สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้เปิดสำนักงานแห่งแรกในตะวันออกกลาง ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2024 พร้อมกับมีการจัดงานประชุมภาคธุรกิจ Thai – Saudi Investment Forum ควบคู่กันไป โดยมีผู้บริหารระดับสูงและนักธุรกิจชั้นนำจากทั้งสองประเทศเข้าร่วม เพื่อหารือถึงโอกาสในการยกระดับความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้น
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการ BOI ได้นำเสนอเกี่ยวกับกลยุทธ์การลงทุนและโอกาสทางธุรกิจในประเทศไทย โดยกล่าวว่า “การเปิดสำนักงาน BOI ในกรุงริยาด จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการส่งเสริมโอกาสการลงทุนในประเทศไทยให้แก่นักลงทุนต่างชาติ รวมถึงผลักดันความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ทั้งไทยและซาอุดีอาระเบียถือเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจที่สำคัญ และต่างมีศักยภาพในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในภูมิภาค เราหวังว่านักลงทุนจากซาอุดีอาระเบียและตะวันออกกลางจะพิจารณาประเทศไทยเป็นฐานการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจในอาเซียน และใช้ประโยชน์จากการเป็นสมาชิก RCEP ซึ่งเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในขณะเดียวกันบริษัทไทยก็สามารถอาศัยความร่วมมือกับพันธมิตรในซาอุดีอาระเบียเป็นบันไดในการเข้าสู่ตลาดตะวันออกกลางที่มีประชากรกว่า 400 ล้านคน”
ความสำเร็จในการเยือนซาอุดีฯ ครั้งนี้สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างสองประเทศ รวมถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการเร่งผลักดันความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการลงทุนระหว่างกัน เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น และถือเป็นโอกาสของไทยในการเข้าไปมีส่วนร่วมในแผนส่งเสริมการลงทุนครั้งสำคัญของซาอุดีฯ เพื่อสร้างระบบห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ลดการพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมัน รวมถึงการพัฒนาสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ตามวิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย 2030 (Saudi Vision 2030) ซึ่งสอดรับกับวิสัยทัศน์ Ignite Thailand ของรัฐบาลไทย
ภายในงานยังมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านความร่วมมือทางธุรกิจรวม 11 ฉบับ ระหว่างบริษัทไทยและซาอุดีอาระเบียในหลากหลายสาขา เช่น อุตสาหกรรมการเกษตร อาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ วัสดุก่อสร้าง การจัดอีเวนท์และเทศกาล เกมและอีสปอร์ต การผลิตน้ำหอม และธุรกิจที่ปรึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยังยืน ในปี 2023 การค้าระหว่างประเทศของไทยและซาอุดีอาระเบีย มีมูลค่ารวม 8.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 22% ของมูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยกับตะวันออกกลาง
สำนักงานแห่งใหม่นี้จะครอบคลุมพื้นที่ 13 ประเทศในตะวันออกกลาง เช่น บาห์เรน กาตาร์ คูเวต ตุรกี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นับเป็นสำนักงานต่างประเทศลำดับที่ 17 ของ BOI ที่ดำเนินการในประเทศสำคัญทั่วโลก นอกจากนี้ BOI ยังมีแผนที่จะเปิดสำนักงานอีก 2 แห่ง ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าที่เมืองเฉิงตู ประเทศจีน และที่ประเทศสิงคโปร์ โดยพร้อมใช้เครื่องมือสิทธิประโยชน์และบริการด้านต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาตั้งฐานการผลิต การจัดตั้งสำนักงานภูมิภาค หรือการร่วมกับธุรกิจไทย
คำขออนุมัติการลงทุนของประเทศไทยในปี 2023 เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 9 ปี ที่ 8.48 แสนล้านบาท (ประมาณ 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 43% จากตัวเลขที่ปรับปรุงแล้วของปีที่แล้ว โดยได้รับแรงหนุนจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ขนาดใหญ่ใน 5 ภาคส่วนเป้าหมายในกลยุทธ์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ของ BOI ได้แก่ อุตสาหกรรมสีเขียว ยานยนต์รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้า เซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง อุตสาหกรรมดิจิทัลและสร้างสรรค์ และศูนย์ธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งรวมกันแล้วคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของคำขอทั้งหมด โดยแหล่งที่มาของการลงทุนหลัก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา
