ภูมิภาคอาเซียนเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดของโลกในปี 2022 อย่างไรก็ตามเราเข้าสู่ปี 2023 พร้อมกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งบางส่วนจะเป็นตัวฉุดการเติบโตทั่วโลกอย่างไม่ต้องสงสัย ธนาคารพัฒนาเอเชีย(ADB) จึงได้ปรับการคาดการณ์สำหรับอาเซียนในปี 2023 จากก่อนหน้าที่ 5.5% เป็น 4.7% จากอุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนตัวลง
ตัวเลขการคาดการณ์นั้นอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับการจัดแบ่งภูมิภาค ตัวอย่างเช่น นักวิเคราะห์ของ Credit Suisse คาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม จะลดลงเหลือ 4.4%ในปี 2023 จากที่คาดการณ์ไว้ 5.6% ในปี 2022
จากตัวเลขเหล่าจะเห็นว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่พอสมควร โดย IMF คาดการณ์การเติบโตทั่วโลกที่ 3.2% ในปี 2022 และ 2.7% ในปี 2023 ด้วยเหตุนี้อาเซียนจึงยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนระหว่างประเทศ เชื้อเชิญให้นักลงทุนได้มาสัมผัสกับภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
เรื่องราวการเติบโตของอาเซียน
ประเทศในอาเซียนอาจได้รับประโยชน์เพิ่มเติมในอนาคตจากตำแหน่งที่ตั้ง เนื่องจากการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับจีนทวีความรุนแรงขึ้น และมหาอำนาจทั้งสองต่างพยายามกระชับความสัมพันธ์กับภูมิภาคให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งสองประเทศได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นในการค้ากับเศรษฐกิจอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน ผ่านความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ส่วนสหรัฐฯ มีเพียงข้อตกลงการค้าเสรีกับบางประเทศเท่านั้น
การแข่งขันระหว่างชาติมหาอำนาจไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยเดียวที่อาจส่งผลดีต่อการเติบโตของอาเซียนในปี 2023 หลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคนี้มีภาคการท่องเที่ยวระหว่างประเทศขนาดใหญ่ และสถานการณ์ของโรคระบาดที่ดีขึ้นจะมีส่วนช่วยให้อุตสาหกรรมฟื้นตัวได้
มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทยมีแนวโน้มว่าภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาดได้ในปี 2023 แต่ยังคงมีข้อสงสัยว่านักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาทันทีหรือไม่ แม้ว่าจะมีการยกเลิกข้อจำกัดเมื่อไม่นานมานี้ก็ตาม โดยเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองของจีนกล่าวว่า จะเริ่มดำเนินการออกวีซ่าสำหรับชาวจีนแผ่นดินใหญ่เพื่อเดินทางไปต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 8มกราคม
นักวิเคราะห์ของ S&P Global แนะนำว่าการชะลอตัวทั่วโลกจะส่งผลกระทบน้อยกว่าต่อเศรษฐกิจที่นำโดยอุปสงค์ภายในประเทศ เช่น อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งทั้งสองประเทศคาดว่าจะมีการเติบโตอย่างน้อย 5% ในปี 2023
อย่างไรก็ตามทั้งหมดเป็นเรื่องรองจากสภาวะเศรษฐกิจที่กล่าวไปตั้งแต่ต้น การเติบโตที่อ่อนแอลงถึงขนาดเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นอุปสงค์ในประเทศอาเซียนลดลง ขณะเดียวกันธนาคารกลางหลายแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อตอบสนองต่ออัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก การไหลออกของเงินทุน การอ่อนค่าของสกุลเงิน และอัตราเงินเฟ้อจากราคาอาหารและพลังงานในตลาดโลกที่สูงขึ้น
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
เศรษฐกิจอาเซียนเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับ FDI ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยปกติแล้วประเทศเหล่านี้จะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับบริษัทที่ต้องการลดความเสี่ยงที่มีต่อจีน เนื่องจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้นและความต้องการที่จะหาแหล่งผลิตที่มีราคาถูกลง
ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้มองเห็นการเติบโตของ GDP ที่เร็วกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งสะท้อนถึงการขยายตัวของประชากรและนโยบายการค้าเสรีที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้บริษัทข้ามชาติมองมาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้นในฐานะศูนย์กลางทางการผลิตแห่งใหม่ โดยได้รับความสนใจจากค่าจ้างที่แข่งขันได้ การปรับปรุงกฎระเบียบทางธุรกิจและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้น
สิงคโปร์มีการลงทุนจากต่างประเทศ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2021 มีอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ไอที การบินและอวกาศ อิเล็กทรอนิกส์ เวชภัณฑ์ และการบริการ
FDI ทั้งหมดในอินโดนีเซีย ณ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2022 สูงถึง 5.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 75% ของเป้าหมาย 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าจะยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลขอย่างเป็นทางการแต่รัฐบาลก็มั่นใจว่าจะบรรลุเป้าหมายได้ ส่วนในปี 2023 รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะเพิ่ม FDI เป็น 9.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอินโดนีเซียเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่เป็นสมาชิก G20 และด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และตลาดในประเทศที่มีขนาดใหญ่ถึง 260 ล้านคน ทำให้ประเทศนี้เป็นโอกาสที่ดีสำหรับการลงทุนในระยะยาว
เวียดนามเปิดโอกาสให้นักลงทุนเข้าถึงอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันระดับนานาชาติ รวมถึงให้การเข้าถึงตลาดและให้ความมั่นใจแก่ผู้ผลิตมากกว่าจีน ท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน เวียดนามกลายเป็นซัพพลายเออร์ทางเลือกของผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดปลายทางหลักสำหรับการส่งออกอยู่แล้ว ในทำนองเดียวกันอุตสาหกรรมสิ่งทอของเวียดนามดูมีความน่าสนใจมากขึ้นหลังจากกฎหมายที่ผ่านในสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานและฝ้ายที่มาจากซินเจียงของจีน
ในขณะเดียวกันไทยเป็นผู้รับการลงทุนจากจีนอย่างต่อเนื่องมาระยะหนึ่งแล้ว โดยประเทศนี้เป็นศูนย์กลางของอาเซียน เป็นส่วนสำคัญในแผน Belt and Road Initiative ของจีนสำหรับการเชื่อมต่อทั่วโลก และยังเป็นที่สนใจของการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งมีนักลงทุนมองว่าประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายสำหรับโครงการริเริ่มใน Crypto, Fintech, Blockchain และ AI มากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับการดูแลสุขภาพและการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์
ตัวอย่างข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มระยะยาวที่จะดำเนินต่อไปแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะอ่อนแอก็ตาม การเพิ่มขึ้นของ FDI อย่างต่อเนื่องในอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม มีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปในปี 2566
การเปิดประเทศของจีน
จีนและสภาพเศรษฐกิจของประเทศนั้นส่วนหนึ่งมีผลมาจากความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์และเครือข่ายการค้ากับประเทศใกล้เคียง ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน
ผลกระทบจากการเปิดประเทศอย่างกะทันหันของจีนน่าจะเกิดขึ้นเป็นทวีคูณ โดยในไตรมาสแรกของปี 2023 โควิดและไวรัสอื่น ๆ ที่ถูกยับยั้งไว้ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะขยายปัญหาคอขวดของซัพพลายเชนและอุปสงค์ที่ลดลง อย่างไรก็ตามหลังจากช่วงเวลาที่ยากลำบาก จีนน่าจะได้พบกับช่วงของการเติบโตเหมือนกับที่หลาย ๆ ประเทศได้เจอไปก่อนหน้านี้ ซึ่งข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะฟื้นตัวขึ้นเป็น 4.3% ในปี 2023 จากประมาณ 2.7% ในปี 2022
การเปิดประเทศมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อตัวเลขข้อมูลทางเศรษฐกิจ แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงความตึงเครียดอย่างต่อเนื่องในภาคอสังหาริมทรัพย์ และแม้ว่าบางภาคส่วนของเศรษฐกิจอาเซียนอาจถูกมองว่าจะได้รับผลประโยชน์จากปัญหาภายในของจีนและสงครามการค้ากับสหรัฐฯ แต่การเติบโตของจีนนั้นจะเป็นผลดีต่อภูมิภาคอาเซียนโดยรวมมากกว่า
Leave a Reply