fbpx

คว้าโอกาสใหม่ เติบโตไปในอาเซียน

1024 683 Content Writer

คว้าโอกาสในการเติบโตใหม่สำหรับอาเซียน

ในขณะที่เศรษฐกิจของอาเซียนกำลังเดินหน้าสู่การเปิดประเทศอย่างปลอดภัยและกลับสู่การดำเนินธุรกิจอีกครั้ง พวกเขายังต้องรับมือกับความท้าทายที่เพิ่มมากขึ้นและหาวิธีที่ดีที่สุดในการคว้าโอกาสใหม่ ๆ เพื่อการฟื้นตัวที่ยืดหยุ่น ครอบคลุม และยั่งยืน

ความท้าทายประการแรกคือการรุกรานยูเครนของรัสเซียซึ่งก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานอย่างมากและส่งผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลก

ผลกระทบโดยตรงของรัสเซียและยูเครนต่ออาเซียนผ่านการค้าและการลงทุนนั้นมีจำกัด แต่ด้วยราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2008 ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นตามมา ผู้นำเข้าน้ำมันของอาเซียนเผชิญกับความท้าทายอย่างมากจากค่านำเข้าที่เพิ่มขึ้น ความมั่นคงด้านอาหารและซัพพลายเชนที่เปราะบางก็มีความเสี่ยงมากขึ้นเช่นกัน

ความท้าทายประการที่สองคือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้การจัดการกับเงินเฟ้อยุ่งยากขึ้นท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้น ความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นระหว่างเศรษฐกิจอาเซียนกับสหรัฐฯ และการเปลี่ยนแปลงความเชื่อมั่นของนักลงทุนอาจทำให้เกิดการกลับตัวของเงินทุนอย่างกะทันหัน ค่าเงินอ่อนค่า และความไม่มั่นคงทางการเงิน

เพื่อรักษาโมเมนตัมสำหรับการฟื้นตัว ประเทศสมาชิกต้องเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมสำหรับการดำเนินการร่วมกันเพื่อหลีกเลี่ยงความไม่มั่นคงทางการเงินของภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางการต้องจัดการอย่างรอบคอบเกี่ยวกับผลกระทบของราคาน้ำมันที่สูงขึ้น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และการยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

นโยบายที่สำคัญ

ในสถานการณ์นี้ผู้กำหนดนโยบายของอาเซียนต้องเผชิญกับเรื่องสำคัญที่เร่งด่วน 3 ประการ คือ การเสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ส่งเสริมการระดมทรัพยากรภายในภูมิภาค และขยายการลงทุนเพื่อการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ความร่วมมือระดับภูมิภาคสามารถปูทางไปสู่การฟื้นตัวอย่างยั่งยืนและยืดหยุ่นได้

การค้าและการลงทุนในภูมิภาคที่แข็งแกร่งช่วยบรรเทาผลกระทบให้อาเซียนในช่วงที่กิจกรรมการค้าและเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อต้นปีนี้คาดว่าจะมีส่วนช่วยในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank, ADB) จะยังคงเป็นพันธมิตรที่ไว้วางใจได้สำหรับเศรษฐกิจระดับภูมิภาค จากการจัดหาเงินเพื่อการค้า ความช่วยเหลือด้านเทคนิค และโซลูชันด้านความรู้

การพัฒนาพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นและตลาดทุนให้มากยิ่งขึ้นก็มีความสำคัญเช่นกัน ADB สนับสนุนสิ่งนี้ผ่าน Asean+3 Asian Bond Markets Initiative (ABMI) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะสร้างตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นในฐานะแหล่งเงินทุนทางเลือกแทนเงินกู้ธนาคารที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศ เพื่อลดปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนและสภาพคล่องในการจัดหาเงินทุนเพื่อการลงทุนในภูมิภาคและลดความเสี่ยงด้านการเงิน

นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนการพัฒนาและการออกพันธบัตรเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สังคม และความยั่งยืน เพื่อช่วยรัฐบาลลงทุนในความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม การบรรเทาและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ความพยายามของอาเซียนในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานผ่านความร่วมมือระดับภูมิภาค เสริมความมั่นคงด้านสุขภาพระดับภูมิภาค และเสริมสร้างกลไกการเฝ้าระวังโรคมีความสำคัญต่อการลดความเสี่ยงและรักษาความยั่งยืน

