fbpx
Interloop -Medical

ก้าวต่อไปของการผลิตเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย

732 383 Content Writer

โอกาสครั้งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับการผลิตเครื่องมือแพทย์ของไทย

ในขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การใช้งานเครื่องมือแพทย์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รัฐบาลไทยได้เพิ่มความพยายามในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติที่กำลังมองหาการขยายฐานการผลิตในอุตสาหกรรมที่กำลังไปได้สวยนี้

การเติบโตอย่างต่อเนื่องของบริการด้านการดูแลสุขภาพของประเทศไทย ทั้งจากชาวไทย ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศ และนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ เป็นแรงผลักดันให้ supply chain ของเครื่องมือแพทย์นั้นเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาระบุว่า ประเทศไทยมีผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ประมาณ 500 ราย และมีผู้นำเข้าเครื่องมือแพทย์ประมาณ 2,500 รายที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ตั้งแต่ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางไปจนถึงบริษัทระหว่างประเทศขนาดใหญ่ ที่คอยตอบสนองความต้องการผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ตั้งแต่ถุงมือยางแบบใช้แล้วทิ้ง สิ่งทอทางการแพทย์ ไปจนถึงหุ่นยนต์ผ่าตัดที่มีความซับซ้อนสูงสำหรับใช้ในประเทศ รวมถึงจัดจำหน่ายไปยังประเทศใกล้เคียงอย่างกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม (CLMV) และทั่วโลก

ตัวเลขอย่างเป็นทางการจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมแสดงให้เห็นว่า มูลค่าของตลาดเครื่องมือแพทย์ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (1.76 แสนล้านบาท) ในปี 2562 หรือเพิ่มขึ้น 70% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีมูลค่าการนำเข้าและส่งออกเครื่องมือแพทย์สูงที่สุดในบรรดา 10 ประเทศอาเซียน โดยเครื่องมือแพทย์ที่ผลิตในประเทศไทย 70% ถูกส่งออกและอีก 30% ที่เหลือถูกจำหน่ายเพื่อใช้ในประเทศ

แนวโน้มดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทยที่เติบโต และมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นในฐานะศูนย์กลางของผู้ประกอบและผู้ผลิตในอาเซียน โดยสินค้าที่ส่งออกต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้ง (84%) ตามด้วยสินค้าคงทน (15%) และน้ำยาและชุดทดสอบ (1%)

การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ยังช่วยเพิ่มการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สวมใส่ได้เช่น หน้ากากป้องกันใบหน้า แว่นตา ชุดป้องกัน ถุงมือ รวมถึงเครื่องช่วยหายใจ ได้อย่างมีนัยสำคัญ

การผลิตเครื่องมือแพทย์ในประเทศมีแนวโน้มการเติบโตจากอายุของประชากรไทยและอาเซียนที่มากขึ้น ซึ่งเป็นผลให้มีการใช้งานอุปกรณ์ทางการแพทย์มากขึ้นเพื่อรักษาโรคเรื้อรัง และรองรับไลฟ์สไตล์ของผู้สูงอายุ คาดว่าประเทศไทยจะมีประชากรอายุเกิน 60 ปีมากกว่า 20% ภายในปี 2574

การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลเพื่อให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของโลก และความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นต่อระบบการแพทย์ของไทยในระดับโลก จะมีส่วนช่วยในการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์มายังประเทศไทยเมื่อข้อจำกัดการเดินทางในหลายประเทศผ่อนคลายลง

การพึ่งพาการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ของประเทศไทย เช่น วัตถุดิบสำหรับอุปกรณ์ที่ใช้แล้วทิ้งและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีความซับซ้อน เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้าและฮาร์ดแวร์ของโรงพยาบาล ถือเป็นโอกาสอันดีของผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศ ที่จะเข้ามาทำการผลิตในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีเป้าหมายที่จะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาตั้งฐานใหม่หรือร่วมทุนกับผู้รับเหมาในประเทศ เพื่อผลิตเครื่องมือแพทย์ผ่านโครงการและมาตรการจูงใจต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบและผู้ผลิตจากต่างประเทศในการจัดหาชิ้นส่วนและส่วนประกอบที่มีคุณภาพจากองค์กรขนาดเล็กและขนาดกลางในท้องถิ่นอีกด้วย

 

รับมือกับ New Normal

ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่ดี เป็นผลมาจากความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา แรงงานที่มีอุปกรณ์และความชำนาญ รวมไปถึงความหลากหลายทางชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์ สิ่งเหล่านี้ส่งผลดีอย่างมากต่อกิจกรรมการวิจัยและพัฒนา เพื่อรักษาการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และโรคอื่น ๆ ที่พบได้ทั่วไป

