รัฐบาลกำหนดแนวทางโมเดลเศรษฐกิจใหม่ “BCG” หรือ Bio-Circular-Green Economy (เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน -เศรษฐกิจสีเขียว) เป็นแนวทางยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้สอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญเพราะสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ตั้งเป้าการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2573 ไว้ที่ 30% ของการผลิตรถยนต์ในประเทศเพื่อเป้าหมายลดมลพิษสิ่งแวดล้อมได้มีประสิทธิภาพ
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การนำยานยนต์ไฟฟ้ามาใช้เต็มรูปแบบ สิ่งสำคัญที่กระทรวงอุตสาหกรรมต้องดำเนินการ คือ การบริหารจัดการรถยนต์ที่หมดอายุใช้งานครบวงจรเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการนำวัสดุชิ้นส่วนกลับมาใช้ประโยชน์
กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (NEDO) ดำเนินโครงการรีไซเคิลชิ้นส่วนรถยนต์ เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ (End of Life Vehicle) เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของประเทศ ไปสู่ BCG รวมทั้งวางรากฐานการกำจัดซากรถยนต์ EV
ภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากสถิติจำนวนรถจำแนกตามอายุรถ ทั่วประเทศ กรมการขนส่งทางบก ณ วันที่ 28 ก.พ. 2564 ประเทศไทยมีรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี ทุกประเภท รวมทั้งสิ้น 5,688,384 คัน ซึ่งภาครัฐให้ความสำคัญในเรื่องของการจัดการซากรถยนต์อย่างถูกวิธี กระทรวงฯและ NEDO จึงได้ร่วมกันผลักดันโครงการฯดังกล่าว
โครงการนี้ถือเป็นก้าวที่สำคัญของประเทศในการบริหารจัดการซากรถยนต์อย่างเป็นรูปธรรม และได้รับความร่วมมือจาก บริษัท Toyota Tsusho Corporation ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีร่วมกัน การสาธิตการนำเครื่องตัดซากรถยนต์มาใช้ที่ โรงงานกรีน เมทัลส์ (ประเทศไทย) ซึ่งถือเป็นการจัดการซากรถยนต์อย่างถูกวิธีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ การดำเนินงานเริ่มตั้งแต่การรวบรวมรถยนต์ที่หมดอายุการใช้งาน การรื้อชิ้นส่วนยานพาหนะ ตลอดจนการกำจัดของเสียที่เกิดขึ้นจากยานพาหนะ ที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากชิ้นส่วนซากอย่างมีประสิทธิภาพก็จะผลักดันให้เกิดการรีไซเคิลและหมุนเวียนทรัพยากรให้กลายเป็นชิ้นส่วนที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรม เช่น เหล็ก ยาง พลาสติก และโลหะมีค่าที่สกัดได้จากชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
ปัจจุบันโรงงาน กรีน เมทัลส์ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นโรงงานต้นแบบ ตั้งอยู่ใน นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 3 จ.ชลบุรี ได้ตั้งเป้ากำจัดซากชิ้นส่วนรถยนต์ให้ได้สูงสุด 20 คันต่อวัน หรือประมาณมากกว่า 25 ตันต่อวันในน้ำหนักของชิ้นส่วน เพื่อใช้เครื่องจักรในการรื้อถอนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถดึงเอาทรัพยากรที่มีค่าออกมาได้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้การกำจัดซากรถยนต์อย่างถูกต้องให้เห็นผลเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต้องได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย โดยร่วมกันออกแบบระบบ และปรับเปลี่ยนกฎหมายบางด้าน เพื่อผลักดันให้ประชาชนนำรถยนต์เก่ามาเข้าสู่ระบบการกำจัดที่ถูกวิธี ตลอดจนจะต้องมีระบบตรวจสอบย้อนกฃับได้ว่าชิ้นส่วนรถยนต์ที่แยกออกมามาจากที่ใด ซึ่งทางญี่ปุ่นพร้อมให้ความร่วมมือในการออกแบบระบบต่างๆ ต่อไป
