fbpx

สรท. พร้อมปรับคาดการณ์การเติบโตของการส่งออก

1024 682 Content Writer

สรท. พร้อมปรับคาดการณ์การเติบโตของการส่งออก

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) มีแนวโน้มที่จะเพิ่มการคาดการณ์การเติบโตของการส่งออกในเดือนหน้า หลังจากการส่งออกของประเทศมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ 12.7% ในช่วงครึ่งปีแรก โดยได้แรงหนุนจากความต้องการอาหารทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น ราคาที่สูงขึ้น และค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง

ดร. ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสรท. กล่าวว่าการส่งออกมีสัญญาณที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ส่งผลให้ต้องมีการปรับเพิ่มการคาดการณ์สำหรับการส่งออกทั้งปีในเดือนหน้าเป็น 10% จาก 6-8% ในปัจจุบัน

“ภาคการส่งออกจะยังคงเป็นผู้นำที่ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ” ดร. ชัยชาญกล่าว “เรามีความยินดีที่การเติบโตของการส่งออกอาจมากกว่าการคาดการณ์เดิมของเราที่ 6-8% และตอนนี้กำลังพยายามเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ 10% ในปีนี้” โดยโอกาสที่จะบรรลุอัตราการเติบโตเป็นเลขสองหลักมีสูงเนื่องจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวและการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 การส่งออกสูงขึ้น 12.7% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเป็น 1.49 แสนล้านดอลลาร์ ในขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 21% เป็น 1.55 แสนล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ขาดดุลการค้าอยู่ที่ 6.25 พันล้านดอลลาร์

ดร. ชัยชาญกล่าว ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้การส่งออกสามารถขยายตัวได้ถึง 7% ตามสมมติฐานที่ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวที่ 34-36 บาทต่อดอลลาร์ ราคาน้ำมันอยู่ที่ประมาณ 100-115 เหรียญต่อบาร์เรลและ การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์เริ่มคลี่คลายในไตรมาสที่ 4 ส่งผลให้การส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่หลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ราคาพลังงานที่ค่อนข้างสูงเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ค่าขนส่งสินค้าที่สูง การขาดแคลนวัตถุดิบ และความผันผวนของราคา

จากปัญหาดังกล่าวสภาได้เสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% เพื่อให้การฟื้นตัวของภาคธุรกิจอยู่ในทิศทางเดิม และป้องกันผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคและต้นทุนของธุรกิจ โดยที่คาดว่าธนาคารกลางจะเริ่มมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.5% ในสัปดาห์หน้าเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงธนาคารพาณิชย์ยังถูกการกระตุ้นให้เร่งดำเนินการปล่อยสินเชื่อ Soft Loan เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการที่เน้นการส่งออก

อีกทั้งสภายังได้เรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเร่งสร้างโอกาสทางการตลาดและการส่งออกไปยังประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม รวมถึงตลาดที่ความต้องการสินค้าไทยยังคงแข็งแกร่ง เช่น ตะวันออกกลาง พร้อมกับรักษาระดับราคาพลังงานในประเทศให้มีเสถียรภาพเพื่อลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภค

 

แนะผู้ส่งออกเน้นตลาดภูมิภาค

ผู้ส่งออกของไทยได้รับคำเตือนให้เตรียมพร้อมรับผลกระทบของความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจจากจีนในช่วงครึ่งปีหลัง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอย อัตราเงินเฟ้อที่ไม่สามารถควบคุมได้ และวิกฤตด้านพลังงานที่กำลังจะเกิดขึ้นทั่วโลก

ดร. ชัยชาญ กล่าวว่าผู้ส่งออกควรมีมาตรการเชิงรุกและมุ่งความสนใจของการผลิตและส่งออกไปยังตลาดในภูมิภาค เช่น อาเซียน โดยเฉพาะกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ซึ่งไทยมีความสัมพันธ์อันดีและ ความต้องการสินค้าไทยยังคงแข็งแกร่ง

“ในขณะที่สหรัฐฯ และยุโรปกำลังเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ทำให้มีความกังวลว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย เศรษฐกิจของจีนก็มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับการเติบโตที่ชะลอตัวในปีนี้เช่นกัน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้การส่งออกของไทยลำบากขึ้นในช่วงที่เหลือของปี” ดร. ชัยชาญ กล่าว 

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในปีนี้เป็น 4.2% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดไว้ในเดือนเมษายน 0.7% และต่ำกว่าการเติบโตในปี 2021 ที่ 6.5% อยู่พอสมควร อีกทั้งยังลดการคาดการณ์ในปี 2023 ลง 0.5% มาอยู่ที่ 4.6%

การปรับลดส่วนใหญ่สะท้อนให้เห็นถึงการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของผลกระทบต่าง ๆ ทั้งการรุกรานยูเครนของรัสเซีย การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน และอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้น

โดยจีนคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.3% ตามข้อมูลของ IMF ลดลงจากประมาณการการเติบโตที่ 4.4% เมื่อเดือนเมษายน และเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกนี้คาดว่าจะเติบโตอีก 4.6% ในปีหน้า ซึ่งลดลง 0.5% สะท้อนถึงผลกระทบจากนโยบายปลอดโควิดและการตกต่ำของราคาอสังหาริมทรัพย์

อย่างไรก็ตาม ดร. ชัยชาญ กล่าวว่ายังคงเป็นโชคดีที่อัตราเงินเฟ้อของจีนยังต่ำกว่าประเทศคู่ค้าอื่น ๆ และจะยังคงเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญสำหรับประเทศไทยต่อไป โดยในช่วงหกเดือนแรกของปี 2022 การส่งออกไปยังจีนขยายตัว 0.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วอยู่ที่ 1.84 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็น 12.4% ของตลาดส่งออกทั้งหมดของไทย

ดร. ชัยชาญ ยังแนะนำให้ผู้ส่งออกเร่งผลักดันการส่งออกไปยังตลาดใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง เช่น ตะวันออกกลาง โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมถึงอินเดียซึ่งเป็นอีกตลาดสำคัญหนึ่งที่ต้องการการโฟกัสมากขึ้น โดยอ้างอิงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ดีหลังการเกิดโรคระบาด

รวมถึงแนะนำให้ผู้ส่งออกใช้โอกาสจากการฟื้นฟูของภาคการท่องเที่ยวและเร่งใช้สิทธิพิเศษจากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ให้เต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และ Mini FTA เพื่อเพิ่มปริมาณการค้า

“ในช่วงที่เงินบาทอ่อนค่า ผู้ส่งออกจำเป็นต้องเร่งการส่งออกไปต่างประเทศให้มากที่สุด ในขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวังมากขึ้นเกี่ยวกับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและการชำระหนี้ที่สูงขึ้น” ดร. ชัยชาญ กล่าว

ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ดร. ชัยชาญ ยังได้แนะนำให้ผู้ส่งออกติดตามความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งของรัสเซียกับยูเครน และการแย่งอำนาจระหว่างสหรัฐฯ กับจีน วิกฤตพลังงาน รวมถึงการขาดแคลนวัตถุดิบทางการเกษตร ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและโลจิสติกส์เพิ่มสูงขึ้น

 

Author

Content Writer

All stories by: Content Writer

Leave a Reply

Your email address will not be published.