fbpx

อาเซียนกำลังสร้างความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างไร

1024 683 Earn Thongyam

ภาพในอนาคตที่คาดหวังไว้ของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) คือความเป็นหนึ่งเดียว ทั้งด้านวิสัยทัศน์ อัตลักษณ์ และประชาคม แต่วิสัยทัศน์ดังกล่าวกำลังถูกสั่นคลอนจากความปั่นป่วนที่เกิดจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิทัลอย่างรวดเร็ว รวมถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ที่ท้าทาย

การสร้างความเชื่อมั่นที่มากขึ้นระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในแง่ของเครื่องมือทางนโยบายและวิสัยทัศน์ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อความก้าวหน้าและความปรารถนาที่จะพัฒนาเป็นประชาคมแห่งโอกาสสำหรับทุกคน โดยโอกาสที่สำคัญประการหนึ่งในขณะนี้คือระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งคาดว่าจะเติบโตจากประมาณ 3 แสนล้านดอลลาร์ เป็นเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2030

อาเซียนเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีการเติบโตเร็วที่สุดในโลก มีการคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่แท้จริงเฉลี่ยจะเติบโตได้ที่ 4.8% ในปี 2024 และจะขยับขึ้นเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่อันดับ 4 ของโลกภายในปี 2030 โดยมีแรงขับเคลื่อนจากประชากร 700 ล้านคน ซึ่งประกอบไปด้วยคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาซึ่งอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้นและชนชั้นกลางที่กำลังเติบโต

สำหรับผู้คนจำนวนมากในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะกลุ่มคนหนุ่มสาว การรวมเอาเทคโนโลยิดิจิทัลเข้ากับชีวิตประจำวันได้เปลี่ยนแปลงวิธีการบริโภคข้อมูล การซื้อสินค้าและบริการ การใช้บริการทางการเงิน และการติดต่อกับราชการ รัฐบาลของทั่วทั้งภูมิภาคตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลที่กำลังดำเนินอยู่ และวางนโยบายเพื่อส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคที่เฟื่องฟู

อุปสรรคที่สำคัญต่อสิ่งนี้คือความแตกต่างทางเศรษฐกิจ สังคม ระดับการพัฒนา และระบบการกำกับดูแลที่แตกต่างกันของภูมิภาค โดยเครื่องมือ นโยบาย กฎระเบียบ และกฎหมายที่เป็นมาตรฐานจะเป็นวิธีการสำคัญในการรับมือกับปัญหาเหล่านี้ ซึ่ง ASEAN Digital Masterplan 2025 และ Bandar Seri Begawan Roadmap ก็เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือดังกล่าว

 

แนวทางสู่การประสานกลยุทธ์ดิจิทัล

แผนแม่บทนั้นได้รับการออกแบบมาเพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ของสังคมดิจิทัลและเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน   ในขณะที่โรดแมปจะนำเสนอแผนงานสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลของภูมิภาค เพื่อเร่งการบูรณาการเศรษฐกิจดิจิทัล ผ่านการนำกรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (The ASEAN Digital Economy Framework Agreement) มาใช้

ด้วยวิสัยทัศน์และแผนงานดังกล่าวทำให้กรอบการทำงานนี้มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงภูมิภาคครั้งสำคัญ นับเป็นความตกลงว่าด้วยเศรษฐกิจดิจิทัลระดับภูมิภาคแห่งแรกของโลก และอาจเป็นแนวทางสำหรับการร่วมมือกันระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่มีระดับของการบูรณาการดิจิทัลไม่ท่ากัน นอกจากนี้ยังทำให้ให้อาเซียนสามารถวางแผนความตกลงที่เหมาะสมกับประเทศสมาชิกทั้งหมด โดยคำนึงถึงระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกัน แทนที่จะพึ่งพาโมเดลที่สร้างขึ้นในภูมิภาคอื่นของโลก

