สิงคโปร์มีเป้าหมายในการพัฒนากรอบการทำงานระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้าดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนผ่านความตกลงการค้าดิจิทัลโดยเฉพาะ โดยที่ความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Agreement; DEA) นั้นจะส่งเสริมความร่วมมือที่มากขึ้นในภาคส่วนที่ยังใหม่อยู่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานร่วมกันระหว่างระบบดิจิทัลต่าง ๆ ทำให้องค์กรมีขีดความสามารถในการทดลองและนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไปใช้งานในหลาย ๆ ประเทศ
DEA เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ของรัฐบาลสิงคโปร์ในการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเริ่มดำเนินการในฐานะศูนย์กลางทางเทคโนโลยีและอีคอมเมิร์ซระดับโลก รวมถึงเป็นการเพิ่มเครือข่าย FTA ที่กว้างขวางของประเทศ
ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจดิจิทัลของสิงคโปร์ (Digital Economy Partnership Agreement; DEPA) กับนิวซีแลนด์และชิลีเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2021 โดยมีการลงนามครั้งแรกในเดือนมิถุนายน 2020 และถือเป็นข้อตกลงการค้าแบบ ‘ดิจิทัลเท่านั้น’ ฉบับแรกของโลก หลังจากนั้นในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2022 สิงคโปร์และสหราชอาณาจักรได้ลงนามในความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลสหราชอาณาจักร-สิงคโปร์ (UKSDEA) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าที่เน้นทางด้านดิจิทัลเป็นครั้งแรกของประเทศจากยุโรป
นอกจาก DEPA และ UKSDEA แล้ว สิงคโปร์ยังได้ลงนามใน DEA อื่น ๆ ได้แก่ ความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลสิงคโปร์-ออสเตรเลีย (SADEA) ความตกลงหุ้นส่วนดิจิทัลสหภาพยุโรป-สิงคโปร์ (EUSDP) และ ความตกลงหุ้นส่วนดิจิทัลเกาหลี-สิงคโปร์ (KSDPA)
ธุรกิจได้ประโยชน์จาก DEPA อย่างไร
DEPA จะมีส่วนในการสร้างแนวทางใหม่ในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าดิจิทัล เช่น นวัตกรรมด้านข้อมูลและความสะดวกในการรับส่งข้อมูลข้ามพรมแดนเพื่อส่งเสริมการใช้งาน AI โดยสุดท้ายแล้วความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลจะช่วยให้ธุรกิจลดต้นทุนการดำเนินงานและปรับปรุงการเข้าถึงตลาดของกันและกัน
การค้าไร้กระดาษ (Paperless trade)
คุณลักษณะที่สำคัญของ DEPA คือการส่งเสริมการค้าไร้กระดาษ ซึ่งจะช่วยลดเวลาในการผ่านพิธีการศุลกากรและการดำเนินการด้านเอกสารต่าง ๆ
เทคโนโลยีสามารถนำมาใช้เพื่อรับรองความถูกต้องของเอกสารและแหล่งที่มา ซึ่งจะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพของการค้า ตัวอย่างเช่น ผู้ส่งออกในสิงคโปร์สามารถยื่นขอใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และใบรับรอง SPS สำหรับการจัดส่งของตน จากนั้นเอกสารการค้าดังกล่าวจะถูกส่งแบบดิจิทัลไปยังศุลกากรของประเทศปลายทาง
งานวิจัยที่จัดทำโดย Maersk และ IBM พบว่าเอกสารที่ต้องใช้ในการค้าแบบใช้กระดาษนั้นเพิ่มค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายสินค้าได้สูงถึง 20% นอกเหนือไปจากเวลา 10 วัน ในการรอเอกสารดำเนินการ
Fintech และ e-payment
DEPA จะสนับสนุนให้เกิดการยอมรับโซลูชัน e-payment มากขึ้นเนื่องจากความสามารถในการทำงานร่วมกันระหว่างระบบการชำระเงินที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้สามารถชำระเงินข้ามพรมแดนได้อย่างปลอดภัยและสนับสนุนสถาบันการเงินอื่น ๆ เช่น บริษัทฟินเทค ในการเสนอบริการดังกล่าว
