เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจปลดล็อกรายได้เพิ่มจากการลงทุนสีเขียวมากถึงปีละ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2030 หากรัฐบาลยกระดับความร่วมมือในโครงข่ายไฟฟ้าระดับภูมิภาคและตลาดคาร์บอน นำเสนอสิ่งจูงใจที่มากขึ้นสำหรับการลงทุนในพลังงานสะอาด รวมถึงกฎระเบียบที่ชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับการเงินสีเขียว (Green Finance)
อาเซียนซึ่งมีประชากรเกือบ 700 ล้านคน และกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วนี้ ยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลสำหรับพลังงานเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามภูมิภาคนี้มีโอกาสที่จะเพิ่มการลงทุนสีเขียวเพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตามรายงานของ Bain & Company, GenZero, Standard Chartered และ Temasek
รายงาน South-east Asia’s Green Economy 2024 – Moving The Needle ระบุถึงโอกาสที่หลากหลายสำหรับภูมิภาคในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศไปพร้อม ๆ กับการปรับปรุงความมั่นคงด้านพลังงานและอาหาร แต่สิ่งยังที่ขาดอยู่คือเงินทุน 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นโยบายที่จะมากระตุ้น และความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น
ประเด็นสำคัญของรายงานนี้คือการลงทุนสีเขียวจำนวนมากสามารถลงมือทำได้ทันทีและขยายขนาดได้อย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างความแตกต่างอย่างแท้จริงในการลดการปล่อยก๊าซที่ทำให้โลกร้อนขึ้นและก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศทั่วทั้งภูมิภาค
Kimberly Tan หัวหน้าฝ่ายการลงทุนของ GenZero แพลตฟอร์มการลงทุนที่ก่อตั้งโดย Temasek ซึ่งมุ่งเน้นการเร่งการลดคาร์บอนกล่าวว่า ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีโอกาสอยู่มากมายที่สามารถดำเนินการได้ในระยะสั้นใน และการลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียวสามารถที่จะสร้างรายได้ถึง 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีภายในปี 2030
การเพิ่มการใช้งานพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และการเก็บพลังงานในแบตเตอรี่ อาจช่วยให้ภูมิภาคนี้ลดการพึ่งพาถ่านหินและก๊าซในการผลิตไฟฟ้า เช่นเดียวกับข้อกำหนดเกี่ยวกับประสิทธิภาพด้านพลังงานในอาคารที่สามารถช่วยลดการเติบโตของความต้องการไฟฟ้าได้ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของ 13 แนวคิดที่สามารถลงทุนได้ใน 4 ภาคส่วน ได้แก่ ธรรมชาติและการเกษตร การผลิตไฟฟ้า การขนส่ง และอาคาร ซึ่งเป็นไฮไลท์ของรายงานที่เผยแพร่ใน Ecosperity Week 2024
ตัวอย่างอื่น ๆ ได้แก่ การลงทุนในการปลูกข้าวอย่างยั่งยืนสามารถลดการใช้น้ำและการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีผลกระทบอย่างมาก แนวทางแก้ปัญหาตามธรรมชาติ เช่น การปกป้องป่าฝนและการปลูกป่าชายเลนใหม่ สามารถช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้โลกร้อนขึ้นออกจากอากาศ อีกทั้งยั้งเป็นประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่น เนื่องจากป่าชายเลนเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลที่ยอดเยี่ยมและช่วยป้องกันชายฝั่งจากพายุ
อย่างไรก็ตามความต่างทางด้านการเงินยังคงมีอยู่มาก โดยรายงานระบุว่าแม้การลงทุนสีเขียวในภูมิภาคจะเพิ่มขึ้น 20% มาอยู่ที่ 6.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2023 แต่มันเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐที่จำเป็นต้องใช้ในการเร่งการเปลี่ยนผ่านของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเพื่อให้บรรลุคำมั่นสัญญาด้านสภาพภูมิอากาศปี 2030 ภายใต้ความตกลงปารีสว่าด้วยสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติ
