นายกฯเห็นชอบในหลักการเปิดส่งเสริมการลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษในไทยอีก 4 ภาค มอบระดับจังหวัดเปิดรับฟังความเห็นคนในพื้นที่ ให้บีโอไอปรับสิทธิประโยชน์ดึงนักลงทุน ชี้ต้องปฏิรูปเศรษฐกิจ ลุกให้เร็ว ก้าวให้ไว เพื่อรองรับหลังโควิด-19 คลี่คลาย พร้อมให้หาแนวทางดึงนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ มาลงทุนใน 10 เขตเศรษฐกิจชายแดนที่เดินหน้าไปแล้ว เผย 5 เขตเศรษฐกิจชายแดนมีเอกชนลงทุนแล้ว 25,400 ล้านบาท
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ได้เห็นชอบในหลักการกำหนดพื้นที่และแนวทางในการให้สิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษใน 4 ภาค โดยมอบให้จังหวัดที่อยู่พื้นที่ทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์ กำหนดพื้นที่ และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ กำหนดขอบเขตพื้นที่ของแต่ละระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ กิจการเป้าหมาย และสิทธิประโยชน์ และนำเสนอ กพศ.พิจารณาอีกครั้ง
โดยในแต่ละพื้นที่มีบทบาท ดังนี้ 1.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor: NEC-Creative LANNA) ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง เพื่อเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ เป็นแหล่งผลิตสินค้าและบริการที่ต่อยอดจากฐานวัฒนธรรมล้านนา ผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ 2.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor : NeEC-Bioeconomy) ได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี และหนองคาย เพื่อพัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ที่เชื่อมโยงการเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอดห่วงโซ่การผลิต
3.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก (Central – Western Economic Corridor: CWEC) ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี เพื่อพัฒนาให้เป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำของภาคกลาง-ตะวันตก ในด้านอุตสาหกรรมเกษตร การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมไฮเทคที่ได้มาตรฐานระดับสากล เชื่อมโยงกับกรุงเทพและพื้นที่โดยรอบ และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 4.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช พัฒนาเป็นศูนย์กลางของภาคใต้ในการเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศและประเทศในภูมิภาคฝั่งทะเลอันดามัน และเป็นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพและการแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง รวมทั้งเพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการท่องเที่ยวสู่นานาชาติ
“นายกฯกล่าวย้ำว่า เวลานี้เป็นการแพร่ระบาดของโควิด-19 การปฏิรูปเศรษฐกิจต้องชัดเจน ลุกให้เร็ว ก้าวให้ไว เพื่อรองรับหลังโควิด-19 คลี่คลาย โดยคณะกรรมการ กพศ. จะต้องเป็นหลักในการที่จะทำให้รัฐบาลสามารถที่จะตัดสินใจในการอนุมัติโครงการต่างๆทุกกระทรวงต้องช่วยกัน รวมทั้งให้สำนักงานส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ปรับกฎระเบียบให้สอดคล้องกับสถานการณ์เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนมาลงทุนในไทยมากยิ่งขึ้น การดำเนินการดังกล่าวนี้ คือ อนาคตของประเทศและเศรษฐกิจไทย”
นอกจากนี้ กพศ.ได้เห็นชอบข้อเสนอการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 พื้นที่ในระยะต่อไป โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ เพื่อเตรียมความพร้อมของพื้นที่ โดยเฉพาะในด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงตลาดทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน และให้เร่งประชาสัมพันธ์เพื่อให้ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาลงทุน
“ที่ผ่านมารัฐบาลได้พัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่งอย่างต่อเนื่อง มีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร มีความก้าวหน้ากว่า 70% มีการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว รวมทั้งจัดหาที่ดินราชพัสดุเพื่อใช้เป็นพื้นที่พัฒนานำร่องการลงทุน โดยมีการเช่าพื้นที่พัฒนาแล้ว 5 พื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว สงขลา ตราด นครพนม และกาญจนบุรี ปัจจุบันมีการลงทุนของภาคเอกชนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 แห่งแล้ว 25,400 ล้านบาท นายกฯย้ำด้วยว่าการเร่งรัดพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นประโยชน์โดยตรงกับประชาชนและภาคเอกชนในพื้นที่ ทั้งเพิ่มรายได้ สร้างงานและอาชีพ เพื่อลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งให้เตรียมแผนบริหารแรงงานอย่างเป็นระบบทั้งแรงงานในประเทศและต่างประเทศ ลดปัญหาคนว่างงานในอนาคต”.
Leave a Reply