แนวโน้มตลาดเกิดใหม่: ความร่วมมือระดับโลกเพิ่มสูงขึ้นในปี 2021
หลังจากซัพพลายเชนและการเดินทางระหว่างประเทศต้องหยุดชะงักลงอย่างรุนแรงในปีก่อนหน้า ในปี 2564 เกิดความร่วมมือระดับโลกเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสถาบัน ภาคธุรกิจ และรัฐบาลต่างพยายามทำงานร่วมกันเพื่อค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาความท้าทายที่สำคัญบางประการของโลก
การเริ่มต้นระบาดของ Covid-19 ในช่วงต้นปี 2020 มีผลกระทบอย่างมากต่อการเชื่อมต่อทั่วโลก การปฏิบัติตามข้อจำกัดด้านพรมแดนมีผลต่อการจัดหาสินค้าและทำให้การเดินทางข้ามประเทศเป็นเรื่องที่ยากมาก
เพื่อปรับตัวให้เข้ากับความท้าทายเหล่านี้ รัฐบาล ภาคธุรกิจและสถาบันหลายแห่งได้ดำเนินกลยุทธ์ไปสู่การพึ่งพากันในภูมิภาค (Regionalisation)
ตัวอย่างเช่นในเดือนเมษายน 2020 รัฐมนตรีต่างประเทศของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ลงนามรับรองโครงการร่วมกันเพื่อต่อสู้กับโรคระบาด ได้แก่ การจัดตั้งกองทุนร่วมสำหรับ Covid-19 เพื่อให้ตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ได้อย่างรวดเร็ว
ในเดือนเดียวกันกลุ่มประเทศความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ (GCC) ก็มีมติจัดตั้งเครือข่ายการจัดหาอาหารเพื่อปกป้องภูมิภาคจากความไม่มั่นคงด้านอาหารเช่นกัน
ความร่วมมือด้านวัคซีน
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ปี 2020 มีแนวโน้มมุ่งไปสู่การแก้ปัญหาในระดับภูมิภาค ปี 2021 เราได้เห็นถึงความร่วมมือในระดับโลกที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลและสถาบันระหว่างประเทศมีการทำงานร่วมกันในการเริ่มต้นโครงการจำนวนมากเพื่อช่วยให้ประเทศต่าง ๆ ฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19
โครงการที่สำคัญที่สุดคือ Covax ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง Gavi, Vaccine Alliance, Coalition for Epidemic Predness Innovations และ World Health Organisation ถูกสร้างขึ้นเพื่อการประสานงานทรัพยากรระหว่างประเทศเพื่อให้แน่ใจว่าประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงการตรวจ การรักษา และเหนือสิ่งอื่นใดคือวัคซีนโควิด-19 ได้ในราคาที่เหมาะสม
นับตั้งแต่มีการเริ่มจำหน่ายวัคซีนในเดือนกุมภาพันธ์ ทางโครงการได้ช่วยจัดส่งวัคซีนมากกว่า 610 ล้านโดส ไปยังประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางจำนวน 144 ประเทศ แต่ถึงแม้จะมีความพยายามดังกล่าว Covax ก็ยังไม่เพียงพอที่จะปิดช่องว่างของจำนวนการฉีดวัคซีนระหว่างตลาดที่พัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่
ในขณะที่มีการส่งวัคซีนมากกว่า 90 ล้านโดส ไปยังแอฟริกาผ่าน Covax และ African Vaccine Acquisition Trust มีเพียง 4 จาก 54 ประเทศเท่านั้นที่อยู่บนเส้นทางตามเป้าหมายของ WHO ในการฉีดวัคซีนให้ครบ 40% ของประชากรทั้งหมดภายในสิ้นปี ตามรายงานล่าสุดจาก Mo Ibrahim Foundation
สิ่งนี้นำไปสู่การเรียกร้องให้มีการประสานงานทั่วโลกมากขึ้นเกี่ยวกับการกระจายวัคซีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการค้นพบสายพันธุ์ Omicron ในแอฟริกาใต้ โดยเมื่อไม่นานนี้เจ้าหน้าที่จาก WHO, UN High Commission for Refugees และ International Organisation for Migration ได้เรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศกลุ่ม G20 ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศที่มีรายได้น้อยมากขึ้น
