มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต – มุ่งเน้นที่ดิจิทัล
ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาการชะลอตัวของประสิทธิภาพการทำงานและพยายามจัดการกับความท้าทายเหล่านั้นด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล สำหรับประเทศไทยการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจดิจิทัลถือเป็นเป็นศูนย์กลางภายใต้กรอบการทำงาน Thailand 4.0 ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม S-Curve แผน “Digital Thailand” การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และเศรษฐกิจ BCG
สถานที่ทำงานและการดำเนินธุรกิจในประเทศกำลังเปลี่ยนไป โดยการเปลี่ยนแปลงนี้มีขึ้นตั้งแต่ก่อนเกิดโรคระบาด แต่ได้เพิ่มความท้าทายและถูกเร่งจากโควิด-19 ความปกติใหม่ได้เกิดขึ้นแล้วในหลาย ๆ บริษัทที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อปรับปรุงวิธีการดำเนินงาน เพิ่มความสามารถของพนักงานและประสิทธิภาพในการทำงาน
บริษัทจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อให้ทันกับความก้าวหน้า และพัฒนาธุรกิจของตนเพื่อให้มั่นใจว่าสอดคล้องกับนวัตกรรมล่าสุดในโซลูชันที่เป็นประโยชน์ต่อพนักงาน ทำให้ตัวเองอยู่ในระดับแนวหน้าของเทคโนโลยีและการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน
ผลกระทบต่อประเด็นต่าง ๆ
ในยุคดิจิทัลทุกวันนี้องค์กรต่าง ๆ ต้องการความคล่องตัวเพื่อการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลาที่ลูกค้าต้องการ โดยความคล่องตัวที่ว่านั้นหมายถึงความเร็ว ความสามารถในการผลิต นวัตกรรม และความยืดหยุ่น ซึ่งทั้งหมดเป็นเป้าหมายหลักสำหรับบริษัทส่วนใหญ่ในปัจจุบัน
ประสิทธิภาพนั้นมีความสำคัญเพราะในระยะยาวจะเป็นตัวชี้วัดว่าสังคมสามารถเปลี่ยนทรัพยากรที่มีอยู่ให้เป็นสินค้าและบริการที่มีคุณค่าได้อย่างไร รัฐบาลไทยและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการลงทุนทางดิจิทัลเชิงกลยุทธ์ที่เอื้อประโยชน์ต่อผลผลิตในระยะยาวต่อเศรษฐกิจและสังคม
การบรรลุวัตถุประสงค์เหล่านี้จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น รวมถึงมีการเชื่อมต่อระหว่างองค์ประกอบทางกายภาพและโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดภายใต้การควบคุมของระบบที่ล้ำสมัยและชาญฉลาดยิ่งขึ้น โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้มีข้อดีหลายประการ เช่น เป็นการปูทางไปสู่โซลูชันทางธุรกิจซึ่งช่วยขยายโอกาสทางการตลาด การเพิ่มทุน และก่อให้เกิดการจ้างงานที่ใช้ทักษะสูงขึ้น สนับสนุนการพัฒนากำลังคนให้ดียิ่งขึ้น
แนวทางนโยบายของประเทศไทยเป็นการรวมหน่วยงานต่าง ๆ มาทำงานร่วมกัน ทั้ง NIA ONDE และ DEPA ซึ่งเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนด้านดิจิทัล ร่วมกับบริษัทสาธารณูปโภคที่ทำงานเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างดิจิทัลของประเทศผ่านโครงการเคเบิลใต้น้ำและการสนับสนุนธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ
พร้อมสำหรับกระบวนทัศน์การผลิตใหม่
เพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทต่าง ๆ จะไม่พลาดการนำดิจิทัลไปใช้ BOI จึงมีการจูงใจให้ธุรกิจการผลิตและบริการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยพึ่งเพิ่มมาตรการนี้ด้วยระยะเวลาที่มีสิทธิ์จนถึงวันทำการสุดท้ายของปี 2022 เป็นการดำเนินการร่วมกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อเร่งการฝึกอบรมและให้ทุนแก่พนักงานที่มีทักษะและมีประสิทธิภาพสูง ซึ่งได้ลงนาม MOU ไปเมื่อปีที่แล้ว
