สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่าตัวเลขคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม – กันยายน 2023) มีจำนวนทั้งหมด 1,555 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 31% คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวม 5.16 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% หลังจากรัฐบาลมีนโยบายเปิดรับการลงทุนครั้งใหญ่ โดยประกาศใช้มาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านต่าง ๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี ที่มีเป้าหมายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจใหม่เพื่อดึงดูดให้เกิดการลงทุนมากขึ้น
BOI กล่าวว่าตัวเลขการลงทุนในช่วง 9 เดือนแรก มีทิศทางที่ดีทั้งการขอรับการส่งเสริมการลงทุนและการออกบัตรส่งเสริม ขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและซัพพลายเชนที่แข็งแกร่ง รวมถึงศักยภาพการเติบโตระยะยาวของไทย เห็นได้จากกลุ่มทุนต่างชาติหลายรายยังเดินหน้าลงทุนอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งบริษัทได้ให้ความเชื่อมั่นและเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญในอาเซียน
ทั้งนี้การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายมีทั้งหมด 787 โครงการ มูลค่ารวม 3.66 แสนล้านบาท คิดเป็น 71% ของมูลค่ารวมทั้งหมด โดยอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรกได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 171 โครงการ เงินลงทุน 2.08 แสนล้านบาท รองลงมาคืออุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร 213 โครงการ เงินลงทุน 5.58 หมื่นล้านบาท และอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 151 โครงการ เงินลงทุน 4.22 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ
ความสำเร็จที่โดดเด่นนี้ยังเห็นได้ชัดเจนจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 910 โครงการ เพิ่มขึ้น 49% มีมูลค่าการลงทุนรวม 3.99 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น43% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยจีนเป็นประเทศที่มีการลงทุนมากที่สุด 264 โครงการ มูลค่ารวม 9.74 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 24% ของ FDI ทั้งหมด สิงคโปร์ตามมาเป็นอันดับ 2 ที่ 133โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 8.02 หมื่นล้านบาท ขณะที่ญี่ปุ่นรั้งอันดับ 3 ด้วย 176 โครงการ มูลค่าการลงทุน 4.31 หมื่นล้านบาท ส่วนไต้หวันและเกาหลีมาเป็นอันดับ 4 และ 5 ด้วย 63โครงการ มูลค่า 3.61 หมื่นล้านบาท และ 15 โครงการ มูลค่า 3.26 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ
ในแง่พื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีการขอรับการส่งเสริมมากที่สุด จำนวน 552 โครงการ เงินลงทุน 2.31 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน รองลงมาเป็นพื้นที่ภาคกลาง มูลค่าเงินลงทุน 1.36 แสนล้านบาท
สำหรับการขอรับการส่งเสริมตามมาตรการยกระดับอุตสาหกรรม (Smart and Sustainable Industry) เช่น การปรับเปลี่ยนเครื่องจักรมาเป็นระบบอัตโนมัติ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ การใช้พลังงานทดแทน มีผู้สนใจยื่นขอรับการส่งเสริมเพิ่มขึ้นมาก โดยมีจำนวน 280 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 26% มูลค่าเงินลงทุน 1.83 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 25%
นอกจากนี้ตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศและประตูการค้าการลงทุนของภูมิภาค (International Business Center) ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมามีตัวเลขขอรับส่งเสริมการลงทุนในกิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ จำนวน 93 โครงการ เงินลงทุน 2,582 ล้านบาท โดยมีบริษัทต่างชาติรายใหญ่เข้ามาลงทุนในกิจการนี้หลายราย เช่น บริษัท เสียวหมี่ เทคโนโลยี จำกัด จากประเทศจีน บริษัท อีคอร์เนส จำกัด ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ที่สุดของภูมิภาคนอร์ดิก เป็นต้น
คุณนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการ BOI กล่าวว่าโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติในปี 2023 คาดว่าจะทำให้มูลค่าการส่งออกของประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 2 ล้านล้านบาทต่อปี ใช้วัตถุดิบในประเทศกว่า 1.4 ล้านล้านบาทต่อปี และสร้างงานกว่า 1 แสนตำแหน่ง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน และอาหารแปรรูป ซึ่งจะเป็นสาขาที่มีการจ้างงานมากที่สุด
เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและส่งเสริมบรรยากาศการลงทุน BOI ได้เน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการจัดการกับความอุปสรรคต่าง ๆ และร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ เพื่อให้เกิดความง่ายต่อการลงทุนในด้านต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น การผ่อนคลายข้อกำหนดใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (FBL) และกฎระเบียบด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างชาติ การจัดหาพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน และอุปสรรคด้านกฎระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน นอกจากนั้นยังดำเนินมาตรการเชิงรุกในการขยายการเข้าถึงและการสนับสนุนเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้มากขึ้น โดยมีแผนที่จะเพิ่มจำนวนพนักงานและจัดตั้งสำนักงานในต่างประเทศเพิ่มเติม เช่น ริยาดในซาอุดีอาระเบีย เฉิงตูในจีน และสิงคโปร์
นอกจากนั้น BOI ยังมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลืออุตสาหกรรมยานยนต์ โดยสนับสนุนการนำระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มาใช้เพื่อยกระดับประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมโดยรวมและกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อรักษาความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม คณะกรรมการได้อนุมัติสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้ผลิตยานยนต์ ทั้งรถยนต์ทั่วไป HEV และ PHEV ซึ่งให้สิทธิ์กับทั้งการลงทุนเดิมและการลงทุนใหม่ โดยสิ่งจูงใจเหล่านี้จะครอบคลุมการยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในอาเซียนและระดับโลกด้วยกำลังการผลิต 1.9 ล้านคันต่อปี มีการส่งออกในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมูลค่า 1.02 ล้านล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2023 (คิดเป็น 14% ของการส่งออกทั้งหมด)
Leave a Reply