fbpx
boi-thailand-supports-startup-and-healthcare

ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ: ประตูสู่ความรุ่งเรืองของประเทศไทย

640 426 admin

ประเทศไทยมีที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ใจกลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นสะพานเชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้สามารถเข้าถึงตลาดทั้งในท้องถิ่นและตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน อินเดีย และภูมิภาคอาเซียนได้อย่างรวดเร็ว จุดยืนที่โดดเด่นนี้ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นประตูทางการค้าระหว่างประเทศที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนต่างชาติ ด้วยกรอบการเปิดเสรีทางการค้า นโยบายการค้าที่ก้าวหน้า และข้อตกลงการค้าเสรีจำนวนมาก ประเทศไทยได้พัฒนาขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตชั้นนำสำหรับบริษัทต่างชาติ

อย่างไรก็ตามท่ามกลางพลวัตของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ประเทศไทยตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงขีดความสามารถในการแข่งขันของตนเพื่อรักษาจุดยืนในแนวหน้าไว้ให้ได้ โดยมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ลดขั้นตอนในการลงทุน และผลักดันความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังได้ริเริ่มโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่สำคัญเพื่อยกระดับความน่าดึงดูดใจของการลงทุนในประเทศอีกด้วย

ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor; EEC) ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ถูกออกแบบมาเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศไทยให้ทันสมัย เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นนวัตกรรมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการในปี 2018 EEC ได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยมากกว่า 4.93 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากนี้ไปประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับจุดยืนของตัวเองในฐานะประตูสู่ทวีปเอเชียที่สำคัญด้วยการนำเสนอโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการเชื่อมมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกเข้าด้วยกัน

 

ต่อยอดความสำเร็จ สู่ EEC ที่ใกล้ชิดและเชื่อมโยงมากยิ่งขึ้น

นอกเหนือจากการดึงดูดการลงทุนจำนวนมากในภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายแล้ว EEC ยังได้เห็นความคืบหน้าในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน 4 โครงการสำคัญซึ่งมีมูลค่าการลงทุนกว่า 1.83 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการขยายท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาในจังหวัดระยอง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะก้าวขึ้นสู่การเป็นท่าอากาศยานนานาชาติแห่งที่สามของประเทศ มีการลงทุนมากกว่า 5.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปีนี้และแล้วเสร็จภายในปี 2027 ซึ่งเมื่อการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร รันเวย์และทางขับที่สอง ศูนย์กระจายสินค้าทางอากาศ ศูนย์ฝึกอบรมการบิน และ Airport City เสร็จสมบูรณ์ สนามบินจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 60 ล้านคนต่อปี

นอกจากนี้โครงการรถไฟความเร็วสูงจะช่วยยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาค โดยจะเชื่อมต่อกับสนามบินหลักทั้ง 3 แห่งของประเทศ ได้แก่ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา ช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางระหว่างสนามบินเหล่านี้เหลือไม่ถึง 1 ชั่วโมง คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2027 ในขณะเดียวกันโครงการทางน้ำต่าง ๆ เช่น ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ก็มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2027 เช่นกัน

รัฐบาลไทยยังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการเติบโตของ EEC อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้อนุมัติร่างแผนแม่บทสำหรับการพัฒนา EEC ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2023-2027) มุ่งเน้นที่การดึงดูดการลงทุนใหม่มูลค่า 1.39 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับปรุงประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่ออนาคตที่สดใสสำหรับทั้งภาคธุรกิจและนักลงทุน

 

แลนด์บริดจ์ สะพานเศรษฐกิจเชื่อมทวีป

ในขณะที่ในโครงการสำคัญอย่าง EEC กำลังดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับความสำคัญทางยุทธศาสตร์เพิ่มเติมอีกทาง ด้วยการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) โดยมีหัวใจสำคัญคือโครงการแลนด์บริดจ์ซึ่งจะมุ่งเน้นการเชื่อมต่อทางทางภูมิศาสตร์ระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก

ภายใต้แผนวิสัยทัศน์ของรัฐบาลไทยจะมีการสร้างท่าเรือ 2 แห่งที่ชายฝั่งตรงข้ามกัน คือ ที่จังหวัดระนองบนฝั่งทะอันดามันและจังหวัดชุมพรบนฝั่งอ่าวไทย ด้วยแนวคิด “One Port Two Sides” โดยท่าเรือทั้งสองแห่งนี้จะเชื่อมต่อกันด้วยมอเตอร์เวย์ 6 เลน รถไฟทางคู่ และถนนบริการ 2 เลน ระยะทางประมาณ 89.35 กิโลเมตร โครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่นี้จะมีทั้งส่วนที่อยู่บนพื้นดิน ทางยกระดับ รวมถึงอุโมงค์ที่ลอดผ่านพื้นที่ภูเขา