ประเด็นที่สำคัญต่อมาคือการระดมทรัพยากรภายในอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการฟื้นฟูความยั่งยืนทางการคลังเพื่อรักษาการฟื้นตัวหลังการเกิดโรคระบาดและสนับสนุนความพยายามเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

อาเซียนยังมีพื้นที่สำหรับการปรับปรุงในส่วนนี้เนื่องจากการระดมรายได้ภาษีที่ค่อนข้างต่ำ ที่ผ่านมาสมาชิกหลายประเทศได้มีการเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบภาษีอากรผ่านดิจิทัลโซลูชั่น โดย ADB กำลังทำงานร่วมกันเพื่อลดความซับซ้อนของกระบวนการสำหรับผู้เสียภาษี ซึ่งจะสามารถช่วยส่งเสริมการปฏิบัติตามโดยสมัครใจและปรับปรุงการกำหนดนโยบายภาษีได้

ความร่วมมือด้านภาษีระหว่างประเทศนั้นเป็นกุญแจสำคัญในการต่อสู้กับการหลีกเลี่ยงภาษี เพื่อส่งเสริมสิ่งนี้ ADB ได้เปิดตัวศูนย์ภาษีเอเชียแปซิฟิกเพื่อให้ความรู้และเป็นส่วนช่วยประสานงานเกี่ยวกับนโยบายภาษีและการบริหาร 

นโยบายที่สำคัญสุดท้ายคือการเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพและทนต่อสภาพอากาศ

เอเชียและแปซิฟิกมีความเสี่ยงต่อผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศซึ่งคาดว่าจะเลวร้ายลงเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกันภูมิภาคของเราก็เป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 50% ต่อปี เราต้องตระหนักว่าการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะชนะหรือแพ้นั้นขึ้นอยู่กับประเทศในเอเชียและแปซิฟิก

เป้าหมายของ ADB คือการมอบเงินสนับสนุนด้านสภาพอากาศ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงปี 2019 ถึง 2030 ซึ่งรวมถึง 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับโครงการปรับตัวเพื่อช่วยตอบสนองต่อความท้าทายด้านสภาพอากาศของภูมิภาค

Asean Catalytic Green Financing (ACGF) Facility ซึ่งเป็นเจ้าของโดยสมาชิกอาเซียนทั้งหมดและบริหารจัดการร่วมกับ ADB จะทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาและจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โดยได้มีการระดมทรัพยากรจากภาครัฐและเอกชนมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตร 9 ราย ทั้งจากสหภาพยุโรป อิตาลี สหราชอาณาจักร และกองทุน Green Climate Fund ภายใต้ Green Recovery Platform ซึ่งเปิดตัวที่ COP26

 

การริเริ่มความร่วมมือระดับภูมิภาคที่สำคัญ

ACGF ช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและดึงดูดเงินทุนของภาคเอกชนโดยการจัดหาเงินกู้เพื่อให้ครอบคลุมกับต้นทุนเริ่มต้นที่สูง ตลอดจนเงินช่วยเหลือเพื่อสนับสนุนรัฐบาลในการศึกษาและเตรียมโครงการโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์

กลไกการเปลี่ยนผ่านพลังงานหรือ ETM เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เปิดตัวโดยอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และ ADB เมื่อปีที่แล้ว โดยตั้งเป้าที่จะกระตุ้นเงินทุนภาคเอกชนและเร่งการเปลี่ยนจากพลังงานถ่านหินเป็นพลังงานสะอาดในอาเซียน ด้วยการเลิกใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินก่อนกำหนด ขยายขนาดโซลูชันพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด และทำให้แน่ใจว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีความยุติธรรมและราคาไม่แพง

ETM จะจัดหาเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำโดยการรวมเงินกู้จากสาธารณะ การลงทุนของภาคเอกชน และทรัพยากรจากการกุศล ซึ่งกลไกที่เป็นนวัตกรรมใหม่นี้มีศักยภาพที่จะกลายเป็นโมเดลการลดคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ในขณะที่การฟื้นตัวของอาเซียนจากการระบาดของโควิด-19 ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว การริเริ่มความร่วมมือระดับภูมิภาคจะยังคงมีความสำคัญต่อการจัดการความท้าทายที่เพิ่มขึ้นรวมถึงการคว้าโอกาสใหม่เพื่อสร้างอนาคตที่เข้มแข็ง

Author

Content Writer

All stories by: Content Writer

Leave a Reply

Your email address will not be published.