อุตสาหกรรมการแพทย์ของสิงคโปร์: ประตูสู่ตลาดการดูแลสุขภาพของอาเซียน (ตอนที่ 2)
การวิจัยและพัฒนา
แนวทางความหลากหลายและการบูรณาการด้านวิชาการของสิงคโปร์ทำให้ประเทศนี้เป็นศูนย์กลางของการวิจัยและพัฒนาทางชีวการแพทย์ (R&D) ในเอเชีย โดยมีตัวเลขการจ้างงานในภาคนี้เพิ่มขึ้นสองเท่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา (มากกว่า 24,000 คน หรือคิดเป็น 20% ของภาคการผลิตในปี 2019)
ประเทศสามารถดึงดูดทั้งนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติและนักศึกษาชาวต่างชาติได้ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (NTU) ได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกอย่างต่อเนื่อง
รัฐบาลได้ให้คำมั่นสัญญาในเงินลงทุนมูลค่า 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับการวิจัยและนวัตกรรมสำหรับช่วงปี 2016-2020 ซึ่งรวมถึง 1.35 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (9.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ปัจจุบันมีบริษัทที่จัดตั้งขึ้นในสิงคโปร์มากกว่า 50 แห่งในสาขาการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ ซึ่งมักมีการร่วมมือกับสถาบันวิจัยทั้งในและต่างประเทศ อุตสาหกรรม R&D จึงมีศักยภาพมากสำหรับการเติบโตอย่างรวดเร็วและการลงทุนจากต่างประเทศ
ตัวอย่างศูนย์วิจัยทางชีวการแพทย์ของสิงคโปร์ ได้แก่
Singapore Institute for Clinical Sciences
Institute of Bioengineering & Nanotechnology
Institute of Molecular and Cell Biology
Institute of Bioengineering & Nanotechnology
Genome Institute of Singapore
Bioinformatics Institute
การผลิตวัคซีน
สิงคโปร์ยังมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตวัคซีนที่สำคัญในภูมิภาคอีกด้วย
บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพจากเยอรมัน BioNTech ซึ่งเป็นผู้พัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 (BNT162b2) ร่วมกับบริษัทยาจากอเมริกัน Pfizer ได้ระบุความตั้งใจที่จะก่อตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในสิงคโปร์ รวมถึงจะมีการจัดตั้งโรงงานผลิตวัคซีน mRNA ด้วย
โดยโรงงานแห่งนี้คาดว่าจะผลิตวัคซีน mRNA ได้หลายร้อยล้านโดสต่อปี การก่อสร้างมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2023 และจะเป็นโรงงานผลิตแห่งแรกของบริษัทนอกยุโรปและอเมริกาเหนือ นอกจากนี้โรงงานยังสามารถช่วยผลิตยาสำหรับกรณีฉุกฉินได้อย่างรวดเร็ว เพื่อใช้รับมือกับภัยคุกคามจากโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
นอกจาก BioNTech แล้ว บริษัทใหญ่ด้านเภสัชกรรมของฝรั่งเศส Sanofi ได้ประกาศเมื่อเดือนเมษายน 2021 ว่ากำลังลงทุน 400 ล้านยูโร (474 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในระยะเวลาห้าปีเพื่อสร้างศูนย์การผลิตวัคซีนในสิงคโปร์
อุปกรณ์ทางการแพทย์
อุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์ของสิงคโปร์คาดว่าจะมีมูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2022 เนื่องจากการใช้จ่ายของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น จำนวนประชากรสูงอายุในประเทศ รวมถึงความต้องการจากในภูมิภาค
บริษัทเทคโนโลยีการแพทย์ (Medtech) ข้ามชาติกว่า 60 แห่ง ใช้ประโยชน์จากความสามารถด้านวิศวกรรมที่แข็งแกร่งและการรับประกันที่มีคุณภาพของประเทศในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง ตั้งแต่เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ไปจนถึงคอนแทคเลนส์ นอกจากนี้ Microarray ประมาณ 60% และ Mass Spectrometer หนึ่งในสามของโลกถูกผลิตขึ้นในสิงคโปร์
นักลงทุนถูกดึงดูดความสนใจจากรากฐานที่แข็งแกร่งในด้านการวิจัยและนวัตกรรมของสิงคโปร์ ซึ่งช่วยบริษัท MedTech ในการออกแบบโมเดลธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพใหม่ ๆ เช่น การใช้ Big Data เพื่อการดูแลที่เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางได้ดีขึ้น ส่งผลให้บริษัทมีความสามารถในการส่งออกผลิตภัณฑ์หรือบริการไปยังตลาดอาเซียนและเอเชีย
ปัจจัยที่ได้เปรียบอีกประการสำหรับนักลงทุนต่างชาติคือกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งสิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความแข็งแกร่งที่สุดในเอเชีย
สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสิงคโปร์ (IPOS) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐภายใต้กระทรวงกฎหมาย ได้เปิดตัวแอปพลิเคชันมือถือสำหรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายแรกของโลกในปี 2019 โดยสามารถลดเวลาในการยื่นจดทะเบียนลงถึง 80% นอกจากนี้ทางหน่วยงานยังได้เปิดตัวโครงการ SG Patent Fast Track ในเดือนพฤษภาคม 2020 ซึ่งมีเป้าหมายที่จะอนุมัติคำขอรับสิทธิบัตรภายในหกเดือน
การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์
ก่อนเกิดโรคระบาดสิงคโปร์ดึงดูดนักท่องเที่ยวทางการแพทย์ประมาณ 500,000 คนต่อปี ซึ่งมีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประมาณ 60% ของนักท่องเที่ยวเหล่านี้มาจากอินโดนีเซีย
อย่างไรก็ตามประเทศกำลังดิ้นรนเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาด เนื่องจากมาเลเซียและไทยให้บริการด้านการรักษาพยาบาลที่ถูกกว่า การผ่าตัดบายพาสในมาเลเซียมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 14,000 เหรียญสหรัฐ เทียบกับค่าเฉลี่ย 23,000 เหรียญสหรัฐในสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังมีภาระค่าใช้จ่ายที่หนักกว่าสำหรับผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพของสิงคโปร์ที่ส่งต่อไปยังผู้ป่วยเนื่องจากค่าจ้างของแพทย์และพยาบาลนั้นสูงที่สุดในอาเซียน
แม้จะเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น สิงคโปร์จะยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่ต้องการในด้านการแพทย์เฉพาะทาง เช่น มะเร็ง การปลูกถ่ายอวัยวะ ศัลยกรรมกระดูก โรคหัวใจ และระบบประสาท เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพจำนวนมากได้พยายามที่จะกระจายการดำเนินงานในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาด้วยการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดขนาดใหญ่ของอินโดนีเซีย
Leave a Reply