fbpx

โควิด19 ตัวกระตุ้นการเติบโตของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางทางการแพทย์ระดับโลก

150 150 Content Writer

เมื่อ 40 ปีก่อนศาสตราจารย์ เซอร์นิค ไวท์ เดินทางจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ดมายังประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมหน่วยวิจัยทางการแพทย์เล็ก ๆ แห่งหนึ่ง มีหน้าที่ในการรักษาโรคมาลาเรียและการรีดพิษงู ปัจจุบันเขาเป็นผู้นำทีมนานาชาติในการทดลองคิดค้นวัคซีนสำหรับรักษาโรคโควิด-19 จากห้องวิจัยของเขาที่มหาวิทยาลัยมหิดล

ในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมาในประเทศไทย หน่วยวิจัยโรคเขตร้อนมหิดลอ๊อกซ์ฟอร์ด (MORU) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด มหาวิทยาลัยมหิดล และองค์กร Wellcome Trust จากลอนดอน ได้เติบโตขึ้นจากนักวิจัย 3 คนเป็น 600 คน กิจกรรมต่าง ๆ ได้แพร่กระจายจากประเทศไทยไปถึงประเทศต่าง ๆ ทั่วทวีปเอเชียและแอฟริกา MORU ซึ่งขณะนี้เป็นผู้นำในการคิดค้นการรักษาเพื่อต่อสู้กับโรคเขตร้อนที่ร้ายแรง กำลังรับสมัครบุคลากรทางการแพทย์แนวหน้า 40,000 คน ในการทดลองคลินิกระดับโลกขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวเพื่อทดสอบว่ายา hydroxychloroquine และ chloroquine สามารถป้องกันโควิด-19 ได้หรือไม่

“เรากำลังทำสิ่งนี้จากประเทศไทยเพราะเรามีประสบการณ์ในการทดลองระดับชาติขนาดใหญ่”

เซอร์นิคซึ่งดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ทั้งที่อ็อกซ์ฟอร์ดและมหิดลและได้รับตำแหน่งอัศวินในปี 2560 โดยควีนอลิซาเบธ แห่งสหราชอาณาจักร จากงานบริการด้านสาธารณสุขทั่วโลกกล่าวในการให้สัมภาษณ์

“ประเทศไทยเป็นผู้นำในด้านงานวิจัยทางการแพทย์ มีมาตรฐานการศึกษาที่ดี และได้สร้างสภาพแวดล้อมที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และความรู้”

ประเทศไทยได้รับการยกย่องในระดับสากลในฐานะจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทางการแพทย์จากการดึงดูดของโรงพยาบาลระดับโลกในกรุงเทพฯ สิ่งที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนักคือระบบนิเวศด้านการดูแลสุขภาพที่ช่วยเปลี่ยนเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กลายเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ที่ดึงดูดนักลงทุนและนักวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ทั้งวัคซีน จีโนมิกส์ และชีวเภสัชภัณฑ์ ตลอดจนอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง

แม้ว่าการแพร่รระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในส่วนอื่น ๆ ของโลก แต่กลับช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในภาคการแพทย์ของประเทศไทย ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ 52 โครงการมูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาท (มากกว่า 400 ล้านดอลลาร์) ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพิ่มขึ้นคิดเป็น 170 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนโครงการและ 123 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

อีกหนึ่งองค์กรที่เพิ่งได้รับการสนับสนุนจาก BOI คือ Apsalagen Co. Ltd บริษัทร่วมทุนระหว่าง Siam Bioscience ของไทยและ Haase Investment ของเยอรมนีซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นหลักของ Biotechrabbit GmbH ในเบอร์ลิน โดยเป็นความร่วมมือเพื่อการผลิตน้ำยาทางชีวภาพและสารผสมหลักที่ใช้ในการผลิตชุดทดสอบ (RT-PCR) สำหรับการตรวจหาเชื้อโควิด-19

 

ความสำเร็จของประเทศไทยในการดึงดูดการลงทุนภาคการแพทย์ ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยหลัก 2 ประการ

ประการที่หนึ่ง คือแรงจูงใจที่เสนอโดย BOI สำหรับบริษัทไทยและต่างชาติที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ทั้งการลดหย่อนภาษีสูงสุดถึง 13 ปีและสมาร์ทวีซ่าที่ช่วยให้นักวิจัยชาวต่างชาติ พนักงานที่สำคัญอื่น ๆ และครอบครัวสามารถอยู่ในประเทศได้ถึงสี่ปี

ประการที่สอง คือผลงานของประเทศไทยทั้งในด้านจำกัดการแพร่กระจายของโควิด-19 และการดำเนินงานด้านวัคซีนอย่างจริงจัง

นับตั้งแต่การแพร่ระบาดเริ่มขึ้น ประเทศไทยได้รับการยกย่องจากนานาชาติในเรื่องอัตราการติดเชื้อที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับประชากร 70 ล้านคน ในช่วงเวลาเดียวกันประเทศไทยยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีรายได้ปานกลางประเทศแรกที่เริ่มการทดลองทางคลินิกเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาขึ้นเอง  นอกเหนือจากการทดลองระดับโลกของอ๊อกซ์ฟอร์ดมหิดลเกี่ยวกับ hydroxychloroquine และ chloroquine มหาวิทยาลัยในไทยและบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพอื่น ๆ ก็กำลังดำเนินการกับวัคซีนอีกอย่างน้อยสามแบบ