Dale Hardcastle ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมความยั่งยืนระดับโลกของ Bain & Company กล่าวว่าอาเซียนมีศักยภาพมหาศาลในการเร่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและสร้างเศรษฐกิจสีเขียว โดยต้องเริ่มต้นจากสิ่งที่เราสามารถทำได้ที่นี่ ตอนนี้ และไม่พลาดโอกาสที่อยู่ตรงหน้า
เศรษฐกิจของทั้ง 10 ประเทศในภูมิภาคนั้นกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและจะต้องการการลงทุนครั้งใหญ่ด้านพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานหมุนเวียนสำหรับการผลิตไฟฟ้าในช่วงทศวรรษหน้า จากรายงาน Asean Energy Outlook ฉบับที่ 7 เมื่อปี 2022 โดย Asean Centre for Energy มีการประมาณการว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าระหว่างปี 2025 ถึง 2050 อ้างอิงจากโยบายด้านสภาพภูมิอากาศปัจจุบันของภูมิภาค การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นสองเท่า เทียบเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ 4 พันล้านตัน ภายในปี 2050
แต่พร้อมกับการเพิ่มขึ้นของการปล่อยมลพิษ ความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย รายงานระบุว่าอาเซียนเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีความเปราะบางต่อความร้อนที่เพิ่มขึ้น พายุและน้ำท่วมที่รุนแรงขึ้น รวมถึงระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น รายงานระบุว่าภายในปี 2030 ภูมิภาคนี้จำเป็นต้องลดการปล่อยมลพิษลงทั้งหมด 2.4 พันล้านตัน หากต้องการบรรลุคำมั่นสัญญาด้านสภาพภูมิอากาศของประเทศ
สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดความล่าช้านั้นมีอยู่ 3 ประการ
อย่างแรกคือเรื่องของการจัดลำดับความสำคัญของรัฐบาล ผู้นำประเทศไม่เพียงแต่ต้องคิดเกี่ยวกับโลกหลังโควิด-19 แต่ยังต้องรักษาสมดุลของเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วและความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากยังมีประชาชนอีกหลายล้านคนที่ยังเข้าไม่ถึงโครงข่ายไฟฟ้า
ความท้าทายประการที่สองคือเรื่องการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลสำหรับพลังงานอย่างลึกซึ้งของภูมิภาค โดยในบางประเทศอาเซียน ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซถือเป็นแหล่งรายได้หลักจากการส่งออก มีโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ในภูมิภาคจำนวนมาก การปิดโรงไฟฟ้าเหล่านี้ก่อนกำหนดและทดแทนด้วยพลังงานหมุนเวียนเป็นความท้าทายที่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่ความพยายามที่จะหาวิธีจัดการกับเรื่องดังกล่าวก็ยังคงดำเนินอยู่
ประเด็นสุดท้ายคือยังไม่มีสิ่งจูงใจหรือการเข้าถึงเงินทุนที่เพียงพอที่จะสามารถเคลื่อนไหวได้ในอัตราที่ต้องการ แต่เราก็ได้เห็นความก้าวหน้าในการเงินรูปแบบใหม่ ๆ ที่ช่วยลดต้นทุนและความเสี่ยงของการลงทุนสีเขียว เช่น การเงินแบบผสมผสาน ซึ่งเป็นการรวมเงินทุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น เงินอุดหนุน เงินกู้ผ่อนปรน และเงินทุนเชิงพาณิชย์
Tan ยังชี้ให้เห็นถึงระดับการใช้พลังงานหมุนเวียนที่ต่ำของภูมิภาคและอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่งเริ่มต้น การเกษตรส่วนใหญ่ยังไม่ซับซ้อนมากนักเมื่อเทียบกับฟาร์มขนาดใหญ่ในตะวันตก โดยส่วนใหญ่เป็นเพราะเกษตรกรรายย่อยจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี “แนวคิดการลงทุนเพื่อลดคาร์บอนเหล่านี้หลายอย่างต้องใช้เวลา แต่เราจำเป็นต้องดำเนินการโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไป” เธอกล่าว
Leave a Reply