ในเบื้องต้นรัฐบาลอาจร่วมกับค่ายรถยนต์ให้สิทธิพิเศษหรือส่วนลดราคารถยนต์ใหม่ให้กับผู้ที่ที่นำรถยนต์เก่าเข้ามากำจัด ซึ่งค่ายรถยนต์อาจจะจัดโปรโมชั่นพิเศษให้กับผู้บริโภคกลุ่มนี้ ทำให้ได้ประโยชน์ทั้งค่ายรถยนต์ที่ขายรถยนต์ใหม่ได้มากขึ้น และผู้บริโภคก็ได้รับส่วนลดราคา และประเทศชาติก็ได้สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น เพราะปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่ 60% จะมาจากรถยนต์เก่าที่มีอายุมากกว่า 20 ปี ซึ่งรถยนต์เก่านี้คิดเป็น 30% ของปริมาณรถยนต์ที่ใช้ในปัจจุบัน
“ในขณะนี้ต้นทุนการกำจัดซากรถยนต์จะอยู่ 5-6 หมื่นบาทต่อคัน และขายชิ้นส่วน เศษเหล็ก ได้ 2-3 หมื่นบาทต่อคัน จึงมีส่วนต่างที่ต้องบริหารจัดการ ซึ่งในญี่ปุ่นจะเก็บค่ากำจัดซากจากเจ้าของรถยนต์ แต่ในไทยอาจจะมีมาตรการอุดหนุนให้ค่ายรถยนต์ทำโปรโมชั่นจูงใจให้ผู้บริโภคนำรถยนต์เก่าไปกำจัดอย่างถูกต้องเพื่อซื้อรถคันใหม่ และระยะยาวจะร่วมมือค่ายรถยนต์กับรัฐตั้งกองทุนกำจัดซากรถยนต์เก่า ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงต่างๆ”
ทั้งนี้เมื่อระบบต่างๆ ออกมาจูงใจให้ผู้บริโภคนำรถยนต์เข้ามากำจัดแล้วกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะออกมาตรการส่งเสริมให้โรงงานรีไซเคิลและอู่รถยนต์มาเข้าระบบการกำจัดซากรถที่ถูกต้อง โดยจะมีการจัดทำคู่มือและการรับรองมาตรฐานที่มีอยู่หลายพันรายทั่วประเทศ
รวมทั้งจะเกิดธุรกิจกำจัดซากรถที่ถูกต้อง โดยบริษัทขนาดเล็กหรืออู่รถยนต์ก็อาจไม่ต้องลงทุนซื้อเครื่องจักรราคาแพงมาก ใช้เพียงแต่แรงงานที่มีทักษะในการทำงาน ซึ่งจะทำให้เกิดธุรกิจและจ้างงานได้อีกเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป
ประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในการส่งเสริมให้เกิดธุรกิจการกำจัดซากรถเก่าที่ถูกต้อง รัฐบาลจะต้องร่วมมือกับหลายหน่วยงานแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ เพื่อผลักดันให้ผู้บริโภคนำรถยนต์เก่ามาเข้าสู่ระบบกำจัดซากและรีไซเคิลที่ได้มาตรฐาน ซึ่งมืกฎระเบียบเหล่านี้ออกมาแล้วผู้ประกอบการก็จะมั่นใจว่าจะมีรถยนต์เก่าเข้าระบบก็จะเกิดธุรกิจเหล่านี้ได้ ส่วนกรมโรงงานฯ ก็จะจัดทำคู่มือมาตรฐาน การฝึกอบรม และออกใบรับรองให้กับสถานประกอบการกำจัดซากและรีไซเคิลที่ถูกต้อง เพื่อผลักดันให้เกิดธุรกิจนี้ต่อไป
“ในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนมรีเพียงกลุ่มเซียงกงซื้อซากรถเก่าไปแยกชิ้นส่วนมาขาย ซึ่งอาจะจัดการไม่ถูกต้องและส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ต่างจากปะเทศญี่ปุ่นที่กำหนดให้รถยนต์มีอายุใช้งานเพียง 10 ปี หลังจากนั้นต้องเข้าระบบกำจัด ซึ่งหากไทยมีกฎหมายออกมาชัดเจน ก็มั่นใจว่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้”
แหล่งอ้างอิง: กรุงเทพธุรกิจ
Leave a Reply