ยิ่งไปกว่านั้นเพื่อส่งเสริมความตกลงการค้าดิจิทัลนี้ สิงคโปร์ได้อนุมัติใบอนุญาตธนาคารดิจิทัลใบแรกของประเทศเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2020 ทำให้หน่วยงานที่ไม่ใช่ธนาคารสามารถเสนอบริการแบบเดียวกับธนาคารแบบดั้งเดิมได้ เพียงแต่จะดำเนินการโดยไม่มีสถานที่ตั้งจริง
การออกใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์
DEA จะช่วยให้ e-invoice ของสิงคโปร์ใช้งานได้ในชิลี สหราชอาณาจักร และนิวซีแลนด์ รวมถึงเพิ่มความแม่นยำ ประสิทธิภาพ และความน่าเชื่อถือของการทำธุรกรรมเชิงพาณิชย์
วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ของสิงคโปร์สามารถเข้าร่วมในเครือข่ายใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศได้ด้วยการใช้โซลูชันของ Pan-European Public Procurement On-Line (PEPPOL) ซึ่งใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์จะถูกสร้างขึ้น ส่ง และประมวลผลแบบดิจิทัลโดยไม่ต้องป้อนข้อมูลด้วยตนเอง ปัจจุบันมีการใช้งานในกว่า 30 ประเทศ โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2020 มีธุรกิจท้องถิ่นมากกว่า 27,000 แห่ง ที่เชื่อมต่อกับระบบนี้แล้ว
ข้อมูลประจำตัวดิจิทัล
DEPA จะทำให้ประเทศต่าง ๆ สามารถพัฒนาตัวตนดิจิทัลที่ปลอดภัย ช่วยปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจได้อย่างมากตั้งแต่การเปิดบัญชีธนาคารไปจนถึงการจดทะเบียนบริษัท
สมาชิกของ DEPA สามารถอำนวยความสะดวกในการส่งเสริมความเข้ากันได้ของระบบการระบุตัวตนดิจิทัลที่แตกต่างกัน ทำให้กระบวนการที่ซับซ้อน เช่น การตรวจสอบ Know-Your-Client (KYC) ของธนาคารสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในทุก ๆ ประเทศ เนื่องจากธนาคารต้องการเพียงข้อมูลประจำตัวดิจิทัลของบริษัทเท่านั้น โดยกระบวนการตรวจสอบดังกล่าวปัจจุบันอาจจ้องใช้เวลามากกว่าสามเดือนจึงจะเสร็จสมบูรณ์
นวัตกรรมข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์
DEPA จะช่วยให้ประเทศต่าง ๆ ส่งข้อมูลข้ามพรมแดนได้อย่างอิสระ ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อสำหรับธุรกิจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ จากนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล รวมไปถึงการนำกรอบการกำกับดูแล AI อย่างมีจริยธรรมมาใช้ เพื่อให้ประเทศสมาชิกใช้งาน AI ได้อย่างเหมาะสม
นอกจากนั้นความตกลงดิจิทัลนี้ยังหมายความว่าธุรกิจต่าง ๆ จะสามารถดำเนินกิจการและจำหน่ายผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลของตนกับคู่ค้าในต่างประเทศได้ เป็นการเร่งให้เกิดนวัตกรรมข้ามพรมแดนอีกทางหนึ่งด้วย
การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
DEPA จะให้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อข้อมูลจะถูกส่งข้ามพรมแดน ปัจจุบันธุรกิจในสิงคโปร์สามารถยื่นขอใบรับรอง APEC Cross Border Privacy Rules (CBPR) ซึ่งจะเป็นการรับรองถึงนโยบายการปกป้องข้อมูลที่แข็งแกร่งของบริษัทที่สอดคล้องกับ APEC Privacy Framework
นอกจากนี้ธุรกิจที่ได้รับการรับรอง CBPR ยังสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกับบริษัทที่ได้รับการรับรองในลักษณะเดียวกันจากทั่วทั้งเครือข่าย DEA ของสิงคโปร์ ตลอดจนเขตพื้นที่อื่น ๆ ที่มีการใช้ระบบ APEC CBPR ด้วยเช่นกัน
Leave a Reply