ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นผลักดันยอดการจดทะเบียนธุรกิจใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์รวม 7,265 ราย เพิ่มขึ้น 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการปลูกข้าวติดอันดับหนึ่งในสามเป็นครั้งแรก
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่าสาเหตุนั้นมาจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น ความช่วยเหลือจากภาครัฐสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และแผนการเปิดประเทศโดยอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนมาเยือนภูเก็ตได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม
สำหรับมูลค่าการทุนจดทะเบียนธุรกิจใหม่นั้นอยู่ที่ 1.97 หมื่นล้านบาท ลดลง 35% เมื่อเทียบเป็นรายปีและลดลง 36% จาก 3.09 หมื่นล้านบาท ในเดือนมกราคม ขณะที่ตัวเลขยอดจดทะเบียนลดลง 0.3% จาก 7,283 ราย แต่นายทศพลกล่าวว่าไม่ใช่เรื่องน่ากังวล
“ยอดการจดทะเบียนธุรกิจใหม่เกิน 7,000 รายเป็นเวลาสองเดือนติดต่อกันนี้สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวของธุรกิจและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น”
ในช่วง 2 เดือนแรกของปียอดจดทะเบียนใหม่รวมอยู่ที่ 14,548 ราย เพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยมีทุนจดทะเบียนรวม 5.06 หมื่นล้านบาท
3 อันดับแรกของธุรกิจที่จดทะเบียนใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป (570) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (283) และธุรกิจปลูกข้าวจ้าว (225)
นับเป็นครั้งแรกของการปลูกข้าวที่ติด 1 ใน 3 อันดับแรก สาเหตุหลักเนื่องมาจากนโยบายของรัฐในการสนับสนุนการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเพื่อทำธุรกิจระหว่างชุมชน
จำนวนธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 583 ราย ลดลง 28% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยมีทุนจดทะเบียนรวม 6.36 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
การก่อสร้างอาคารทั่วไป อสังหาริมทรัพย์ และร้านอาหาร เป็นกลุ่มธุรกิจ 3 อันดับแรกที่เลิกประกอบกิจการมากที่สุด
ทางการคาดว่ายอดจดทะเบียนใหม่ในไตรมาสแรกจะอยู่ในช่วง 19,000-20,000 ราย และไตรมาสที่ 2 มีแนวโน้มขาขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยรวมในปี 2564 คาดว่าการจดทะเบียนธุรกิจใหม่จะอยู่ในช่วง 64,000-66,000 ราย
ปีที่แล้วมีการจดทะเบียนธุรกิจใหม่ 63,340 ราย ลดลงจาก 71,485 ในปี 2562 เนื่องจากผลกระทบของมาตรการล็อคดาวน์ที่บังคับใช้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19
ความต้องการพื้นที่สำนักงานยังคงดีอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าการระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อผู้เช่าจำนวนมาก แต่ความต้องการพื้นที่สำนักงานในเขตกรุงเทพฯ ในไตรมาสแรกยังคงมีสูงอยู่ โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เทคโนโลยี และโลจิสติกส์
อุปทานพื้นที่สำนักงานในกรุงเทพฯ (ตร.ม.)
อัตราการเช่าพื้นที่สำนักงานในกรุงเทพฯ Q1 2563 ถึง Q1 2564
นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและสื่อสารของบริษัทที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ คอลลิเออร์ส ประเทศไทย กล่าวว่าความต้องการพื้นที่สำนักงานในกรุงเทพฯ ยังคงดีอยู่แม้ว่าไตรมาสแรกของปีนี้จะลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่สี่ของปีก่อน
“ตัวขับเคลื่อนหลักของความต้องการมาจากผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ เทคโนโลยี และโลจิสติกส์ ซึ่งสร้างรายได้เพิ่มขึ้นและต้องการขยายธุรกิจด้วยการขยายพื้นที่สำนักงาน”
นายภัทรชัย กล่าวว่าความต้องการพื้นที่สำนักงานใหม่ในไตรมาสแรกยังมาจากกลุ่มสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการการท่องเที่ยวออนไลน์ รวมถึงผู้ค้าปลีกและผู้ค้าส่งผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์
ผลกระทบของโควิด-19 ทำให้บริษัทหลายแห่งจำเป็นต้องลดขนาดพื้นที่สำนักงาน ย้ายไปยังอาคารสำนักงานใหม่ที่ค่าเช่าถูกลง หรือปรับปรุงพื้นที่เดิมให้ทันสมัยมากขึ้น ในไตรมาสแรกของปีนี้ความต้องการใหม่ในตลาดพื้นที่สำนักงานในกรุงเทพฯ มีทั้งหมดกว่า 32,000 ตร.ม.
