ผู้ที่มีความคุ้นเคยกับการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยคงทราบดีว่าธุรกิจจากต่างชาตินั้นได้รับการควบคุมอย่างเข้มงวดโดยรัฐบาล พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (FBA) ที่จัดตั้งขึ้นในปี 1999 กำหนดให้จัดระเบียบกิจกรรมทางธุรกิจออกเป็น 3 ประเภท โดยมีข้อจำกัดต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเกี่ยวข้องกับความเป็นเจ้าของและการดำเนินงานของธุรกิจ
โดยปกติแล้วบริษัทจำกัดสัญชาติไทยจะถูกจำกัดการถือครองโดยต่างชาติไว้ไม่เกิน 49% ซึ่งหมายความว่าชาวต่างชาติสามารถถือหุ้นได้ไม่เกิน 49% นักลงทุนที่ไม่มีประสบการณ์หรือได้รับข้อมูลผิด ๆ อาจพยายามข้ามผ่านอุปสรรคนี้โดยให้ตัวแทนที่เป็นคนไทยถือหุ้น 51% ของธุรกิจในนามของพวกเขา อย่างไรก็ตามการกระทำนี้ถือเป็นการละเมิด FBA และควรได้รับการปฏิบัติด้วยความระมัดระวัง
แม้จะมีข้อจำกัดด้านความเป็นเจ้าของ แต่บริษัทไทยก็มีข้อได้เปรียบเหนือบริษัทต่างชาติอยู่หลายประการ เช่น ไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับประเภทธุรกิจที่ดำเนินการ ต้นทุนการจัดตั้งที่ต่ำกว่า ความสามารถในการซื้อและเป็นเจ้าของที่ดิน และอื่น ๆ อีกมากมาย อย่างไรก็ตามเป็นที่เข้าใจได้ว่าโครงสร้างนี้อาจไม่เหมาะกับผู้ประกอบการต่างชาติทุกราย และผู้ที่ต้องการควบคุมบริษัทของตนให้มากขึ้นจำเป็นต้องมองหาแนวทางแก้ไขที่ต่างออกไป
ความแตกต่างที่ใหญ่ที่สุดประการหนึ่งระหว่างบริษัทต่างชาติและบริษัทไทยคือความจริงที่ว่าการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่างชาตินั้นถูกจำกัดอย่างมาก โดย FBA ห้ามไม่ให้ชาวต่างชาติมีส่วนร่วมในธุรกิจส่วนใหญ่ และธุรกิจที่เปิดให้ผู้ประกอบการต่างชาติสามารถดำเนินการได้นั้น ทำได้หลังจากได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (FBL) ที่ออกโดยกรมทะเบียนการค้าแล้วเท่านั้น
นอกเหนือจากข้อจำกัดดังกล่าวแล้ว บริษัทต่างชาติยังอยู่ภายใต้กฎหมายและระเบียบข้อบังคับพิเศษ เช่น ต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำมากกว่า 3 ล้านบาท และห้ามบริษัทถือครองที่ดิน แต่ในทางกลับกันบริษัทที่ได้รับ FBL จะสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่หรือทั้งหมดได้ และมีข้อได้เปรียบในเรื่องใบอนุญาตการทำงานที่มากกว่าบริษัทไทย
ข่าวดีสำหรับนักลงทุนและผู้ประกอบการต่างชาติคือ มีวิธีที่ถูกต้องตามกฎหมายในการเป็นเป็นหุ้นส่วนใหญ่หรือเป็นเจ้าของทั้งหมด 100% ของบริษัทต่างชาติในประเทศไทย แม้ว่าบางวิธีอาจจะต้องใช้เวลานานและผลที่ออกมานั้นคาดเดาไม่ได้ แต่นี่ก็ควรเป็นจุดเริ่มต้นของบริษัททุกแห่งที่ต้องการมีเจ้าของเป็นชาวต่างชาติ
วิธีที่ #1: ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจต่างประเทศ
บริษัทต่างชาติที่สนใจแสวงหาโอกาสทางธุรกิจจะต้องยื่นขอ FBL และต้องรอคำตัดสินของคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวก่อนที่จะเริ่มดำเนินการใด ๆ โปรดทราบว่ากระบวนการนี้อาจใช้เวลานานพอสมควรและการถูกปฏิเสธเป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ตามหากธุรกิจมีเอกลักษณ์ ไม่แข่งขันกับธุรกิจไทย หรือเกี่ยวข้องกับการติดต่อระหว่างสมาชิกของบริษัทในเครือ โอกาสในการได้รับใบอนุญาตจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวสามารถเข้าใจคร่าว ๆ ได้ว่าเป็นใบอนุญาตทำงานสำหรับบริษัท เช่นเดียวกับที่ชาวต่างชาติในประเทศไทยสามารถประกอบอาชีพได้บางประเภทเท่านั้นและจำเป็นต้องมีใบอนุญาตทำงานเพื่อให้สามารถทำงานได้ บริษัทต่างชาติก็สามารถดำเนินการได้เฉพาะในประเภทที่เลือกและจำเป็นต้องมี FBL ด้วยวิธีนี้รัฐบาลไทยสามารถควบคุมการเข้ามาของธุรกิจต่างชาติ และปกป้องคนไทยและผลประโยชน์ของประเทศ การไม่ได้รับ FBL ก่อนที่จะเริ่มต้นธุรกิจอาจส่งผลให้มีโทษปรับตั้งแต่ 1 แสนถึง 1 ล้านบาท และจำคุกไม่เกิน 3 ปี