 

 

ในการศึกษาวัคซีนที่มีความก้าวหน้าสูงที่สุด ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการวิจัยและพัฒนาวัคซีน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chula VRC) กำลังจะเริ่มการทดลองในมนุษย์สำหรับวัคซีนที่ได้รับการทดสอบกับหนูและลิงเรียบร้อยแล้วนับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อ 15 ปีที่แล้ว Chula VRC ได้ดำเนินการอย่างเงียบ ๆ เกี่ยวกับวัคซีนเพื่อต่อสู้กับโรคร้ายเช่น HIV และไข้เลือดออก โดยร่วมมือกับรัฐบาลและสถาบันการศึกษาหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย เป็นต้น

ตอนนี้วัคซีนโควิด-19 ซึ่งใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า mRNA กำลังได้รับความสนใจจากสื่อต่างประเทศ และหากการทดลองในมนุษย์ประสบความสำเร็จ ทีมงานที่นำโดย ดร.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม หวังที่จะทำงานร่วมกับผู้ผลิตในประเทศไทย อเมริกาเหนือ และเยอรมนีเพื่อผลิตวัคซีนจำนวน 30 ล้านโดสเพื่อใช้ในประเทศไทยและอีก 6 ประเทศในเอเชีย

ดร.เกียรติ กล่าวว่า ทีมของเขากำลังร่วมมือกับการศึกษาของจุฬาลงกรณ์ซึ่ง ดร.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา จากศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ ร่วมกับบริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม สตาร์ทอัพจากศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พัฒนาวัคซีนอีกแบบหนึ่งโดยใช้โปรตีนจากพืช

“เป็นเรื่องดีมากที่มีการพัฒนาวัคซีนมากกว่า 1 แบบในประเทศไทยจากกว่า 180 แบบทั่วโลก”  – ดร.เกียรติ กล่าว

ขณะเดียวกัน BioNet-Asia บริษัทร่วมทุนฝรั่งเศส-ไทยที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ กำลังดำเนินการเกี่ยวกับวัคซีนจากดีเอ็นเอด้วยเทคนิคของตัวเอง เพื่อเริ่มต้นการทดลองในมนุษย์และพร้อมที่จะผลิตวัคซีนจำนวนหลายล้านโดสไม่ว่าวัคซีนแบบใดของไทยจะได้รับการอนุมัติก่อน

BioNet ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2544 โดยหุ้นส่วนที่เคยทำงานร่วมกับผู้ผลิตวัคซีนในยุโรป ได้เปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาในอยุธยาในปี 2552 ตั้งแต่นั้นมาได้พัฒนาวัคซีนเพื่อต่อสู้กับโรคติดเชื้อ เช่น ไอกรน ไข้เลือดออก และซิกา (ร่วมกับสถาบันปาสเตอร์ในปารีส)

ในปีนี้ BioNet ได้หยุดการทำงานอื่น ๆ ทั้งหมดเพื่อมุ่งเน้นพนักงานที่มีทักษะทั้ง 250 คนไปยังการพัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยใช้เทคโนโลยี ‘Recombinant DNA’   Pham Hong Thai  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BioNet กล่าวว่าในขณะที่นักวิจัยโควิด-19 จำนวนมากในประเทศตะวันตกต้องร่วมมือกับผู้ผลิตยาในการผลิตขั้นสุดท้าย บริษัทของเขาไม่เพียงแค่พัฒนาวัคซีนเท่านั้นแต่ยังสามารถทำการผลิตเองได้ด้วย “ภายในพื้นที่อุตสาหกรรมเดียวเรามีทั้งนักวิจัยและทีมผู้ผลิตที่ทำงานร่วมกัน” เขากล่าว

ย้อนกลับไปที่ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ดมหิดล MORU ทีมของเซอร์นิค ไวท์กำลังดำเนินการศึกษาระดับโลกที่หวังว่าในที่สุดจะสามารถระบุได้ว่า hydroxychloroquine และ chloroquine ซึ่งถูกใช้ในการรักษาโรคมาลาเรียและโรคไขข้อมาเป็นเวลากว่า 60 ปี จะสามารถป้องกันโควิด-19 ได้หรือไม่

เซอร์นิคเชื่อว่าเขาอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสม “ในแง่ของการเป็นศูนย์กลางความร่วมมือระหว่างประเทศประเทศไทยทำได้ดีมาก” เขากล่าว “โควิด-19 แสดงให้เห็นว่าโลกใบนี้เล็กมาก ประเทศต่างๆไม่สามารถคิดถึงแต่ตัวเองได้ และประเทศไทยมีวิสัยทัศน์ที่จะเข้าใจถึงความสำคัญของสุขภาพระดับโลกเช่นเดียวกับสุขภาพของประเทศ”

 

InterLoop เราพร้อมให้ความช่วยเหลือนักลงทุนในทุก ๆ ขั้นตอน ในด้านการขอยื่น BOI  ท่านสามารถติดต่อได้ที่ Line ID: @inlps  และ เบอร์โทรศัพท์: 097-106-9113
Author

Content Writer

All stories by: Content Writer

Leave a Reply

Your email address will not be published.