fbpx

สำรวจการฟื้นฟูเศรษฐกิจและโอกาสการลงทุนของประเทศไทย

751 408 jai

แนวโน้ม GDP ของประเทศไทยคาดว่าจะเติบโตอยู่ระหว่าง 2.7-3.6% ในปี 2023 เพิ่มขึ้นจาก 2.6% ในปี 2022 โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจจะได้รับแรงหนุนจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวและการบริโภคของภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น

เศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เผชิญกับภาวะถดถอยอย่างรุนแรงในปี 2020เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดย GDP ในปีดังกล่าวลดลงถึง 6.1% นับเป็นการหดตัวครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย

แม้ว่าไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการในปีนี้ ตั้งแต่ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง การส่งออกที่หดตัวเนื่องจากความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก และการบริโภคของประชาชนที่คาดว่าจะลดลง แต่ประเทศไทยก็ยีงมีโอกาสมากมายสำหรับนักลงทุนทั้งในประเทศและชาวต่างชาติ ตำแหน่งที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ของไทยซึ่งเป็นศูนย์กลางของอาเซียนทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและการกระจายสินค้าที่สำคัญโดยเชื่อมโยงโดยตรงกับตลาดจีนและเอเชีย

อุตสาหกรรมต่างๆ ที่แสดงแนวโน้มการเติบโตที่ดีในปี 2023 มีดังต่อไปนี้

ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัว

การท่องเที่ยวเป็นภาคส่วนที่สำคัญสำหรับประเทศไทย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของ GDP โดยในปี 2019 ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเยือนประเทศมากถึง 39 ล้านคน นำมาซึ่งเศรษฐกิจมูลค่าถึง 6.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

ประเทศไทยมีความกระตือรือร้นเป็นพิเศษในการฟื้นฟูตลาดนักท่องเที่ยวจีน หลังจากที่จีนเปิดพรมแดนอีกครั้งเมื่อต้นเดือนมกราคม รัฐบาลตั้งเป้าว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวจีน 5 ล้านคนในปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจอย่างน้อย 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2023 ประเทศไทยรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วจำนวน 9.47 ล้านคน และมีแนวโน้มว่ารวมทั้งปีจะมากกว่า 11.5 ล้านคน ของปีที่ผ่านมา ซึ่งตัวเลขนี้เคยลดลงเหลือเพียง 427,869 คน ในปี 2021

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคาดว่าในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมารวม 25 ล้านคน ตั้งเป้าสร้างรายได้ 7.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และอุตสาหกรรมจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาดภายในปี 2025 โดยคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามาถึง 40 ล้านคน ในปี 2024

การส่งออกอาหารเพิ่มสูงขึ้น

การส่งออกอาหารคาดว่าจะสร้างรายได้ 4.43 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับประเทศในปีนี้ เพิ่มขึ้น 2.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีสาเหตุมาจากอุปสงค์ทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นจากการที่ประเทศต่าง ๆ ฟื้นตัวจากโรคระบาดโดยเฉพาะจีน

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ที่สุดของโลก และเป็น 1 ใน 10 อันดับแรกของผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญหลายชนิด เช่น ข้าว สับปะรด มันสำปะหลัง อ้อย ยางธรรมชาติ และมะพร้าว การส่งออกอาหารคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 23% ของ GDPและประเทศมีเป้าหมายที่จะเพิ่มเป็น 5.86 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2036

โอกาสการลงทุนในประเทศไทย

ด้วยขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากอินโดนีเซีย ประเทศไทยจึงมีโอกาสทางการลงทุนมากมายสำหรับธุรกิจต่างชาติ การบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ควบคู่ไปกับการผลิตที่เน้นการส่งออกที่แข็งแกร่ง ส่งผลให้ไทยได้รับสถานะเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงตั้งแต่ปี 2011

การผลิตมูลค่าเพิ่ม: เศรษฐกิจของประเทศไทยนั้นขึ้นอยู่กับการส่งออกซึ่งคิดเป็นประมาณ 60% ของ GDP ก่อนเกิดโรคระบาด ด้วยเหตุนี้ภาคการผลิตของประเทศจึงมีบทบาทสำคัญมาก โดยคิดเป็นสัดส่วน 27% ของ GDP ในปี 2021 ทำให้ความสำเร็จหรือความล้มเหลวของภาคส่วนนี้มักจะเป็นตัวกำหนดสภาพโดยรวมของเศรษฐกิจ

ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้สร้างภาคการผลิตที่แข็งแกร่ง ซึ่งขณะนี้มีความกระตือรือร้นที่จะดึงดูดการลงทุนสำหรับการผลิตเทคโนโลยีขั้นกลาง/สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคู่แข่งระดับภูมิภาคอย่างเวียดนามและกัมพูชากลายเป็นศูนย์กลางใหม่สำหรับการผลิตต้นทุนต่ำในภูมิภาค

การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า: รัฐบาลไทยต้องการให้ประเทศพัฒนาเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดย Mercedes ผู้ผลิตรถยนต์หรูสัญชาติเยอรมันเลือกประเทศไทยเป็นโรงงานแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น EQS ร่วมกับ Toyota และ Great Wall Motor ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนก็ได้ลงนามในแผนจูงใจของรัฐบาลเพื่อทำการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

การวางจุดยืนของประเทศในฐานะศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคได้รับการจัดการอย่างรวดเร็วด้วยสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ มากมาย เช่น การยกเว้นภาษี 3-11 ปี และแรงจูงใจในการลงทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานของรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์: ประเทศไทยสร้างรายได้ 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์กว่า 4 ล้านคน ในปี 2019 ซึ่งคิดเป็น 3% ของ GDP และคาดว่าจะสูงถึง 3.5% ก่อนที่จะเกิดโรคระบาด โดยมีลูกค้าส่วนใหญ่จากสหรัฐอเมริกา ตะวันออกกลาง และยุโรป

ค่ารักษาพยาบาลสามารถลดลงได้ถึง 30% เมื่อเทียบกับประเทศตะวันตก และคุณภาพของการรักษาก็เทียบได้กับโรงพยาบาลชั้นนำทั่วโลก อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยคาดว่าจะมีมูลค่า 2.44 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2027

การผลิตอาหารฮาลาล: แม้จะมีชาวมุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อย แต่ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาลรายใหญ่อันดับที่ 12 ของโลก และเป็นผู้ผลิตอาหารฮาลาลรายใหญ่อันดับที่ 5 โดยอาหารฮาลาลคิดเป็นสัดส่วน 20% ของการส่งออกอาหารทั้งหมดของประเทศ และ 60% ของการส่งออกนั้นเป็นการส่งไปยังประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน ด้วยเหตุนี้ประเทศจึงอยู่ในตำแหน่งที่ดีที่จะเป็นศูนย์กลางสำหรับการผลิตอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลในภูมิภาค

ประเทศไทยได้บรรลุยุทธศาสตร์สำคัญหลายประการในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล เช่น การเพิ่มขีดความสามารถในการรับรองและกำหนดสูตรฮาลาล รวมถึงการยกระดับการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้อง

ข้อตกลงเขตการค้าเสรีใหม่

ประเทศไทยมีข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ทั้งหมด 14 ฉบับ รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งถือเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นข้อตกลงฉบับล่าสุดที่ประเทศได้ลงนาม

ข้อตกลงเขตการค้าเสรีเหล่านี้ทำให้นักลงทุนได้รับประโยชน์จากการแข่งขันเมื่อนำเข้าส่วนประกอบ วัตถุดิบ และปัจจัยการผลิตทางอุตสาหกรรมอื่น ๆ จากประเทศที่ทำสัญญาร่วมกัน

ล่าสุดไทยตั้งเป้าที่จะบรรลุ FTA เพิ่มเติมกับสหภาพยุโรป ศรีลังกา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ภายในกลางปี 2024 เนื่องจากต้องการขยายการเข้าถึงตลาดสำหรับการส่งออกและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

การทำ FTA กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะทำให้ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงฉบับแรกกับประเทศจากตะวันออกกลาง โดยปัจจุบันสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 6 ของไทยและใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง นอกจากนี้การทำ FTA กับศรีลังกาจะช่วยให้ไทยเข้าถึงตลาดเอเชียใต้และสร้างความเชื่อมโยงกับอินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ และเนปาล

Leave a Reply

Your email address will not be published.