fbpx

ทำไมต้องลงทุนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในประเทศไทย

636 422 jai

อุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศ – ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (E&E) ในระดับภูมิภาคมาอย่างยาวนาน มีชื่อเสียงในด้านการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ มีมูลค่าการส่งออกรวม 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 ตามรายงานของกระทรวงพาณิชย์ นอกจากฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์แล้วสินค้าส่งออกที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ วงจรรวม (IC) เซมิคอนดักเตอร์ ทรานซิสเตอร์ ไดโอด และชิ้นส่วนอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์เหล่านี้รวมกันคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 60% ของการส่งออก E&E ทั้งหมด

ห่วงโซ่อุปทานที่สมบูรณ์ – ห่วงโซ่อุปทานของ E&E ในประเทศไทยนั้นมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970รัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนภาคส่วนนี้มาโดยตลอดผ่านมาตรการจูงใจและอำนวยความสะดวกในรูปแบบต่าง ๆ ดังนั้นอุตสาหกรรมจึงสามารถเติบโตจนกลายมาเป็นหนึ่งในผู้ผลิต E&E ที่มีความสำคัญมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เครือข่ายที่แข็งแกร่งของอุตสาหกรรมสนับสนุน เช่น การผลิตโลหะ พลาสติก และยาง ช่วยให้การจัดหาทำได้ง่ายและคุ้มค่า ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมตำแหน่งของประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางการลงทุนที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรม E&E อัจฉริยะ

ความต้องการ E&E อัจฉริยะที่เพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์อื่น ๆ – เศรษฐกิจอาเซียนสร้างผลผลิตมูลค่ารวมประมาณ 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ทำให้ภูมิภาคเป็นหนึ่งในตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นจะกระตุ้นให้เกิดผลิตภัณฑ์ประเภทใหม่ ไม่เพียงแต่ในหมวด E&E เท่านั้น แต่ยังรวมถึงอุตสาหกรรม/ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลด้วย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งส่วนประกอบดิจิทัลจะเข้ามาแทนที่อุปกรณ์อะนาล็อกแบบเดิม เนื่องจากประเทศไทยยังเป็นผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่อันดับที่ 11 ของโลก ผู้ผลิต E&E จะมองว่าประเทศไทยไม่เพียงเป็นศูนย์กลางการผลิตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงตลาดที่มีศักยภาพด้วย

การสนับสนุนจากภาครัฐและ BOIสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เสนอมาตรการจูงใจในการลงทุนที่น่าสนใจมากมาย ทั้งยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออก และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ภาษี เช่น การบริการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ นอกจากนี้มาตรการต่าง ๆ ยังมีความสามารถในการแข่งขันสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมในการผลิต ซึ่งจะมีการเสนอยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดถึง 8 ปี

 

โอกาสทางธุรกิจ

จากรายงานการค้าโดยกระทรวงพาณิชย์พบว่าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์นั้นถือเป็นสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ของไทยในกลุ่มเดียวกับยานยนต์และคอมพิวเตอร์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศในอุตสาหกรรม E&E และ PCB ต่อไปนี้เป็นเหตุผลบางประการว่าทำไมประเทศไทยจึงเป็นจุดหมายปลายทางที่ดีสำหรับการลงทุนด้านใน E&E

บทบาทที่สำคัญในระดับโลก – ความต้องการอุปกรณ์อัจฉริยะทั้งในกลุ่มผู้บริโภคและอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น อุปกรณ์ IoT จะเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงต่อจากนี้ไปจากความก้าวหน้าในการเปิดใช้งาน 5G ทั่วโลก และประเทศไทยจะเป็นผู้นำเนื่องจากเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ของโลกที่เริ่มดำเนินการ 5G เชิงพาณิชย์ สำหรับการใช้งานในส่วนที่ไม่ใช่ของผู้บริโภค การพัฒนาเมืองอัจฉริยะและการเพิ่มขึ้นของเมืองขนาดใหญ่ บิ๊กดาต้า และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลจะก่อให้เกิดความต้องการของอุปกรณ์อัจฉริยะจำนวนมาก

สถานที่ตั้งและการเข้าถึงตลาด – ประเทศไทยมีช่องทางการเชื่อมต่อทั้งทางอากาศ ทางบก และทางทะเล ทำให้สามารถนำเข้าและส่งออกวัตถุดิบและผลผลิตได้อย่างสะดวกรวดเร็ว อีกทั้งยังตั้งอยู่ใกล้กับจีนและอินเดียที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 และ 6 ของโลกตามลำดับ นอกจากนั้นยังมีเขตเศรษฐกิจพิเศษที่สำคัญ เช่น ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่มอบสิ่งจูงใจและโครงสร้างพื้นฐานระดับโลก ทำให้บริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนพร้อมสำหรับการเข้าถึงตลาดต่างประเทศโดยตั้งอยู่ใกล้กับท่าเรืออุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

ในด้านการเข้าถึงตลาด ประเทศไทยมีเครือข่ายข้อตกลงทางการค้าที่กว้างขวางกับ 18 ประเทศ ผ่านเครือข่ายความตกลงการค้าเสรี (FTA) จำนวน 14 ฉบับ รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่พึ่งได้เข้าร่วม ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์จากการค้าและการลงทุนอีกมาก

ทรัพยากรบุคคลในสาขาที่เกี่ยวข้อง – ประเทศไทยมีจำนวนคนงานในอุตสาหกรรม E&E รวม 752,539 คนในปี 2020 ซึ่งยังไม่รวมกับผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ในสาขาที่เกี่ยวข้องจากระดับการศึกษาต่าง ๆ ได้แก่ อนุปริญญา ปวส. และปริญญาตรี ซึ่งมีอีกประมาณ 80,000 คน แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศในอุตสาหกรรมดังกล่าว

ความง่ายในการทำธุรกิจและศักยภาพในการส่งออก – ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นสถานที่ทำธุรกิจที่ง่ายที่สุดอันดับที่ 21 ของโลก และอันดับที่ 3 ในอาเซียน โดยเป็นจุดที่ประเทศไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ที่สำคัญกว่านั้นคือ BOI กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินธุรกิจและกระบวนการลงทุนดำเนินไปอย่างราบรื่น

ตัวอย่างกิจการที่ได้รับการส่งเสริมจาก BOI

  • กิจการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์
  • กิจการผลิตแผงวงจร และ/หรือชิ้นส่วนแผงวงจร
  • กิจการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์บันทึกข้อมูลและหน่วยความจำ
  • กิจการผลิตอุปกรณ์จัดเก็บพลังงาน
  • กิจการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่อพ่วงและสายสัญญาณ
  • กิจการผลิตชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์สำหรับระบบที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์
  • กิจการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

Leave a Reply

Your email address will not be published.