การเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวรวดเร็วในรอบทศวรรษที่ผ่านมามีความน่าสนใจมาก โดยรอบหลายปีที่ผ่านมาจีนเป็นชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยอันดับต้นและน่าจับตาว่าหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง จะมีคลื่นการลงทุนของนักธุรกิจจีนมาไทยเพิ่มขึ้น
โดยการลงทุนจากจีนที่จะเข้ามายังไทยจะได้แรงสนับสนุนหลายประการทั้งนโยบายขยายฐานการลงทุนของจีนสู่ภายนอก การปรับเปลี่ยนซัพพลายเชนในหลายอุตสาหกรรม รวมถึงข้อได้เปรียบของที่ตั้งและนโยบายส่งเสริมการลงทุนในไทย
นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า การเข้ามาลงทุนของนักลงทุนชาวจีนและฮ่องกงในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเห็นชัดมาตั้งแต่ปี 2555 ที่เพิ่มก้าวกระโดด โดยปี 2555 เป็นปีแรกที่การขอส่งเสริมการลงทุนจากจีนเพิ่มขึ้นเกิน 100 โครงการ จากเดิมมีปีละ 40-50 โครงการ โดยปัจจัยที่ทำให้จีนขยายการลงทุนออกช่วงดังกล่าว เพราะต้นทุนแรงงานในจีนปรับเพิ่มขึ้นช่วงปี 2553-2558 กว่า 10% และหลังจากปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มอีก 6-8% ช่วงหลังปี 2558 ทำให้ไทยมีต้นทุนแรงงานต่ำกว่า
อีกส่วนของการออกมาลงทุนภายนอกของอุตสาหกรรมและนักลงทุนชาวจีน คือ นโยบายรัฐบาลจีนที่สนับสนุนให้ธุรกิจ และบริษัทที่พร้อมขยายการลงทุนออกมานอกประเทศ โดยไทยอยู่ในเส้นยุทธศาสตร์สายไหมใหม่ หรือ One belt one road ของจีน และเมื่อมี เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทำให้ดึงดูดการลงทุนจากความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและซัพพลายเชนในหลายธุรกิจ
รวมถึงไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนทุกระดับทำให้นักธุรกิจพร้อมตัดสินใจมาลงทุนง่ายขึ้นเรียกได้ว่าเป็นปัจจัยสนับสนุนที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมในการลงทุนที่นักลงทุนปัจจุบันให้ความสำคัญ
สำหรับปี 2562 การขอส่งเสริมการลงทุนของจีนที่ยื่นขอจากบีโอไอในการลงทุนในไทยมีถึง 249 โครงการ ลงทุนรวม 2.7 แสนล้านบาท (รวมโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน 1.9 แสนล้านบาท) โดยปี 2562 เป็นแรกที่การขอส่งเสริมการลงทุนจากจีนสูงกว่าการขอส่งเสริมการลงทุนจากญี่ปุ่น โดยสาเหตุหนึ่ง คือ ความรุนแรงของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่รุนแรงตั้งแต่ปี 2561 ทำให้อุตสาหกรรมย้ายฐานการผลิตออกจากจีนและมีจำนวนหนึ่งมาลงทุนอีอีซี
สำหรับการขอส่งเสริมการลงทุนจากจีนในปี 2563ลดลงเพราะโควิด-19 แพร่ระบาดกระทบการลงทุน และคำขอส่งเสริมการลงทุนจากจีนลดเหลือ 235 โครงการ ลงทุน 4.07 หมื่นล้านบาท เป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น ทั้งนี้มั่นใจว่าปี 2564-2565 จากลงทุนจากจีนในไทยจะเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน เพราะจีนมียุทธศาสตร์ขยายลงทุนมาไทย
นอกจากนี้หากดูการเปลี่ยนห่วงโซ่การผลิตโลก (Global Supplychain) ที่จะเกิดขึ้นหลังโควิด-19 ทำให้คาดหมายได้ว่าจะย้ายฐานการลงทุนจากจีนมายังไทยเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
การย้ายฐานการลงทุนจากจีนมายังไทยในส่วนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าได้แก่อุตสาหกรรมยางล้อ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเบาอย่างเฟอร์นิเจอร์ กระเป๋าเดินทางและเครื่องกีฬา ยานยนต์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ และอุตสาหกรรมอาหาร
ส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับสงครามการค้าโดยตรงแต่เข้ามาลงทุนในไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมและธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล อุตสาหกรรมไบโอเทคโนโลยี ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ การลงทุนและร่วมทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้า การขนส่ง และการตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามชาติ (National Headquarter) ซึ่งการลงทุนในอุตสาหกรรมจากจีนระยะต่อไปบีโอไอคาดหวังการลงทุนที่เป็นบริษัทชั้นนำและเป็นบริษัทที่มีเทคโนโลยีชั้นนำเพื่อยกระดับการผลิตในไทยมากขึ้น
