fbpx

ภาวะเงินเฟ้อ กับการฟื้นตัวของประเทศไทย

1024 683 Content Writer

แม้การท่องเที่ยวจะกลับมาแต่การฟื้นตัวของประเทศไทยยังถูกขัดขวางจากภาวะเงินเฟ้อ

 

ในขณะที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัวกลับมาอีกครั้งหลังจากการเปิดประเทศครั้งใหญ่ที่สุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นและการผลักดันการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำกำลังคุกคามการฟื้นตัวที่เปราะบาง

ประเทศไทยเริ่มต้นปีด้วยมุมมองที่เป็นบวก โดยกระทรวงการคลังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะมีการเติบโต 4% ในปี 2022 ตั้งแต่เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 700,000 คน เทียบกับเพียง 428,000 คน ในปีที่แล้ว ซึ่งการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวนี้คาดว่าจะสร้างรายได้ถึง 1.2 ล้านล้านบาท

แต่ด้วยผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นและสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน เมื่อวันที่ 27 เมษายน ได้มีการปรับลดตัวเลขคาดการณ์ GDP ลงเหลือ 3.5%

“ในช่วงปลายปี 2021 และต้นปี 2022 มีความหวังว่าการฟื้นตัวหลังโควิด-19 จะดีขึ้น แต่ตอนนี้เราผ่านมาเกือบจะครึ่งปีแล้ว ภาวะเศรษฐกิจของโลกกลับไม่เอื้ออำนวยอย่างมาก” Jay Harriman ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทที่ปรึกษาด้านนโยบายสาธารณะ Bower Group Asia กล่าว

เช่นเดียวกันกับประเทศอื่น ๆ การฟื้นตัวของประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตในยูเครนที่เริ่มขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจรวมถึงผลักดันราคาพลังงานและวัตถุดิบ เช่น ข้าวสาลีและเหล็กให้สูงขึ้น ผลที่ตามมาก็คือต้นทุนการผลิตและการขนส่งทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น

“ดูเหมือนว่าสงครามจะยังไม่ยุติในเร็ว ๆ นี้ และเราคาดว่าราคาจะยังคงสูงอยู่จนถึงปีหน้า ซึ่งสิ่งนี้มีจะผลกระทบต่อกำลังซื้อของคนไทยอย่างแน่นอน” ดร. กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าว

ตั้งแต่น้ำมันสำหรับทำอาหารไปจนถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ราคาที่สูงขึ้นกำลังใกล้เข้ามา ตามที่ผู้ผลิตบางรายได้ปออกมาระกาศ

Thai President Foods บริษัทผู้ผลิตมาม่าบอกกับพันธมิตรและผู้ค้าปลีกว่าต้นทุนการขนส่ง แป้งสาลี และน้ำมันปาล์มที่สูงขึ้นทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาส่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นจาก 143 บาท เป็น 145 บาท สำหรับกล่อง 30 ชิ้น ซึ่งจะทำให้ราคาขายปลีกเพิ่มขึ้นจาก 6 บาท เป็น 6.50 ถึง 7 บาท

“การเพิ่มขึ้นของราคาอาหารจะส่งผลกระทบมากที่สุดต่อครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ” ดร. กิริฎา กล่าว พร้อมเสริมว่าผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าครอบครัวเหล่านี้ใช้จ่ายรายรับเกือบครึ่งหนึ่งไปกับค่าอาหาร

เพื่อเป็นการช่วยเหลือ รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลากหลายรูปแบบเพื่อเพิ่มอำนาจการใช้จ่ายของผู้บริโภค รวมถึงออกตัวมาตรการบรรเทาทุกข์ตามเป้าหมายสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย

“มันเพียงพอที่จะช่วยให้ผ่านไปได้ แต่แน่นอนว่าจะไม่ครอบคลุมถึง 100% ของราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ” ดร. กิริฎา กล่าว

ในขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ของไทยยังคงอยู่ในระดับสูงตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 13 ปีที่ 4.71% เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนเมษายนเพิ่มขึ้น 4.65% จากปีก่อนหน้า โดยมีแรงหนุนจากราคาอาหาร ค่าการขนส่ง และพลังงานที่สูงขึ้น ซึ่งแม้จะมีการชะลอตัวเล็กน้อยแต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วกระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะแตะระดับ 5% ในไม่ช้า

ราคาของค่าขนส่งและพลังงานในประเทศปรับมีการตัวสูงขึ้นภายหลังจากการยกเลิกการตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร ซึ่งใช้มาตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคมเพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น โดยกำหนดเพดานราคาใหม่ไว้ที่ 35 บาทต่อลิตร และราคาปัจจุบันที่ 32 บาทต่อลิตร ซึ่งจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นในช่วงเดือนถัดไป

การยกเลิกการตรึงราคาอาจส่งผลให้มีการปรับขึ้นค่าโดยสาร ซึ่งบริษัทต่าง ๆ พยายามฝืนมาตั้งแต่เดือนมกราคม นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง นายกสมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าว “สมาคมจะจัดประชุมเร็ว ๆ นี้เพื่อหารือเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมการขนส่งและกรอบเวลาที่เหมาะสมในการดำเนินการ”

การผลักดันค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศโดยสหภาพแรงงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ ต้องหยุดชะงักลงเนื่องจากทางการและภาคธุรกิจต่างไม่เห็นด้วยกับอัตราคงที่ที่ 492 บาทต่อวัน ที่มีการเสนอเพิ่มขึ้นจากระดับ 313 ถึง 336 บาท

แม้ว่าค่าแรงที่เพิ่มขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อคนงานและช่วยรับมือกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ดร. กิริฎา เตือนว่าการขึ้นค่าแรงเกือบ 50% ตามที่สหภาพแรงงานร้องขอนั้นอาจนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงได้ โดยไม่เพียงแต่ต้นทุนสินค้าและบริการจะเพิ่มขึ้นเมื่อค่าแรงขั้นต่ำสูงขึ้น แต่เงินได้ของพนักงานที่ไม่ใช่ค่าแรงขั้นต่ำก็จะต้องเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

Harriman กล่าวว่าความกังวลเรื่องแรงงานและต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นจะส่งผลต่อความน่าดึงดูดของการลงทุนจากต่างประเทศของไทยด้วยเช่นกัน

แต่โดยรวมแล้วประเทศยังมีสัญญาณการฟื้นตัว ดร. นณริฏ พิศลยบุตร นักเศรษฐศาสตร์ กล่าว โดยสังเกตว่าแม้ GDP จะไม่ได้อยู่ใกล้ระดับช่วงก่อนเกิดโรคระบาด แต่ก็ขยับเพิ่มขี้น 1.6% ในปี 2021 จากความต้องการส่งออกที่แข็งแกร่งหลังจากหดตัวลง 6.1% ในปี 2020

ดร. นณริฏ ซึ่งเป็นนักวิจัยของ TDRI กล่าวว่า แม้การฟื้นตัวจะมีเพียงเล็กน้อยแต่คาดว่าเศรษฐกิจจะ “เติบโตต่อไป แต่ค่อนข้างช้า” และอาจกลับสู่ระดับเดิมก่อนเกิดโรคระบาดในปีหน้า

 

Author

Content Writer

All stories by: Content Writer

Leave a Reply

Your email address will not be published.