โดยทั่วไปแล้วชาวต่างชาติในประเทศไทยนิยมประกอบธุรกิจ 4 ประเภทหลัก ได้แก่ การผลิต การค้า การส่งออก และการบริการ ในขณะที่การผลิต การส่งออก และการค้าส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกจำกัดโดย FBA ดังนั้น ชาวต่างชาติจึงสามารถเป็นเจ้าของได้อย่างเต็มที่ แต่โอกาสในธุรกิจการบริการนั้นมีจำกัดมาก เนื่องจากเป็นธุรกิจที่คนไทยยังไม่พร้อมแข่งขัน โดยวิธีเดียวที่จะมีเจ้าของเป็นต่างชาติได้คือผ่านการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI
วิธีที่ #2: ขอรับการส่งเสริมจาก BOI
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นหน่วยงานของรัฐบาลไทยที่ส่งเสริมการเริ่มต้นธุรกิจและโครงการต่าง ๆ ในพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต ด้วยการส่งเสริมธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมหลัก BOI มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยกระดับให้ทัดเทียมกับประเทศอื่น ๆ เช่น ฮ่องกงและสิงคโปร์
โดยปกติแล้วผู้ประกอบการต่างชาติอาจพบว่ามีข้อจำกัดในการก่อตั้งธุรกิจในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ด้วยความช่วยเหลือจาก BOI การดำเนินงานในบางธุรกิจจะกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นมาก โดยสิทธิประโยชน์ของการเข้าร่วมมาตรการนี้ไม่ได้มีแค่เพียงตัวเงินเท่านั้น
บริษัทที่สนใจขอรับการส่งเสริมการลงทุนจะต้องผ่านเกณฑ์คุณสมบัติและนำเสนอโครงการลงทุน เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นและได้รับการส่งเสริมแล้ว บริษัทจะได้รับสิทธิประโยชน์มากมาย เช่น การยกเว้นภาษี การผ่อนปรนหรือการลดภาษีนำเข้า การลดค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าน้ำ นอกจากนี้บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมจาก BOI ยังสามารถอยู่ภายใต้การถือครองของชาวต่างชาติ เป็นเจ้าของที่ดิน และขอใบอนุญาตทำงานสำหรับพนักงานต่างชาติได้ง่ายขึ้นมาก
วิธีที่ #3: สนธิสัญญาทางไมตรีของสหรัฐฯ
สนธิสัญญาทางไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้บริษัทหรือผู้ประกอบการชาวอเมริกันสามารถรักษาสัดส่วนการถือหุ้นส่วนใหญ่หรือความเป็นเจ้าของเต็มรูปแบบของบริษัทในประเทศไทยได้ โดยบริษัทที่ขอความคุ้มครองภายใต้สนธิสัญญานี้จะได้รับการปฏิบัติหลายอย่างเช่นเดียวกับบริษัทไทย และได้รับการยกเว้นจากข้อจำกัดส่วนใหญ่ในการลงทุนจากต่างประเทศที่กำหนดโดย FBA
ธุรกิจที่ดำเนินการภายใต้ BOI หรือสนธิสัญญาของสหรัฐอเมริกายังคงต้องมี FBL อย่างไรก็ตามการเข้าร่วมในมาตรการเหล่านี้จะแทนที่กระบวนการปกติและจะได้รับใบอนุญาตโดยอัตโนมัติ
ต้องทำอย่างไรหากวิธีการข้างต้นใช้ไม่ได้ผล
โดยทั่วไปแล้วธุรกิจที่ไม่ได้รับ FBL ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งจากสามวิธีข้างต้นจะมีทางเลือกเพิ่มเติมเล็กน้อย ทางเลือกแรกคือบริษัทต่างชาติสามารถจัดตั้งสำนักงานในประเทศไทยผ่านสาขา สำนักงานภูมิภาค หรือสำนักงานตัวแทน แต่วิธีนี้จะใช้ได้กับบริษัทต่างชาติที่จัดตั้งขึ้นแล้วเท่านั้น
ทางเลือกที่สองคือการจดทะเบียนบริษัทไทยโดยมีคนไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ชาวต่างชาติภายใต้ FBA ฉบับปัจจุบันสามารถใช้สิทธิออกเสียงส่วนใหญ่และควบคุมบริษัทจำกัดของไทยได้ผ่านการออกหุ้นบุริมสิทธิและสิทธิในการออกเสียงแบบถ่วงน้ำหนัก (Weighted Voting Rights) ทำให้เป็นรูปแบบธุรกิจที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในหมู่นักลงทุนต่างชาติแม้ว่าจะไม่สามารถเป็นเจ้าของบริษัทได้อย่างเต็มที่ก็ตาม
Leave a Reply