สาเหตุสำคัญที่นักลงทุนเลือกประเทศไทยมาจากทำเลที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ใจกลางประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดร่วมของ 10 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประชากร 670 ล้านคน อยู่ใกล้กับจีนและอินเดีย โดยประเทศไทยนั้นมีช่องทางการติดต่อที่ยอดเยี่ยม โครงสร้างพื้นฐานระดับโลกสำหรับการขนส่งทางอากาศ ทางบก และทางทะเล โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่โดดเด่น แรงงานที่มีทักษะสูง บริการทางการแพทย์ชั้นนำ คุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงนโยบายและสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนที่ครอบคลุม
BOI เยือนญี่ปุ่น จูงใจย้ายฐานการผลิต อัพเกรดสู่เทคโนโลยีอนาคต
BOI ร่วมกับคณะผู้แทนการค้าไทย จัดโรดโชว์การลงทุนที่ประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 19-22 มิถุนายน 2024 เพื่อจัดสัมมนา Thailand – Japan Investment Forum 2024 ประชุมหารือกับบริษัทญี่ปุ่น โดยมุ่งเน้นดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ และหารือความร่วมมือในการยกระดับอุตสาหกรรมต่างๆ ที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยี
นายนริศ กล่าวว่า “BOI มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนนักลงทุนญี่ปุ่นที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศไทยอยู่แล้ว ให้สามารถขยายกิจการและการลงทุนในประเทศไทยต่อไป โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีขั้นสูงและอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่เป็นเป้าหมายของเรา เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า เซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ดิจิทัล และชีวภาพ เรายังมุ่งหวังที่จะดึงดูดบริษัทญี่ปุ่นรายใหม่ ๆ ให้มาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะบริษัทในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังมองหาฐานการผลิตใหม่ นอกจากนี้เรายังสนับสนุนบริษัทญี่ปุ่นในการเลือกประเทศไทยเป็นที่ตั้งของศูนย์วิจัยและพัฒนา รวมถึงสำนักงานภูมิภาคด้วย”
ในงานนี้ BOI ได้นำเสนอมาตรการใหม่ ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนญี่ปุ่น เช่น มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งครอบคลุมทั้งรถยนต์ ICE, HEV, PHEV และ BEV มาตรการส่งเสริมการย้ายฐานธุรกิจแบบครบวงจร มาตรการกระตุ้นการลงทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ มาตรการยกระดับอุตสาหกรรมไปสู่ Smart and Sustainable Industry รวมถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย เช่น EEC, ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค เป็นต้น
รัฐบาลกำลังเร่งผลักดันนโยบายต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการค้าการลงทุนไทย เช่น การเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 15 ฉบับ ครอบคลุม 19 เขตเศรษฐกิจ และอยู่ระหว่างการเจรจาอีก 5 ฉบับ ได้แก่ FTA ไทย-อียู สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) เกาหลีใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และภูฏาน ซึ่งจะช่วยเปิดตลาดการค้าและการลงทุนให้สามารถเข้าถึงตลาดได้กว้างขวางขึ้นอีกกว่า 30 ประเทศ
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีโครงการลงทุนจากญี่ปุ่นยื่นขอรับการส่งเสริมมูลค่ารวมกว่า 8.7 แสนล้านบาท โดยในปี 2023 มีนักลงทุนญี่ปุ่นยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนกับ BOI จำนวน 264 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 7.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 60% จากปีก่อนหน้า ส่วนในไตรมาสแรกของปีนี้มีนักลงทุนญี่ปุ่นที่ยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนแล้ว 74 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวม 1.5 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ อาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ
Leave a Reply