ในฐานะโครงการสำคัญของ SEC และท่าเรือน้ำลึกแห่งแรกของภาคใต้ แลนด์บริดจ์มุ่งหวังที่จะเป็นประตูการค้าที่สำคัญสำหรับการขนส่งสินค้าและการค้าทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายที่จะสร้างตัวเองให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางทะเล (Transshipment Hub) เชื่อมมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งสำหรับเรือขนส่งสินค้าขนาดเล็ก (Feeder) โดยหลีกเลี่ยงความแออัดบนเส้นทางเดินทะเลอื่น ๆ เช่น ช่องแคบมะละกา อีกทั้งยังมุ่งหวังไม่เพียงแค่ส่งเสริมการเชื่อมโยงเท่านั้น แต่ยังมุ่งมั่นที่จะพัฒนาต่อไปเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (FEZ) และศูนย์กลางพลังงานทางทะเลสีเขียว โดยมีเป้าหมายที่ท้าทายในการบรรลุสถานะท่าเรือปลอดคาร์บอนภายในปี 2030

การก่อสร้างมอเตอร์เวย์ 6 เลนและถนนบริการจะช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งระหว่างสองจังหวัดภาคใต้ ช่วยปูทางสู่การพัฒนาเขตอุตสาหกรรมท่าเรือ โดยพื้นที่นี้มีศักยภาพสำหรับนิคมอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจพิเศษ จึงมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อไปได้ในอนาคต รถไฟทางคู่จะแบ่งเป็นรางมาตรฐานสำหรับอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือ และรางขนาด 1 เมตร เพื่อเชื่อมต่อกับทางรถไฟสายหลักของประเทศและเครือข่ายของ Greater Mekong Subregion (GMS) นอกจากนี้ยังมีการเตรียมการสำหรับโครงการขนส่งในอนาคตเพื่อรองรับความต้องการที่กำลังจะเกิดขึ้น โครงการขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมนี้จะไม่เพียงเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งเสริมโอกาสใหม่ ๆ และยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่นอย่างมาก

เพื่อสนับสนุนโครงการขนาดใหญ่ในครั้งนี้ รัฐบาลไทยเตรียมที่จะออกกฎหมาย SEC และจัดตั้งสำนักงาน SEC เพื่ออำนวยความสะดวกในการลงทุนผ่านสิทธิประโยชน์ ผลประโยชน์ และมาตรการส่งเสริมอย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกัน “Thailand Landbridge Roadshow” ก็ได้ออกเดินทางไปทั่วโลก ตั้งแต่สหรัฐอเมริกาไปจนถึงตะวันออกกลางและทั่วทั้งเอเชีย สร้างกระแสตอบรับที่ดีจากนักลงทุนต่างชาติทั่วโลก

 

เดินหน้าสู่อนาคตกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค

ควบคู่ไปกับความก้าวหน้าของ SEC ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษอีกสามแห่งทั่วประเทศไทยก็มีความคืบหน้าไปมากเช่นกัน โดยระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor; NEC) ได้นำแนวคิด ‘Creative LANNA’ มาใช้เพื่อยกระดับตัวเองให้เป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โครงการนี้จะมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมระบบนิเวศน์ด้านความคิดสร้างสรรค์ ยกระดับผลิตภัณฑ์และบริการที่สร้างสรรค์ รวมถึงลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในจังหวัดต่าง ๆ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และลำปาง โดยมีอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ เทคโนโลยีดิจิทัล ศูนย์ออกแบบผลิตภัณฑ์ ศูนย์กลางทางวัฒนธรรม และอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารสมัยใหม่

ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor; NeEC) กำลังเห็นการพัฒนาในเมืองต่าง ๆ เช่น นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับภูมิภาคนี้ให้เป็นเขตอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ ด้วยการส่งเสริมการลงทุนในภาคเกษตรกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง มุ่งเน้นที่การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรม นอกจากนี้ NeEC ยังมีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว-ไทย ซึ่งทำให้การลงทุนในพื้นที่นี้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น

สุดท้ายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก (Central Western Economic Corridor; CWEC) ครอบคลุมจังหวัดอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี อาศัยความได้เปรียบด้านที่ตั้งใกล้กับกรุงเทพฯ ทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ และโครงสร้างพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมที่มีอยู่ CWEC มุ่งมั่นที่จะเป็นศูนย์กลางสำหรับอุตสาหกรรมเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เป้าหมายของโครงการนี้รวมถึงการเชื่อมต่อกับกรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบรวมถึง EEC อย่างราบรื่น นอกจากนั้นยังมุ่งหวังที่จะเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญสำหรับการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยเน้นไปที่การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์อีกด้วย

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published.