ณ สิ้นไตรมาสแรกอัตราการเช่าสำนักงานในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น 0.2% เป็น 93.8% โดยมีความต้องการสูงสุดอยู่ที่ย่านศูนย์กลางธุรกิจของสุขุมวิทซึ่งมีอัตราการเช่า 94.5% ลดลงจากไตรมาสที่สี่ของปี 2563 ขณะที่พื้นที่ทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ มีอัตราการเช่าสูงที่สุดในบรรดาทำเลรอบเมืองที่ 95.3%
ในช่วงเวลาเดียวกันอุปทานของพื้นที่สำนักงานในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น 0.2% จาก 9.078 ล้านตร.ม. ในช่วงปลายปีที่แล้วเป็น 9.098 ล้านตร.ม.
อุปทานใหม่ในช่วงสามเดือนแรกมาจากการที่สำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของบมจ.กรุงเทพประกันภัยที่ถนนกรุงเทพ-นนทบุรีในย่านวงศ์สว่างเสร็จสมบูรณ์ โดยมีพื้นที่เช่า 20,000 ตร.ม. และสำนักงานใหม่อีกแห่งหนึ่งที่พึ่งสร้างเสร็จ คือ WHA Tower ซึ่งเป็นสำนักงานเกรดเอสูง 25 ชั้น มีพื้นที่เช่า 24,023 ตร.ม. ตั้งอยู่บนถนนบางนา-ตราด กม. 7 ในสมุทรปราการ
“หลายบริษัทกำลังให้ความสนใจไปที่ถนนบางนา-ตราดเนื่องจากเป็นจุดเชื่อมระหว่างเมืองชั้นในและพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ความต้องการพื้นที่ในบริเวณนี้จะเพิ่มขึ้นอีกเมื่อระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเปิดตัวอย่างเป็นทางการ” นายภัทรชัยกล่าว
ในขณะเดียวกันอาคารสำนักงานใหม่ 3 โครงการ พื้นที่เช่ารวม 105,000 ตร.ม. ได้เลื่อนการเปิดตัวออกไป
คอลลิเออร์สคาดการณ์ว่าอุปทานของพื้นที่สำนักงานใหม่กว่า 485,500 ตร.ม. จะแล้วเสร็จในปี 2564 ตามด้วย 534,000 ตร.ม. ในปี 2565 จากอาคารสำนักงานทั้งหมดที่มีกำหนดจะแล้วเสร็จภายในปี 2568 58% อยู่ในย่านธุรกิจ เช่น ถนนพระราม 4 สุขุมวิท สีลม และสาทร ซึ่ง 82% จะเป็นพื้นที่เกรด A
ปัจจุบันราคาเสนอเช่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.4% เป็น 745 บาทต่อตร.ม.ต่อเดือน เมื่อเทียบกับไตรมาสที่สี่ของปีที่แล้ว แต่ค่าเช่าพื้นที่เกรด A ในย่านธุรกิจลดลง 0.5% จาก 1,108 บาท เหลือ 1,103 บาท อย่างไรก็ตามค่าเช่าสำนักงานโดยเฉลี่ยในทำเลรอบนอกของกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเนื่องจากผู้เช่าจำนวนมากย้ายออกจากใจกลางเมือง
Leave a Reply