การแพร่ระบาดครั้งนี้ยังทำให้ผู้คนระวังตัวมากขึ้นในการไปพบแพทย์และรับบริการทางการแพทย์ ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น หุ่นยนต์ทางการแพทย์ ซอฟต์แวร์ และ telemedicine จึงมีแนวโน้มสูงขึ้น โรงพยาบาล และสถานพยาบาลหลายแห่งในประเทศไทย ได้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ร่วมกับการบริการ เช่น การใช้สมาร์ทโฟนเพื่อช่วยในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ (eHealth และ mHealth) เวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ telemedicine ที่ช่วยให้คำแนะนำทางการแพทย์จากระยะไกล รวมถึงอุปกรณ์ตรวจสุขภาพระยะไกลที่ใช้เซ็นเซอร์เข้ามาช่วย

ประเทศไทยได้วางตำแหน่งตัวเองเป็นศูนย์กลางการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ขั้นสูง ครอบคลุมถึงซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์สำหรับหุ่นยนต์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ supply chain ที่แข็งแกร่งในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะขยายกิจกรรมการวิจัยด้านหุ่นยนต์ทางการแพทย์ โดยมีตัวอย่างความสำเร็จบางส่วนได้แก่ หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ หุ่นยนต์ช่วยบำบัดสำหรับผู้ที่มีความต้องการพิเศษ และหุ่นยนต์กายภาพบำบัด

International Data Corporation ประเมินว่าตลาดหุ่นยนต์สำหรับใช้ทางการแพทย์ทั่วโลกนั้นมีมูลค่า 188,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 โดยในเอเชียและแปซิฟิกคิดเป็นสัดส่วนกว่า 2 ใน 3 ของการลงทุนทั้งหมดทั่วโลก

 

มาตรการผลักดันการลงทุนของ BOI

เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีอุปกรณ์ทางการแพทย์เพียงพอสำหรับรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 BOI ได้เพิ่มมาตรการจูงใจด้านภาษีเพื่อสนับสนุนการผลิต โดยให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปีสำหรับการผลิตเอทานอล (pharmaceutical grade) และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปีสำหรับ non-woven fabric ที่ใช้ในการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์

นอกเหนือจากการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3-8 ปีที่มีอยู่ปัจจุบัน ธุรกิจบางประเภทมีสิทธิ์ได้รับการลดภาษีเพิ่มเติมอีก 50 เปอร์เซ็นต์เป็นเวลา 3 ปี ได้แก่ การผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนทางการแพทย์ non-woven fabric เช่น spunbond หรือ meltblown ที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับหน้ากากหรือเครื่องมือแพทย์ ส่วนประกอบทางเภสัชกรรมในการผลิตยา รวมถึงการผลิตเทคโนโลยีชีวภาพสำหรับวัคซีนและชุดทดสอบ โดยมาตรการนี้มีผลครอบคลุมคำขอที่ส่งระหว่างเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2563 และมีเงื่อนไขการแจกจ่ายหรือการบริจาคภายในประเทศอย่างน้อย 50% ของปริมาณที่ผลิตได้ในปี 2563-2564

สำหรับบริษัทผู้ผลิตที่ต้องการปรับสายการผลิตเพื่อผลิตเครื่องมือแพทย์ BOI ยังได้ยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับเครื่องจักรที่จำเป็น โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีการนำเข้าภายในปี 2563 และยื่นคำขอภายในเดือนกันยายน 2563

เพื่อส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษการแพทย์ครบวงจร (EECmd) BOI ให้สิทธิ์หักภาษีรายได้นิติบุคคล 50% จากกำไรสุทธิที่ได้จากการลงทุนเป็นระยะเวลา 2 ปี

ในส่วนของสิทธิประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวกับภาษี BOI ให้การส่งเสริมบริษัทต่างประเทศโดยอนุญาตให้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน และอนุญาตชาวต่างชาติให้ถือหุ้นได้ไม่จำกัดจำนวน

BOI อนุญาตการออกสมาร์ทวีซ่า ซึ่งจะช่วยให้ช่างฝีมือหรือผู้ชำนาญการ นักลงทุน ผู้บริหาร และผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ใน 13 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทยและครอบครัว สามารถพักอาศัยอยู่ในประเทศได้นานถึง 4 ปีโดยไม่ต้องได้รับใบอนุญาตทำงาน โดยมี “Affluent, Medical and Wellness Tourism” และ “Medical Hub” เป็นสองอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมกลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพ

InterLoop เราพร้อมให้ความช่วยเหลือนักลงทุนในทุก ๆ ขั้นตอน ในด้านการขอยื่น BOI  ท่านสามารถติดต่อได้ที่ Line ID: @inlps  และ เบอร์โทรศัพท์: 097-106-9113

 

Author

Content Writer

All stories by: Content Writer

Leave a Reply

Your email address will not be published.