fbpx

ประเทศไทยในอันดับโลก

1024 675 jai

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของภูมิภาคในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) อย่างต่อเนื่องจากข้อได้เปรียบมากมายสำหรับนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการทำธุรกิจในเอเชีย บรรยากาศทางธุรกิจที่น่าดึงดูดในการลงทุนของภาคเอกชนได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยมาตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ภาคเอกชนมีบทบาทที่สำคัญในการสร้างและรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศไปพร้อมกับการพัฒนาทางเทคโนโลยี

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดยืนเชิงบวกของรัฐบาลไทยต่อนักลงทุนต่างชาติส่งผลให้การลงทุนใด ๆ ในประเทศไทยไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล เว้นแต่จะมีการยื่นขอสิ่งจูงใจพิเศษที่เสนอโดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของเศรษฐกิจไทยนั้นเปิดกว้างต่อนักลงทุนต่างชาติ ประเทศไทยยังคงพัฒนาความน่าดึงดูดใจสำหรับ FDI อย่างต่อเนื่องผ่านโครงการริเริ่มต่าง ๆ ของรัฐบาล ซึ่งพยายามทำให้ประเทศเข้าถึงได้มากขึ้นสำหรับผู้ที่ต้องการขยายฐานการดำเนินธุรกิจของตนในเอเชีย ขณะเดียวกันก็ลดข้อจำกัดสำหรับการเริ่มต้นหรือขยายกิจกรรมทางธุรกิจดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้การจัดอันดับโดยรวมของประเทศดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

หากให้เลือกตัวชี้วัดความน่าดึงดูด 5 อันดับแรกของประเทศไทยตามการสำรวจ World Competitiveness Executive Opinion Survey ของ IMD สภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อธุรกิจถือเป็นปัจจัยแรกและสำคัญที่สุดมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนปัจจัยอื่น รองลงมา ได้แก่ เศรษฐกิจที่มีพลวัต ทัศนคติที่เปิดกว้างและเป็นบวก โครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อถือได้ และต้นทุนที่แข่งขันได้ ส่วนในการจัดอันดับ World Competitiveness Ranking 2023 ประเทศไทยได้อันดับที่ 30 จาก 64 ประเทศเศรษฐกิจ โดยมีผลการดำเนินงานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเป็นอันดับที่ 16 รัฐบาลที่มีประสิทธิภาพอันดับที่ 24 และความมีประสิทธิภาพทางธุรกิจอันดับที่ 23 ซึ่งทั้งหมดมีส่วนช่วยส่งผลถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แม้ว่าโครงสร้างพื้นฐานจะอยู่ในอันดับที่ 43 แต่ผลการดำเนินงานโดยรวมของประเทศไทยแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการเป็นจุดหมายปลายทางทางธุรกิจและคุณภาพชีวิตที่ดี

ในขณะเดียวกัน U.S. News & World Report’s Best Countrys ประจำปี 2023 จัดให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 29 จาก 85 ประเทศที่เข้าร่วมทั่วโลก โดยได้รับอันดับสูงในหมวดหมู่การผจญภัย (#5) การเติบโตในอนาคต (#8) โอกาสในการทำธุรกิจ (#9) และมรดกทางวัฒนธรรม (#9) แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการเป็นจุดหมายปลายทางชั้นนำระดับโลกสำหรับโอกาสในการลงทุน ด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง อิทธิพลในระดับโลกที่เพิ่มขึ้น และความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์นวัตกรรม ประเทศไทยจึงกลายเป็นสถานที่ที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่กำลังแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ นอกจากนี้ประเทศไทยยังอยู่ในอันดับที่ 2 ในประเภทการเริ่มต้นธุรกิจ และอันดับที่ 18 สำหรับการเกษียณอายุที่สะดวกสบาย อันดับที่น่าประทับใจเหล่านี้ถือเป็นหลักฐานยืนยันถึงสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อธุรกิจและค่าครองชีพที่ไม่สูงมากของประเทศไทย ตอกย้ำสถานะของประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางในอุดมคติสำหรับทั้งผู้ประกอบการและผู้เกษียณอายุ

 

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล

รัฐบาลไทยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้ก้าวหน้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโมเดลเศรษฐกิจอุตสาหกรรม 4.0 ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างประเทศไทยให้เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ด้วยการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยและการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลมาใช้ จากการตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรม 4.0 ในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขัน รัฐบาลจึงได้ส่งเสริมความคิดริเริ่มเพื่อทำให้อุตสาหกรรมทันสมัยขึ้นและเพิ่มผลผลิตผ่านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูล

