fbpx

ตัวเปลี่ยนเกมเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทย – อุตสาหกรรมอัจฉริยะแห่งอนาคต (ตอนที่1)

1024 683 jai

เมื่อครั้งที่ Akio Toyoda ประธานบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง Toyota Motor Corp. บินมาที่กรุงเทพฯ เพื่อฉลองครบรอบ 60 ปี ของการก่อตั้งบริษัทในไทย เขากล่าวถึงประเทศไทยว่าเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของเขา อาณาจักรรถยนต์ที่ครอบครัวของ Toyoda สร้างขึ้นก็เช่นเดียวกัน ในปี 1962 คนงานจำนวนหนึ่งได้ประกอบรถยนต์โตโยต้าที่ผลิตในไทยเป็นคันแรกโดยใช้ชิ้นส่วนนำเข้าจากญี่ปุ่น ปัจจุบันประเทศไทยเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของบริษัทในภูมิภาคเอเชีย คอยดูแลด้านวิศวกรรมและการผลิตใน 20 ประเทศ และทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของการวิจัยและพัฒนา 

นั่นคือความสำคัญของประเทศไทยที่มีต่อโตโยต้า ซึ่ง Toyoda ได้เลือกงานเฉลิมฉลองเมื่อเดือนธันวาคม 2022 สำหรับการเปิดตัวรถบรรทุกไฮลักซ์ที่ขายดีที่สุดแบบใช้แบตเตอรี่ไฟฟ้า (BEV) รุ่นแรก และประกาศความร่วมมือกับกลุ่ม CP เพื่อเปลี่ยนชีวมวลทางการเกษตรให้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจน พร้อมกล่าวว่าอนาคตของทั้งโตโยต้าและประเทศไทยสดใสมากและมีแต่จะยิ่งสดใสขึ้นไปเรื่อย ๆ เท่านั้น 

ความผูกพันระหว่างโตโยต้าและประเทศไทยเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่เพียงแต่ประสบความสำเร็จในการดึงดูดบริษัทที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดของโลกให้มาลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ แต่ยังจัดตั้งเป็นสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคและศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาอีกด้วย 

ในปี 2022 มีบริษัทมากมายที่เข้ามาลงทุนในไทย ตัวอย่างเช่น Amazon Web Services แผนกคลาวด์คอมพิวเตอร์ของ Amazon.com Inc. บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาซึ่งให้คำมั่นว่าจะลงทนถึง 5 พันล้านดอลลาร์ BYD Co. ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของจีนซึ่งทุ่มงบลงทุน 660 ล้านดอลลาร์ และ Foxconn Technology ของไต้หวันที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในฐานะผู้ประกอบ iPhone ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งปัจจุบันกำลังเริ่มต้นในธุรกิจ EV ผ่านการร่วมทุนกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ กับปตท. บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของไทย 

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ของประเทศไทยได้รับการยื่นคำขอลงทุนใหม่ในปี 2022 ทั้งหมดรวมมูลค่าราว 2 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 39% จากปีก่อนหน้า และเมื่อเข้าสู่ปี 2023 BOI ก็ได้เร่งขยายการลงทุนด้วยการเปิดตัวกลยุทธ์ส่งเสริมการลงทุนระยะเวลา 5 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันประเทศไทยเข้าสู่เศรษฐกิจใหม่ ด้วยการนำเสนอสิ่งจูงใจที่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นมาก เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 13 ปี สำหรับดึงดูดนักลงทุนทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ที่จะมาลงทุนในอุตสาหกรรมต้นน้ำและเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การผลิตแผ่นวงจรรวม เทคโนโลยีชีวภาพ นาโนเทคโนโลยี และวัสดุขั้นสูง โดยจะต้องมีการถ่ายทอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีผ่านความร่วมมือด้านการวิจัยกับหน่วยงานไทย 

มาตรการเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ นักลงทุนระยะยาวรายสำคัญจะได้รับผลตอบแทนสำหรับความภักดีด้วยการยกเว้นภาษีเพิ่มเติมและสิทธิพิเศษอื่น ๆ ส่วนผู้ที่มีความคิดจะทำตามแบบอย่างของโตโยต้าและจัดตั้งสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคและดำเนินงานด้านการวิจัยและพัฒนาก็จะได้รับสิทธิประโยชน์อย่างมาก เช่นเดียวกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรวมถึงธุรกิจสตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น สื่อดิจิทัลที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว สำหรับธุรกิจบางประเภทผู้ลงทุนและพนักงานที่มีความสามารถระดับสูงจากต่างประเทศจะมีโอกาสยื่นขอวีซ่าผู้พำนักระยะยาวได้ถึง 10 ปี 

