นและเหมาะสมในการดึงดูดชาวต่างชาติให้ยื่นขอวีซ่า LTR ประเภทนี้มากขึ้น ส่วนข้อกำหนดอื่น ๆ ในการยื่นขอวีซ่า LTR สำหรับผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษยังคงไม่เปลี่ยนแปลง โดยผู้สมัครที่ผ่านเกณฑ์ได้ต้องมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

ข้อกำหนดด้านรายได้

มีรายได้ส่วนบุคคลไม่น้อยกว่า 80,000 เหรียญสหรัฐต่อปี ในระยะเวลา 2 ปีก่อนยื่นคำขอ

กรณีที่รายได้ส่วนบุคคลต่ำกว่า 80,000 เหรียญสหรัฐต่อปี แต่ไม่น้อยกว่า 40,000 เหรียญสหรัฐต่อปี ในระยะเวลา 2 ปีก่อนยื่นคำขอหรือก่อนการเกษียณอายุ ผู้ยื่นคำขอต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไปในสาขาด้านวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยี หรือมีความเชี่ยวชาญในสายงานซึ่งจะเข้ามาทำงานในประเทศไทย

ไม่ต้องแสดงหลักฐานรายได้ขั้นต่ำ สำหรับการทำงานในสถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัย สถาบันฝึกอบรมเฉพาะทาง หรือหน่วยงานภาครัฐ

ข้อกำหนดด้านการทำงานและอื่น ๆ

จะต้องเป็นการทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (ตามที่ระบุไว้ข้างต้น)

มีประสบการณ์การทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปี ภายใน 10 ปี ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ยกเว้นผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกขึ้นไปในสาขาที่เกี่ยวข้องภายในอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือผู้ที่ทำงานให้กับสถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัย สถาบันฝึกอบรมเฉพาะทาง หรือหน่วยงานภาครัฐ

มีประกันสุขภาพคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลไม่น้อยกว่า 50,000 เหรียญสหรัฐ หรือสิทธิประกันสังคมที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลในประเทศไทย หรือเงินฝากในบัญชีไม่น้อยกว่า 100,000เหรียญสหรัฐ

ต้องไม่จัดเป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายคนเข้าเมือง

ด้วยการขยายคุณสมบัติวีซ่า LTR สำหรับผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษนี้ คาดว่าจะมีชาวต่างชาติรวมมากกว่า 9,000 ราย ที่ยื่นขอวีซ่า LTR ภายในสิ้นปี 2023 ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากกว่า 50 ล้านบาท และสร้างการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ ให้เพิ่มขึ้นอีกมาก

Leave a Reply

Your email address will not be published.