จากงานวิจัยล่าสุดที่จัดทำโดย ETHRWorld กรุงเทพฯ ได้รับการจัดอันดับให้เป็นสถานที่ที่ดีที่สุดอันดับสองของโลกสำหรับการเป็น Digital Nomad ในปี 2023 เน้นย้ำถึงความน่าดึงดูดของประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางสำหรับผู้ทำงานระยะไกลและผู้ประกอบการดิจิทัล ด้วยทิวทัศน์ของเมืองที่มีชีวิตชีวา มรดกทางวัฒนธรรมอันยาวนาน และโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่ยอดเยี่ยม กรุงเทพฯ จึงมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสำหรับผู้ที่มองหาโอกาสทางอาชีพและคุณภาพชีวิตที่ดี พื้นที่ทำงานอันล้ำสมัย การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่รวดเร็วและเสถียร ตลอดจนตัวเลือกด้านอาหารและความบันเทิงที่หลากหลาย ช่วยให้เมืองนี้มีชื่อเสียงในฐานะศูนย์กลางที่น่าดึงดูดสำหรับผู้เร่ร่อนทางดิจิทัลจากทั่วโลก

 

การดูแลสุขภาพ

ตามการสำรวจของ CEOWORLD ในปี 2021 การดูแลสุขภาพของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 13จาก 89 ประเทศทั่วโลก แซงหน้าประเทศในยุโรป เช่น นอร์เวย์ เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงประเทศอื่น ๆ ในเอเชียส่วนใหญ่ การสำรวจนี้เป็นการประเมินโครงสร้างพื้นฐานด้านการดูแลสุขภาพของประเทศ ความสามารถของผู้ประกอบวิชาชีพ ต้นทุน ความพร้อมของการรักษา และการจัดการของรัฐบาล ซึ่งอันดับที่สูงนี้เป็นข้อพิสูจน์ถึงระบบการดูแลสุขภาพที่แข็งแกร่งของประเทศ บุคลากรทางการแพทย์ที่มีทักษะสูง ค่ารักษาพยาบาลที่เข้าถึงได้ และการบริหารจัดการบริการด้านสุขภาพของรัฐที่มีประสิทธิผล

นอกจากนั้นแล้ว John Hopkins University ยังจัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ที่ 5 จาก 195 ประเทศที่มีความมั่นคงด้านสุขภาพที่ดีที่สุด เป็นประเทศกำลังพัฒนาเพียงประเทศเดียวที่อยู่ในสิบอันดับแรกและเป็นอันดับที่หนึ่งของเอเชีย ตาม 2021 Global Health Security Index

 

ครัวโลก

ในปี 2019 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 12 ของโลกในด้านผลผลิตรวมทางการเกษตร เป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 4 ผู้ผลิตข้าวรายใหญ่อันดับ 6 และผู้ผลิตยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์อันดับหนึ่งของโลก จากสถิติที่จัดทำโดยธนาคารโลกประเทศไทยครองตำแหน่งสูงสุดในตลาดโลกสำหรับการส่งออกมันสำปะหลัง ปลาทูน่ากระป๋อง และสับปะรดกระป๋องในปี 2021 นอกจากนี้ยังอยู่อันดับที่ 2 ของการส่งออกข้าว และอันดับที่ 3 ของการส่งออกน้ำตาล ประเทศไทยมีบริษัทแปรรูปอาหารประมาณ 9,000 แห่ง คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 52% ของการส่งออกอาหารทั้งหมด และเกือบ 15% ของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ในฐานะหนึ่งในประเทศส่งออกอาหารสุทธิที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกอาหารสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.88 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022

 

การผลิตและเศรษฐศาสตร์

ในแต่ละปีอันดับของประเทศไทยได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นในหลายด้าน การเกินดุลการค้าเมื่อเทียบกับ GDP อยู่ในอันดับที่ 25 และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในอันดับที่ 13 ผลผลิตทางการเกษตรอยู่ในอันดับที่ 12 ในขณะที่ภาคการผลิตอยู่ในอันดับที่ 18 เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับที่ 25 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเป็นอันดับที่ 21 นอกจากนี้ยังเป็นผู้ส่งออกยานยนต์รายใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD) รายใหญ่อันดับสองของโลก ส่วนในด้านการผลิตไบโอดีเซลประเทศไทยเป็นผู้ผลิตอันดับที่ 5 ของโลก และอันดับที่ 1 ในอาเซียน โดยรวมแล้วประเทศไทยมีขนาดเศรษฐกิจอยู่ในอันดับที่ 24 และมีผลผลิตด้านบริการอันดับที่ 26 แม้ว่าทั่วโลกจะต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่เศรษฐกิจของไทยยังคงเดินหน้าต่อไป โดยมีคำขอเปิดโรงงานใหม่รวมทั้งสิ้น 2,612 แห่ง ทำให้เกิดโอกาสการจ้างงานใหม่เกือบ 82,000 คนในปี 2021 ตามข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรม

Leave a Reply

Your email address will not be published.