fbpx
Thailand Q1 Investment Applications soar 80% as FDI More Than Double says BOI

BOI อนุมัติมาตรการส่งเสริมการร่วมทุนในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์

1024 682 Earn Thongyam

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) อนุมัติมาตรการจูงใจเพื่อส่งเสริมการร่วมทุน (JV) ระหว่างบริษัทไทยและต่างชาติในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ โดยจะครอบคลุมการลงทุนทั้งโครงการใหม่และโครงการที่ได้รับการส่งเสริมอยู่แล้ว มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยมีโอกาสในการร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจ และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถยกระดับเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและตอบโจทย์ยานยนต์สมัยใหม่ได้

มาตรการส่งเสริมการร่วมทุนระหว่างบริษัทไทยและต่างชาติในกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ จะครอบคลุมทั้งผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แบบสันดาปภายในและผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า โดยแบ่งเป็น 2 กรณี คือ

  1. โครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนใหม่ โดยเป็นการจัดตั้งนิติบุคคลใหม่หลังวันที่ออกประกาศ ต้องเป็นการร่วมทุนระหว่างผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยและต่างชาติ โดยมีนิติบุคคลไทยถือหุ้นในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 30% ของทุนจดทะเบียน
  2. โครงการที่ได้รับการส่งเสริมอยู่เดิมในกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งเดิมเป็นหุ้นต่างชาติทั้งหมด และประสงค์จะร่วมทุนกับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 30% ของทุนจดทะเบียน

ทั้งนี้ผู้ถือหุ้นที่เป็นนิติบุคคลไทยตามเงื่อนไขของมาตรการนี้ต้องจัดตั้งมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี นับจนถึงวันยื่นคำขอ และต้องมีบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่า 60% ของทุนจดทะเบียน โดยทั้งสองกรณี จะต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท และต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในสิ้นปี 2025

ทั้งโครงการใหม่และผู้ผลิตชิ้นส่วนเดิมซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนอยู่แล้ว แต่เปลี่ยนมาเป็นกิจการร่วมทุนตามหลักเกณฑ์เดียวกันนี้ จะได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 2 ปี โดยระยะเวลายกเว้นภาษีรวมทั้งหมดจะต้องไม่เกิน 8 ปี

ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอยู่ในช่วงเวลาสำคัญของการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี กลุ่มผู้ประกอบการที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือ กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยกว่า 1,300 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็น SME ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้กิจการปรับตัวและพัฒนาให้ก้าวทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างรวดเร็วคือการเปิดโอกาสให้มีการร่วมทุนกับผู้ประกอบการจากต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาบุคลากร การขยายเครือข่ายทางธุรกิจ และการเพิ่มโอกาสในการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ

BOI คาดหวังว่ามาตรการที่น่าดึงดูดใจนี้จะกระตุ้นให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนทั้งต่างชาติและในประเทศร่วมมือกันพัฒนาอุตสาหกรรม ช่วยสนับสนุนให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับตำแหน่งของไทยในฐานะศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ และก้าวเข้าสู่ Supply Chain ในระดับโลกได้

 

บอร์ด EV ออกมาตรการหนุน HEV ยกระดับไทยสู่ฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าครบวงจร

คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติได้เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารขนาดที่นั่งไม่เกิน 10 คน แบบไฮบริด (HEV) ซึ่งเป็นเทคโนโลยียานยนต์ที่ผสมผสานทั้งระบบเครื่องยนต์สันดาปภายในและระบบไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสอดรับกับทิศทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในขณะที่ยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในระยะยาวผ่านการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์อย่างครบวงจรมากยิ่งขึ้น โดยมีเงื่อนไขสำคัญ 4 ด้าน คือ การลดการปล่อยคาร์บอน การลงทุนเพิ่มเติม การใช้ชิ้นส่วนสำคัญในประเทศ และการติดตั้งระบบความปลอดภัยของรถยนต์ เพื่อตอบโจทย์การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ การเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น “ศูนย์กลางการผลิตและการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทในระดับโลก”

มาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ HEV จะปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตให้อยู่ในระดับคงที่ในช่วง ปี 2028-2032 จากเดิมอัตราภาษีจะเพิ่มขึ้น 2% ทุก ๆ 2 ปี โดยกำหนดให้บริษัทผลิตรถยนต์ HEV ที่ประสงค์จะรับสิทธิ์ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข 4 ด้าน ดังนี้

  1. ต้องมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ไม่เกิน 120 g/km
  2. ต้องมีการลงทุนจริงเพิ่มเติม โดยบริษัทผู้ผลิตรถยนต์และ/หรือบริษัทในเครือในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2024 – 2027 ไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท
  3. ต้องมีการใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ
  4. ต้องมีการติดตั้งระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ (Advanced Driver Assistance System: ADAS) ในรถยนต์ HEV รุ่นที่ขอรับสิทธิ์ อย่างน้อย 4 จาก 6 ระบบ คือ ระบบเบรกฉุกเฉินขั้นสูง (AEB) ระบบเตือนการชนด้านหน้าของรถ (FCW) ระบบการดูแลภายในช่องจราจร (LKAS) ระบบเตือนการออกหรือเปลี่ยน ช่องจราจร (LDW) ระบบการตรวจจับจุดบอด (BSD) และระบบการควบคุมความเร็วของยานยนต์ (ACC)

นอกจากนี้บอร์ด EV ยังได้รับทราบผลของมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล ซึ่ง BOI ได้อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนโครงการในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งการผลิตยานยนต์ BEV ประเภทต่าง ๆ แบตเตอรี่และชิ้นส่วนสำคัญ รวมทั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า รวมมูลค่าเงินลงทุนกว่า 80,000 ล้านบาท ในขณะที่มาตรการ EV3 และ EV3.5 โดยกรมสรรพสามิต มีผู้เข้าร่วมมาตรการจำนวน 24 แบรนด์ คิดเป็นจำนวนยานยนต์ทุกประเภทรวมกันกว่า 118,000 คัน

 

Author

Earn Thongyam

All stories by: Earn Thongyam

Leave a Reply

Your email address will not be published.