ความเชื่อมโยงระหว่างการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นกับผลผลิตที่มากขึ้นถูกระบุไว้ในรายงานดัชนี “Digital Density” ของ Accenture ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความหนาแน่นทางดิจิทัลของประเทศสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตส่งผลให้ GDP สูงขึ้น โดยคำนวณจากดัชนีชี้วัดมากกว่า 50 ตัว ทั้งปริมาณการทำธุรกรรมออนไลน์ การใช้งานคลาวด์หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อปรับปรุงกระบวนการดำเนินงาน หรือทักษะพื้นฐานทางเทคโนโลยีในบริษัท
ประเทศไทยกำลังสร้างความแข็งแกร่งให้กับดัชนีดิจิทัล ควบคู่ไปกับการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างเหมาะสม เนื่องจากบริษัทที่สามารถเข้าถึงทักษะด้านเทคนิค การบริหารจัดการ และองค์กรที่สำคัญได้ดีขึ้นสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ในแง่ของการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยรวมได้อย่างเต็มที่
ในขณะที่บริษัทต่าง ๆ พยายามยกระดับการเติบโตและความสามารถในการแข่งขัน BOI ก็ได้ออกมาตรการกระตุ้นที่สำคัญ โดยบริษัทสามารถได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลคิดเป็น 50% ของจำนวนเงินที่ลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเป็นเวลา 3 ปี มาตรการนี้ให้สิทธิ์ทั้งธุรกิจที่ได้รับและไม่ได้รับการส่งเสริมจาก BOI ที่มีเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาทต่อโครงการ หรือ 500,000 บาทต่อโครงการ สำหรับ SME ไม่รวมต้นทุนที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน พร้อมกับแผนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้โดยไม่ต้องลงทุนเครื่องจักรหรืออุปกรณ์
เร่งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้
การปฏิวัติทางเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงโลกด้วยความเร็วที่น่าเหลือเชื่อ ประเทศไทยเองก็เช่นเดียวกัน ด้วยจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต 54.5 ล้านคน และอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ 77.8% เมื่อต้นปี 2022 แนวทางของ BOI ไม่เพียงแต่สนับสนุนเทคโนโลยีดิจิทัลที่ให้ผลกำไรแก่บริษัทในแง่ของการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์และผลกระทบทางสังคมในวงกว้าง
ความพยายามนี้สนับสนุนการใช้งานเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องของประเทศ ซึ่งจะมีความสำคัญต่อความสำเร็จในอนาคต ยิ่งบริษัทนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดีขึ้นเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ระบบคลาวด์จะช่วยให้บริษัทสามารถงานใช้เทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ Machine Learning และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งครอบคลุมอยู่ในแผนของ BOI ด้วยสิทธิประโยชน์สูงสุดถึง 8 ปี
ประเทศยังได้เปรียบเนื่องจากบริษัทไทยหลายแห่งมีการลงทุนด้านดิจิทัลอย่างมากตั้งแต่ช่วงแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทด้านโทรคมนาคมในการอัพเกรดเครือข่ายของตน ในขณะที่บริษัทจำนวนมากใช้ประโยชน์จากช่วงของการเกิดโรคระบาดในการมุ่งเน้นที่แพลตฟอร์มดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มีส่วนช่วยในการปรับปรุงประสิทธิภาพของการดำเนินงานและสถานที่ทำงาน
ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลจึงนับเป็นองค์ประกอบสำคัญของความพยายามของ BOI ในการสนับสนุนประเทศไทยในระยะยาว ด้วยการตระหนักว่าเทคโนโลยีเหล่านี้มีศักยภาพมหาศาลในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบริษัทพร้อมกับสามารถช่วยพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมได้
Leave a Reply