fbpx

Microsoft ประกาศสร้างศูนย์ข้อมูลแห่งแรกในประเทศไทย

1024 683 Earn Thongyam

บริษัท Microsoft ประกาศการลงทุนสร้างศูนย์ข้อมูลแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อต่อยอดการเติบโตของการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคการขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย Satya Nadella CEO ได้ประกาศต่อหน้าเหล่านักพัฒนาและผู้นำด้านธุรกิจและเทคโนโลยีกว่า 2,000 คน ในงาน Microsoft Build: AI Day ที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสินเข้าร่วมงานด้วย

ความร่วมมือครั้งนี้เป็นไปตามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ที่ Microsoft ได้ลงนามไว้กับรัฐบาลก่อนหน้าเพื่อสนับสนุนอนาคตดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วย AI การประกาศนี้เกิดขึ้นหนึ่งวันหลังจาก Nadella กล่าวว่าบริษัทซอฟต์แวร์สัญชาติสหรัฐฯ จะลงทุน 1.7 พันล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้าน Cloud Computing และปัญญาประดิษฐ์ในอินโดนีเซีย โดยเขามีกำหนดจะสิ้นสุดการเยือนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มาเลเซียเป็นประเทศสุดท้าย

แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับ Microsoft ระบุว่า Azure Data Centre ในประเทศไทยจะตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีการลงทุนประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์ และจะเป็นหนึ่งในประมาณ 300 ศูนย์ข้อมูลของไมโครซอฟท์ทั่วโลก โดย Nadella กล่าวว่าประเทศไทยนั้นมีโอกาสอันน่าทึ่งรออยู่

ศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ในประเทศไทยรวมถึงการลงทุนอื่น ๆ ของบริษัทในโครงสร้างพื้นฐานด้านคลาวด์และ AI ตลอดจนการพัฒนาทักษะในด้านดังกล่าว ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นที่มีมาอย่างต่อเนื่องของ Microsoft ที่มีต่อประเทศไทย และจะช่วยให้องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยสร้างผลกระทบที่ดีและการเติบโตใหม่ ๆ ต่อไปได้

Microsoft เป็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ รายล่าสุดที่ประกาศความมุ่งมั่นสำคัญในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคลาวด์และปัญญาประดิษฐ์แห่งใหม่ในประเทศไทยต่อเนื่องจาก Amazon Web Services และ Google การเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การขยายธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของบริษัท เพื่อเก็บเกี่ยวโอกาสในยุคปัญญาประดิษฐ์และลดความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยก่อนหน้านี้ Microsoft ได้ประกาศว่าจะลงทุน 2.9 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงสองปีข้างหน้าเพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐานด้าน Hyperscale Cloud Computing และ AI ในญี่ปุ่น

ตามการวิจัยของ Kearney บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการ AI อาจส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2030 โดยคาดการณ์ว่าสัดส่วนของประเทศไทยนั้นคิดเป็นมูลค่าราว 1.17 แสนล้านดอลลาร์

Microsoft เปิดเผยว่าศูนย์ข้อมูลในไทยจะขยายการให้บริการคลาวด์แบบไฮเปอร์สเกล โดยมีความน่าเชื่อถือ ประสิทธิภาพ และปฏิบัติตามมาตรฐานการเก็บข้อมูลและมาตรฐานความเป็นส่วนตัวในระดับองค์กร เป็นการตอบสนองต่อความต้องการใช้บริการที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทยจากธุรกิจและหน่วยงานภาครัฐ อีกทั้งยังช่วยให้ประเทศไทยสามารถคว้าโอกาสทางเศรษฐกิจและผลผลิตที่สำคัญที่เทคโนโลยี AI นำเสนอได้อีกด้วย