หัวข้อสำหรับการเจรจา ได้แก่ การค้าดิจิทัล อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน ความมั่นคงทางไซเบอร์และความปลอดภัยออนไลน์ ดิจิทัลไอดี การชำระเงินดิจิทัล การเคลื่อนย้ายข้อมูล นโยบายการแข่งขัน ทักษะดิจิทัลและการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีความสามารถ รวมถึงหัวข้อใหม่ ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ ประเทศสมาชิกอาเซียนนั้นตระหนักถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจมหาศาลที่สามารถเก็บเกี่ยวได้จากเศรษฐกิจดิจิทัล และเข้าใจว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลเป็นกลยุทธ์พื้นฐานสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่งคั่ง

การเข้าร่วมการเจรจาเกี่ยวกับกรอบความตกลงว่าด้วยเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศสมาชิกจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจและนักลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนที่ครอบคลุมและยั่งยืน เป็นการปูทางสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ การสร้างงาน และโอกาสในการลงทุน

หากวางแผนอย่างครอบคลุม กรอบความตกลงว่าด้วยเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนจะสร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยเสริมพลังและเชื่อมโยงวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดย่อม เข้ากับตลาดระดับภูมิภาคและตลาดโลก สนับสนุนการพัฒนาทักษะดิจิทัลและสร้างงานที่มีคุณภาพสำหรับทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง เยาวชน หรือชุมชนในชนบท รวมถึงเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจทั้งแบบร่วมกันและเป็นรายบุคคล

 

กรอบการทำงานที่ครอบคลุมสำหรับอาเซียน

ความคืบหน้าเบื้องต้นนั้นเป็นที่น่าประทับใจ ประเทศต่าง ๆ มีการร่วมมือกันเพื่ออำนวยความสะดวกด้านเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับการชำระเงินข้ามพรมแดน โดยไทยและสิงคโปร์เป็นผู้นำในเรื่องนี้ ระบบ PromptPay และ PayNow ของทั้งสองประเทศ ช่วยให้สามารถโอนเงินผ่านโทรศัพท์มือถือได้อย่างรวดเร็วและประหยัด โดยใช้เพียงแค่หมายเลขโทรศัพท์ของผู้รับ

ความก้าวหน้านี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในอนาคต และเมื่ออาเซียนเริ่มเข้าสู่การเจรจาเกี่ยวกับความตกลงกรอบเศรษฐกิจดิจิทัล จำเป็นต้องมีกระบวนการปรึกษาหารืออย่างครอบคลุมเพื่อให้มั่นใจว่าได้รับฟังเสียงจากทุกฝ่าย ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนที่ครอบคลุมและยั่งยืน

World Economic Forum ร่วมกับกองทุนความร่วมมืออาเซียน-เกาหลี ได้จัดตั้งโครงการ ASEAN Digital Economy Agreement Leadership เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินการเหล่านี้ โดยมีเป้าหมายสนับสนุนประเทศสมาชิกอาเซียนในการแก้ไขความพร้อม เอาชนะความท้าทาย และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัล

กิจกรรมเพิ่มขีดความสามารถ ศูนย์รวมข้อมูลออนไลน์ การสำรวจธุรกิจประจำปี และการหารือเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัล จะเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ โครงการนี้ยังเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเจรจา เช่น ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และภูมิภาคอื่น ๆ ที่การดำเนินนโยบายด้านดิจิทัลประสบผลสำเร็จแล้ว

การสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลที่แข็งแกร่งและบูรณาการจะช่วยให้อาเซียนสามารถแข่งขันในเศรษฐกิจโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมอบโอกาสอันยิ่งใหญ่ให้แก่ประชาชน กรอบการทำงานด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระดับภูมิภาคจะต้องอาศัยความร่วมมือ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเชื่อมั่นในระดับที่สูงขึ้น และหากประสบความสำเร็จ ก็จะส่งเสริมเป้าหมายของการเป็นอาเซียนที่เข้มแข็งและรวมเป็นหนึ่งเดียว

Author

Earn Thongyam

All stories by: Earn Thongyam

Leave a Reply

Your email address will not be published.