ความช่วยเหลือทางการเงิน
ในขณะที่ Covax มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขผลกระทบทางการแพทย์จากโรคระบาด มาตรการความร่วมมืออื่น ๆ ได้พยายามให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อชดเชยผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุด
หนึ่งในนั้นคือ Debt Service Suspension Initiative (DSSI) ดำเนินการโดย G20 เพื่อให้บริการแก่ 73 ประเทศที่มีรายได้ต่ำสามารถเลื่อนการชำระหนี้เงินกู้จากรัฐบาลและธนาคารของประเทศสมาชิก G20 เริ่มต้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2020 จนถึงสิ้นปี 2021
เพื่อส่งเสริมโครงการดังกล่าวยังมี G20 Common Framework for Debt Treatments Beyond the DSSI ที่ก่อตั้งขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2020 โดย G20 และ Paris Club กลุ่มเจ้าหนี้ชาวตะวันตกจำนวน 22 ประเทศ มีผลบังคับใช้กับ 73 ประเทศที่มีสิทธิ์ได้รับการสนับสนุนภายใต้ DSSI โดยจะมีความแตกต่างจากโครงการแรกตรงที่เป็นการบรรเทาทุกข์เป็นกรณี ๆ ไป และให้ความช่วยเหลือตั้งแต่การปรับโครงสร้างหนี้โดยสมบูรณ์หรือการลดจำนวนจนถึงการเลื่อนการชำระหนี้ในระยะยาว
อีกโครงการหนึ่งที่จัดทำขึ้นเพื่อบรรเทาความกังวลด้านการเงินคือการจัดสรรสิทธิพิเศษถอนเงิน (SDR) ที่เพิ่มขึ้น ซึ่ง SDR นั้นเป็นสินทรัพย์สำรองระหว่างประเทศที่ถูกผูกไว้กับ 5 สกุลเงิน ได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐ เยน ยูโร ปอนด์สเตอร์ลิง และหยวน บริหารโดย IMF และใช้โดยประเทศสมาชิกเพื่อเสริมทุนสำรองของตนเอง
เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม คณะกรรมการ IMF ได้อนุมัติการจัดสรร SDR มูลค่า 6.5 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ถือเป็นการจัดสรรใหม่ครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2009 และเป็นการจัดสรรที่ใหญ่ที่สุด โดยจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของ 3.18 แสนล้านดอลลาร์ จากครั้งก่อนหน้านี้
แม้จะไม่ได้ถูกมองว่าเป็นคำตอบแบบครอบคลุมสำหรับทุกปัญหาเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 แต่มาตรการเหล่านี้คาดว่าจะช่วยให้ตลาดเกิดใหม่จัดการกับปัญหาสภาพคล่องที่อาจเผชิญอยู่ ซึ่งในหลายกรณีเกิดผลกระทบรุนแรงมากขึ้นจากการลดความช่วยเหลือระหว่างประเทศในปีก่อน
การขยายโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก
สถาบันระหว่างประเทศไม่ได้เป็นหน่วยงานเดียวที่ใช้แนวทางระดับโลกในปี 2021 แต่ยังมีประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกจำนวนหนึ่งยืนยันถึงความมุ่งมั่นต่อโลกาภิวัตน์ในช่วงปีที่ผ่านมา
หลังจากการใช้จ่ายที่ลดลงในปี 2020 ในหลายโครงการที่เกี่ยวข้องกับ Belt and Road Initiative (BRI) จีนได้ร่างวิสัยทัศน์ที่ปรับปรุงใหม่สำหรับอนาคตของโครงการ โดยเน้นที่ 3 ด้าน ได้แก่ Green Silk Road, Health Silk Road และ Digital Silk Road ซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาโครงการที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในภาคสุขภาพและ ICT ของตลาดเกิดใหม่ต่าง ๆ