กลยุทธ์ใหม่ซึ่งดำเนินการโดย BOI นั้นมีเป้าหมายอยู่ที่การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อให้แน่ใจว่าประเทศไทยจะยังคงสามารถสร้างนวัตกรรม แข่งขันได้ และมีความหลากหลายในโลกหลังโควิด ที่อีกทั้งยังมุ่งหวังที่จะปฏิบัติตามความฝันอันยาวนานในการเป็นศูนย์กลางของนวัตกรรมดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงเป็นศูนย์กลางธุรกิจ การค้า และโลจิสติกส์ โดยคุณนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการ BOI ให้สัมภาษณ์ว่าจะใช้ BOI และการลงทุนเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจใหม่ 

สิ่งที่สำคัญต่อกลยุทธ์นี้คือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะทำให้เกิดอุตสาหกรรมสีเขียว อัจฉริยะ ที่มุ่งเน้นพลังงานหมุนเวียนจากต่างประเทศและอุตสาหกรรมในประเทศที่กำลังขยายตัวที่กำลังเติบโต ประกอบกับห่วงโซ่อุปทานของรถยนต์ไฟฟ้า การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เป็น 5 ภาคส่วนสำคัญที่เป็นแกนหลักซึ่งคุณนฤตม์กล่าวว่าจะเป็นตัวเปลี่ยนเกมของประเทศไทย 

ในบรรดาบริษัทต่างชาติที่ทาง BOI ต้องการจะดึงดูดคือบริษัทที่กำลังเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเทศให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ในขณะที่โลกให้ความสนใจกับ ESG และนักลงทุนต้องการพลังงานสะอาด ประเทศไทยสามารถจัดหาให้ได้ 

แม้แต่ความวุ่นวายทางภูมิรัฐศาสตร์และการเงินที่รบกวนธุรกิจทั่วโลกก็อาจส่งผลดีต่อประเทศไทย สำหรับประเทศที่ดึงดูดนักลงทุนจากประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลก ทั้งญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา และยุโรป การแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจ สงครามการค้า และการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานในปัจจุบันถือเป็นโอกาสท่ามกลางวิกฤติ โดยประเทศไทยมีความเป็นกลาง เป็นเขตปลอดภัยสำหรับนักลงทุน เปิดกว้างสำหรับทุกคน และยินดีต้อนรับนักลงทุนจากทุกประเทศ  

ตัวเลขอย่างเป็นทางการระบุว่าจากคำขอลงทุน 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปีที่แล้ว ประเทศที่เป็นผู้นำนั้นมาจากหลากหลายเขตทางภูมิศาสตร์การเมือง โดยในแง่ของมูลค่าเป็นตัวเงิน บริษัทจากจีนอยู่ในอันดับที่ 1 โดยคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 2.3 พันล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตามนักลงทุนญี่ปุ่นยังคงครองอันดับหนึ่งหากวัดจากจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติ และยังคงเป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) สะสมรวมที่มากที่สุด ส่วนเมื่อวัดจากขนาดการลงทุน บริษัทจากสหรัฐฯ ตามมาเป็นอันดับสามในปี 2022 โดยมหาอำนาจในเอเชียอย่างไต้หวันและสิงคโปร์อยู่ในอันดับที่สี่และห้า 

ผลตอบรับของนักลงทุนในช่วงแรกต่อกลยุทธ์ใหม่นี้เป็นไปในเชิงบวก Vibeke Lyssand Leirvåg ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทต่างชาติ 9,000 แห่ง ที่ดำเนินกิจการในไทยกล่าวว่า เป็นโรดแมปที่ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงซึ่งออกแบบมาเพื่อปรับโฉมภูมิทัศน์การลงทุน BCG นั้นดึงดูดใจนักลงทุนต่างชาติจำนวนมาก และพวกเขากำลังให้ความสำคัญกับกลยุทธ์นี้ 

ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยนั้นเป็นศูนย์กลางของตลาดผู้บริโภคที่แข็งแกร่งซึ่งมีจำนวนมากถึง 685 ล้านคน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพร้อมทั้งความน่าอยู่และความมั่นคงซึ่งเห็นได้จากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่คาดการณ์ได้แม้ว่าบรรยากาศทางการเมืองจะเปลี่ยนไปอย่างไร หรือการรับมือกับวิกฤตโควิดอย่างมีประสิทธิภาพที่ทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ ประเด็นเหล่านี้ส่งผลให้ประเทศมีความได้เปรียบเหนือแหล่งลงทุนอื่น ๆ ของประเทศคู่แข่ง 

Leave a Reply

Your email address will not be published.