นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้เริ่มต้นโรดโชว์ระดับนานาชาตินับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนสิงหาคม โดยนำเสนอประเทศไทยให้กับนักลงทุนองค์กรระหว่างการเดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกา จีน และประเทศอื่น ๆ อีกทั้งรัฐบาลยังได้ขยายคำเชิญไปยังบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านดิจิทัลระดับโลกให้มาสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญรวมถึงสำนักงานใหญ่ในประเทศไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ตั้งเป้าเตรียมดึงดูดบริษัทชั้นนำเข้ามาลงทุนในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 100 แห่ง และสร้างงานใหม่มากกว่า 10,000 ตำแหน่ง
5 อุตสาหกรรมเป้าหมายหลัก
คุณนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการ BOI ได้เปิดเผยความคืบหน้าว่า เป้าหมายการลงทุนของนายกรัฐมนตรีนั้นจะมุ่งเน้นไปที่ภาคดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยในช่วงสี่ปีข้างหน้า BOI จะกำหนดเป้าหมายการลงทุนในสามภาคส่วนนี้ รวมถึง BCG (Bio-Circular-Green Economy) และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งทั้ง 5 อุตสาหกรรมนี้จะมีบทบาทสำคัญในการยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต
การดึงดูดของภาคดิจิทัล
รัฐบาลตั้งเป้าหมายจากการลงทุนในสองส่วนคือศูนย์ข้อมูล (Data Centre) และบริการคลาวด์ (Cloud Service) โดยมีบริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ ที่กำลังเจรจากับประเทศไทยอยู่ ได้แก่ Amazon Web Services (AWS), Google และ Microsoft นอกจากนั้นบริษัทที่ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ เช่น Meta, TikTok และ OpenAI รวมถึงบริษัทด้านอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา เช่น Western Digital (WD), Analog Devices Inc (ADI) และ Hewlett-Packard (HP) ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายเช่นกัน
การผลักดันการลงทุนจากต่างประเทศของไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเทรนด์การย้ายที่ตั้งธุรกิจท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีน ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา ซึ่งไต้หวันที่เป็นผู้ผลิตไมโครชิปรายใหญ่ที่สุดของโลกกำลังมองหาการผลิตในต่างประเทศ โดยมีประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่เป็นไปได้สำหรับการย้ายถิ่นฐานนี้ เนื่องจากที่ตั้งทางยุทธศาสตร์และจุดยืนที่เป็นกลางของไทยจะช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าวได้
ในขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงไปสู่ AI และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกได้ก่อให้เกิดความต้องการของบริการคลาวด์อย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ Microsoft นั้นมีความมุ่งมั่นที่จะลงทุนในประเทศไทยในฐานะศูนย์กลาง AI ของเอเชีย และกำลังจัดตั้งศูนย์ข้อมูลคลาวด์ระดับภูมิภาครวมถึงศูนย์ความเป็นเลิศด้าน AI ซึ่งคุณนฤตม์กล่าวว่าบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับMicrosoft นั้นไม่เพียงแค่ครอบคลุมเรื่องการลงทุนทางการเงินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการพัฒนาระบบรัฐบาลดิจิทัล โครงการ State Cloud การยกระดับทักษะแรงงานดิจิทัล การยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์ และการส่งเสริมความรู้ด้าน AI อีกด้วย
ทางด้านของ Amazon ก็ได้ประกาศแผนการลงทุนในประเทศไทยแล้วเช่นกันด้วยเงินลงทุนเริ่มแรกไม่น้อยกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 2 แสนล้านบาท ซึ่งการลงทุนนี้จะรวมถึงการก่อสร้างศูนย์ข้อมูล 3 แห่ง โดยเฟสแรกใช้งบประมาณประมาณ 2 หมื่นล้านบาท
มุ่งเน้นที่พลังงานสะอาดและภาษีขั้นต่ำทั่วโลก
BOI เน้นย้ำว่าพลังงานสะอาดและการปฏิบัติตามภาษีขั้นต่ำทั่วโลก (Global Minimum Tax; GMT) เป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงดูดการลงทุนท่ามกลางความไม่แน่นอนทั่วโลก ด้วยนโยบายด้านพลังงานสะอาด ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะวางตำแหน่งตัวเองเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนที่มีความรับผิดชอบและยั่งยืน นอกจากนี้ความมุ่งมั่นของประเทศในการเข้าร่วม GMT ในปีหน้ายังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในแนวทางปฏิบัติทางเศรษฐกิจที่ยุติธรรมและโปร่งใส ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานขององค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) โดยภายใต้ GMT นั้นจะมีการกำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลกไม่น้อยกว่า 15% ซึ่งประเทศไทยได้เตรียมการทั้งสองด้านมาระยะหนึ่งแล้ว และมั่นใจว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือใหม่สำหรับดึงดูดการลงทุนได้
บริษัทข้ามชาติประมาณ 1,000 แห่งในประเทศไทยจะอยู่ภายใต้ขอบเขตของ GMT ซึ่งหมายความว่าพวกเขาจะไม่ได้รับการยกเว้นภาษีอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม BOI จะอนุญาตให้บริษัทที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนสามารถเลือกลดหย่อนภาษีแทนการยกเว้นได้ นั่นหมายถึงการมีภาระภาษีเพิ่มขึ้นเพียงบางส่วนเท่านั้น โดย BOI จะใช้กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันจำนวน 1แสนล้านบาท สำหรับช่วยลดต้นทุนของการลงทุนท่ามกลางภาษีที่เพิ่มสูงขึ้น
การจัดตั้งสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาค
BOI กล่าวว่าประเทศไทยนั้นมีข้อได้เปรียบเนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและแรงงานที่มีทักษะที่ได้รับการพัฒนาอย่างดี ทั้งความพร้อมในด้านไฟฟ้า นิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือ และสนามบินที่มีคุณภาพ รวมถึงห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งของประเทศในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีผู้ผลิตชิ้นส่วนมากกว่า 2,000 ราย ที่มีทักษะสูงและประสบการณ์หลายปีในการทำงานร่วมกับบริษัทระดับโลก โดยตัวอย่างบริษัทดิจิทัลระหว่างประเทศที่มีสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคตั้งอยู่ในไทยปัจจุบัน ได้แก่ อโกด้า ซึ่งมีพนักงานกว่า 3,000 คน
Tesla จับตาการลงทุน 5 พันล้านดอลลาร์
การเจรจากับ Tesla เพื่อลงทุน 5 พันล้านดอลลาร์ในประเทศไทยนั้นยังคงดำเนินอยู่ โดยการลงทุนครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงช่วยเสริมความแข็งแกร่งของประเทศในฐานะผู้เล่นหลักในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าโลก
ปัจจุบันธุรกิจ EV ทั่วโลกกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว สำหรับในประเทศไทยนั้นมีตัวเลขยอดจดทะเบียนรถยนต์ EV ประจำปีงบประมาณสูงถึงกว่า 73,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 58,000 คัน คิดเป็นอัตราการเติบโตเกือบ 400% ซึ่งคุณนฤตม์กล่าวว่าภาค EV มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและมาตรการสนับสนุนของไทยนั้นช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับทั้งนักลงทุนและผู้บริโภค
Leave a Reply