ในขณะเดียวกัน เมื่อเดือนมิถุนายน G7 ได้ประกาศเปิดตัวแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกของตนเองที่เรียกว่า Build Back Better World เพื่อแข่งขันกับ BRI โดยรายละเอียดของโปรแกรมยังไม่มีการเปิดเผย แต่เจ้าหน้าที่ G7 กล่าวว่าโครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อปิดช่องว่างด้านโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 40 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตลาดที่มีรายได้สูงและตลาดเกิดใหม่
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม สหภาพยุโรปก็ได้เปิดตัว Global Gateway ซึ่งเป็นกลยุทธ์ด้านโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศของตนเอง โดยมีเป้าหมายที่จะระดมเงินลงทุนจำนวน 3 แสนล้านยูโร จนถึงปี 2027 เพื่อช่วยในการฟื้นตัวจากโรคระบาดทั่วโลก
การเปิดตัวหรือการดำเนินงานต่อเนื่องของโครงการเหล่านี้เกิดขึ้นเนื่องจากตลาดเกิดใหม่หลายแห่งหันมาใช้โครงการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากโคโรนาไวรัส โดยหลาย ๆ แห่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือการพัฒนาที่ยั่งยืน
บทบาททางการทูตที่เพิ่มขึ้น
นอกเหนือจากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นตัวจากโคโรนาไวรัสแล้ว ยังมีความร่วมมือระดับโลกที่สูงขึ้นเกี่ยวกับประเด็นระยะยาวอื่น ๆ อีกตลอดปี 2021
หลังจากการพูดคุยและการเจรจากันมาอย่างยาวนาน 136 ประเทศได้ลงนามในข้อตกลงเพื่อดำเนินการจัดเก็บอัตราภาษีนิติบุคคลทั่วโลกที่ 15%
ข้อตกลงครั้งสำคัญนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อจำกัดการแข่งขันด้านภาษีในเชิงรุก และอาจเพิ่มรายได้ภาษีถึงประมาณ 1.5 แสนล้านดอลลาร์ในแต่ละปี ตามรายงานของ Organisation for Economic Cooperation and Development
ข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นชัยชนะของการทูตทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากการที่ตลาดเกิดใหม่จำนวนหนึ่งใช้อัตราภาษีที่ต่ำเป็นแรงจูงใจในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ตลาดเกิดใหม่บางแห่ง เช่น เคนยา ไนจีเรีย ปากีสถาน และศรีลังกา ยังไม่ได้ลงนามในแผนดังกล่าว
ในขณะเดียวกัน เหตุการณ์ทางการทูตที่อาจจะใหญ่ที่สุดของปีคือการประชุม UN Climate Change Convention (COP26) ซึ่งมีตัวแทนจากกว่า 200 ประเทศ จัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคมถึง 12 พฤศจิกายน เพื่อหารือเกี่ยวกับวิธีการลดการปล่อยมลพิษทั่วโลก
ผลลัพธ์คือคำมั่นที่จะลดการใช้พลังงานถ่านหินและลดการตัดไม้ทำลายป่า ในขณะที่กว่า 100 ประเทศได้ลงนามใน Global Methane Pledge ซึ่งนำโดยสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป มีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทน 30% ภายในปี 2030
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นพ้องในข้อตกลงครั้งสำคัญในการปฏิรูปตลาดคาร์บอนทั่วโลก และปรับปรุงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการซื้อขายคาร์บอน ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การลดปริมาณคาร์บอน (Decarbonisation)
อย่างไรก็ตาม COP26 นั้นอ่อนแอลงเนื่องจากการขาดประธานาธิบดี Xi Jinping ของจีน และประธานาธิบดี Vladimir Putin ของรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้นำของประเทศผู้ก่อมลพิษหลักของโลก รวมถึงมีประเทศตลาดเกิดใหม่จำนวนหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอบางส่วนที่เสนอโดยประเทศที่พัฒนาแล้ว
Leave a Reply