“การที่ไทยเป็นฐานการลงทุนของอุตสาหกรรมจากจีนยังมีประโยชน์ที่จะเกิดกับผู้ประกอบการไทย คือ การถ่ายทอดเทคโนโลยีเนื่องจากในการลงทุนทั้งหมดมีผู้ประกอบการชาวจีน 30% ที่เข้ามาลงทุนโดยจับมือเป็นพาร์ทเนอร์กับผู้ประกอบการในไทย รวมถึงการที่บีโอไอสนับสนุนให้บริษัทที่มาลงทุนตั้งศูนย์การฝึกอบรม ศูนย์วิจัยและนวัตกรรม”
“การลงทุนในอุตสาหกรรมจากจีนระยะต่อไปในไทย จะเน้นในเรื่องการลงทุนจากบริษัทชั้นนำที่มีเทคโนโลยีสูง” นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการบีโอไอ
ขณะที่ในอนาคตจะมีความร่วมมือร่วมกับบริษัทเทคโนโลยีที่เป็นบริษัทที่มีเทคโนโลยีระดับสูง (Tech Base High value) เข้ามาร่วมกับบริษัทและสถาบันการศึกษาของไทยในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน หรือในเรื่องของการพัฒนาคนและกำลังแรงงานในอีอีซีด้วย
สำหรับอุตสาหกรรมที่บีโอไอจะให้ความสำคัญดึงดูดการลงทุนจากจีนมาไทยเพิ่มเติมมีอยู่ 6-7 กลุ่ม เน้นบริษัทชั้นนำ ที่จะดึงบริษัทอื่นมาเป็นซัพพลายเชนให้มาลงทุนไทยต่อเนื่อง ได้แก่
1.กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (NEV) รวมทั้งการลงทุนในแบตเตอรี่ EV การผลิตชิ้นส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับรถ EV
2.อุตสาหกรรมสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ที่เกี่ยวข้องกับระบบเซนเซอร์ Internet of Things (IoT) ที่มีศักยภาพให้ขยายลงทุนหรือลงทุนเพิ่ม
3.อุตสาหกรรมดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งจีนมีเทคโนโลยีนี้มากและเป็นผู้นำที่มีสตาร์ทอัพที่พัฒนาเทคโนโลยีนี้มาก ซึ่งเราอยากได้เข้ามาลงทุนและทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพไทย
4.ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์
5.อุตสาหกรรมไบโอเทคโนโลยี ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมการแพทย์ที่เป็นอุตสาหกรรมจีโนมิกส์ที่มีพื้นที่รองรับลงทุนในอีอีซี
6.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีชนิดพิเศษ
7.การสนับสนุนให้ตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศของบริษัทจีน ที่มาลงทุนไทยเพื่อใช้เป็นฐานธุรกิจในภูมิภาค
ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนมากขึ้นในไทยยังมี 5 ประเด็นที่ควรเร่งรัดและปรับปรุงเพื่อรองรับการลงทุน คือ
1.ปลดล็อกกฎระเบียบที่เป็นปัญหาอุปสรรคกับการลงทุน เช่นผ่อนคลายและแก้กฎระเบียบที่จะช่วยดึงแรงงานกลุ่มที่มีความสามารถสูงเข้ามาทำงานในประเทศมากขึ้น
2.เร่งเดินหน้าโครงการอีอีซีในส่วนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล
3.การเปิดตลาดเขตการค้าเสรีและข้อตกลงทางการค้ากับต่างประเทศ
4.พัฒนาบุคลากร สร้างคนให้มีความพร้อมเรื่องดิจิทัลและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
และ 5.การสร้างและพัฒนาซัพพลายเชนเพื่อรองรับอุตสาหกรรในอนาคต เช่นรถยนต์ไฟฟ้า โดยต้องพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำเพื่อให้ผู้ประกอบการในประเทศไทยได้ประโยชน์มากที่สุด
“อีก 5-10 ปี จากนี้จีนจะเป็นผู้นำการลงทุนในไทยร่วมกับญี่ปุ่น หลายอุตสาหกรรมที่พูดถึงจีนเริ่มมาลงทุนในไทยแล้วช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เราอยากให้มาลงทุนเพิ่มและใช้บริษัทไทยเป็นพาร์ทเนอร์มากขึ้น การชักจูงและดึงการลงทุนต้องเริ่มทำเชิงรุก เพราะหลังโควิด-19 การแย่งชิงการลงทุนจะรุนแรงขึ้น ยื่นข้อเสนอที่ดีให้บริษัทเป้าหมายจากจีน-ฮ่องกงพิจารณาเพื่อดึงให้เกิดการลงทุนในไทยในอุตสาหกรรมที่เราต้องการ”
แหล่งอ้างอิง: กรุงเทพธุรกิจ
Leave a Reply