นอกจากนั้น Microsoft ยังมุ่งมั่นที่จะพัฒนาทักษะด้าน AI ให้กับประชากร 2.5 ล้านคน ในอาเซียนภายในปี 2025 ครอบคลุมประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยคาดว่าจะมีคนไทยกว่า 100,000 คน ที่ได้รับผลประโยชน์นี้ และสำหรับกลุ่มนักพัฒนา จะมีโครงการใหม่ที่ชื่อว่า AI Odyssey ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้นักพัฒนาชาวไทย 6,000 คน กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ด้วยการเรียนรู้ทักษะใหม่และได้รับการรับรองจาก Microsoft

ประเทศไทยเป็นตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็วบน GitHub ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการพัฒนา ความร่วมมือ และนวัตกรรมด้านซอฟต์แวร์ที่ Microsoft เป็นเจ้าของ ในปี 2023 มีนักพัฒนาจากประเทศไทยกว่า 900,000 คน ใช้งาน GitHub คิดเป็นการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 24% จากปีก่อนหน้า

Naddella ระบุด้วยว่าองค์กรไทยหลายแห่งกำลังใช้งานโซลูชันที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ (Generative AI) จาก Microsoft ตัวอย่างเช่น บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บริษัท เอสซีบี เอ็กซ์ จำกัด (มหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นต้น

นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน กล่าวกับที่ประชุมว่าการประกาศของไมโครซอฟท์เน้นย้ำถึงความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในอาเซียน วิสัยทัศน์ ‘Ignite Thailand’ สำหรับปี 2030 มีเป้าหมายในการยกระดับประเทศให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลระดับภูมิภาค ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรมและวิจัยและพัฒนาเป็นอย่างมาก รวมถึงยังเป็นการเสริมสร้างกำลังคนด้านเทคโนโลยีอีกด้วย

ประเทศไทยนั้นพร้อมแล้วสำหรับ AI และรัฐบาลได้ดำเนินการสนับสนุนอุตสาหกรรมดังกล่าวอย่างเต็มที่ โดยโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มที่แข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาค ประกอบด้วยอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่ครอบคลุม การเชื่อมต่อมือถือ 5G และเครือข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (2024-2027) ยุทธศาสตร์ที่ 2 เกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสนับสนุนด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน จะช่วยปลดล็อกพลังของ AI และ Cloud Computing มากขึ้น ผ่านโครงการต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศของ AI ต่อไป

 

สิทธิประโยชน์ของ BOI สำหรับศูนย์ข้อมูลและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เสนอสิทธิประโยชน์ที่น่าสนใจมากมายสำหรับบริษัทที่ต้องการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลและธุรกิจที่เกี่ยวข้องภายในประเทศไทย โดยมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นการลงทุนและผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้าน Cloud Computing และปัญญาประดิษฐ์ในภูมิภาค

สิทธิประโยชน์ที่สำคัญบางประการของ BOI สำหรับศูนย์ข้อมูลและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล: ผู้ประกอบการศูนย์ข้อมูลสามารถได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สูงสุดถึง 15 ปี

ยกเว้นอากรขาเข้า: ศูนย์ข้อมูลที่ได้รับอนุมัติจาก BOI สามารถนำเข้าอุปกรณ์และเครื่องจักรที่ได้มาตรฐานโดยปลอดภาษีนำเข้า

สิทธิประโยชน์ด้านภาษีสำหรับบุคลากรที่มีทักษะ: บริษัทสามารถได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีสำหรับการจ้างงานบุคลากรที่มีทักษะสูงซึ่งทำงานในศูนย์ข้อมูลและสาขาที่เกี่ยวข้อง

การสนับสนุนการพัฒนาที่ดิน: BOI สามารถช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงที่ดินและเร่งกระบวนการขออนุญาตสำหรับโครงการศูนย์ข้อมูลในเขตที่กำหนดไว้ เช่น EEC

สิทธิประโยชน์เหล่านี้ประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่แข็งแกร่งของประเทศไทยและกลุ่มบุคลากรด้านเทคโนโลยีที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ของไมโครซอฟท์และบริษัทอื่น ๆ ที่ต้องการขยายธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Author

Earn Thongyam

All stories by: Earn Thongyam

Leave a Reply

Your email address will not be published.