fbpx

ขับเคลื่อนประเทศไทยผ่านการลงทุนในพลังงานสู่ความยั่งยืน (ตอนที่ 2)

728 467 jai

การขยายตัวทางอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาสอดคล้องกับการเติบโตของ B.Grimm Power บริษัทที่ในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ B. Grimm group ที่ก่อตั้งขึ้นในไทยเมื่อ 145 ปีที่แล้ว โดย Bernhard Grimm เภสัชกรชาวเยอรมันและหุ้นส่วนชาวออสเตรีย

ในช่วงทศวรรษ 1990 บริษัทได้ขยายธุรกิจไปสู่กลุ่มพลังงานหลังจากมองเห็นโอกาสในการจัดหาไฟฟ้าและไอน้ำจากก๊าซธรรมชาติให้กับโรงงานต่าง ๆ ในนิคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่ตั้งอยู่ตามแนวชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของประเทศ ปัจจุบัน B.Grimm Power ป็นกลุ่มบริษัทข้ามชาติที่ไม่เพียงแต่เป็นหนึ่งในเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าชั้นนำในประเทศไทย แต่ยังเป็นผู้จัดหาพลังงานสะอาดจากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ลม และน้ำทั่วทั้งทวีปเอเชียและยุโรป

B.Grimm Power นั้นมีประสบการณ์กับโครงการที่เป็นสถิติโลกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2020บริษัทได้ร่วมมือกับ EGAT และบริษัท Energy China ในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไฮบริดลอยน้ำขนาด 45 MW แห่งแรกของโลกบนพื้นที่ 288 ตารางกิโลเมตร ในอ่างเก็บน้ำสิรินธรทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

ในปีเดียวกันนั้นยังได้ร่วมกับ Korea Electric Power Corporation และ Energy China เพื่อจัดหาไฟฟ้าให้กับสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา และ Airport City ที่อยู่ติดกัน ซึ่งทั้งสองแห่งเป็นโครงการหลักในการพัฒนา EEC ที่เป็นศูนย์กลางการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยสู่เศรษฐกิจแห่งอนาคตโดย B.Grimm Power และพันธมิตรได้สร้างระบบไฮบริดที่เป็นสถิติโลกซึ่งประกอบด้วยโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติขนาด 80MW โซลาร์ฟาร์มขนาด 15MW และระบบเก็บพลังงานขนาด 50MW

ในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมที่ B.Grimm Power ได้เริ่มต้นธุรกิจพลังงานนั้น บริษัทได้จับมือกับบริษัท AMATA Corporation ที่กำลังพัฒนานิคมอุตสาหกรรมให้เป็นเมืองอัจฉริยะ และกลุ่มปูนซิเมนต์ไทยหรือ SCG กลุ่มบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เพื่อเพิ่มการจัดหาพลังงานสะอาดและวางระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงานให้มากขึ้น ซึ่งโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างมากจาก BOI

คุณนพเดช กรรณสูต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานการลงทุน นวัตกรรม และความยั่งยืนของ B.Grimm Power กล่าวในการให้สัมภาษณ์ว่า ประเทศไทยนั้นเป็นหนึ่งในผู้นำของภูมิภาคในการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนให้เป็นแผนแม่บทของประเทศซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และบริษัทโชคดีมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานดังกล่าว โดย BOI มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้กับกลุ่มนักลงทุน

ปัจจุบันบริษัทกำลังมุ่งเน้นไปที่ยุทธศาสตร์ระยะยาวที่ชื่อว่า Greenleap โดยจะลงทุนประมาณ 2พันล้านดอลลาร์ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเกือบสามเท่าจาก 3,668 MW เป็น 10,000 MW ภายในปี 2030 ควบคู่ไปกับการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็นสองเท่าจาก 25% ไปเป็น 50%

ด้วยความต้องการที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกลงให้ได้ 80% ภายในปี 2050B.Grimm Power คาดการณ์ว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะต้องใช้พลังงานหมุนเวียนถึง 920GW ในขณะที่ตามเป้าหมายนั้นจะทำได้เพียง 340 GW ทำให้ยังขาดอยู่อีกเกือบ 600 GW จึงแทบจะพูดได้ว่าความต้องการสำหรับพลังงานหมุนเวียนนั้นไม่มีขีดจำกัด

โครงการริเริ่มด้านพลังงานสะอาดของประเทศไทยนั้นสอดคล้องกับแนวทางของ Western Digital Corporation หนึ่งในซัพพลายเออร์ด้านโครงสร้างพื้นฐานการจัดเก็บข้อมูลรายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในประเทศไทยมาอย่างยาวนานเช่นกัน โดยในปีนี้บริษัทได้ตั้งเป้าหมายใหม่อันทะเยอทะยานซึ่งรวมถึงการดำเนินงานทั่วโลกด้วยพลังงานหมุนเวียนแบบ 100% ภายในปี 2030 ส่วนในประเทศไทยได้มีการประกาศความร่วมมือกับ EGAT และ Innopower ซึ่งเป็นบริษัทนวัตกรรมด้านพลังงานที่ก่อตั้งโดยบริษัทสาธารณูปโภคด้านพลังงานชั้นนำของประเทศไทย ในโครงการไฟฟ้าสีเขียว (Green Tariff) ที่มุ่งขับเคลื่อนการใช้พลังงานสะอาดในประเทศ โดยWestern Digital จะใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนกับโรงงานที่บางปะอินทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ และทดลองใช้พลังงานสีเขียวที่จัดหาโดย Innopower

ทางด้านบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกอย่าง Amazon ก็ได้ตั้งเป้าหมายที่ยากยิ่งขึ้นไปอีก นั่นคือการดำเนินงานด้วยพลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี 2025 โดยในปี 2022 Amazon Web Services หนึ่งในหน่วยธุรกิจของบริษัทได้ประกาศจะเปิดโครงสร้างพื้นฐานระดับภูมิภาคในประเทศไทย โดยจะลงทุนเป็นมูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 15 ปีข้างหน้า

Amazon เป็นผู้ซื้อพลังงานหมุนเวียนรายใหญ่ที่สุดของโลก บริษัทกล่าวว่าองค์กรที่ย้ายงานประมวลผลมายัง AWS Cloud จะได้รับประโยชน์จากผลลัพธ์ของความพยายามด้านความยั่งยืนของบริษัทในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยในบรรดาลูกค้ากลุ่มแรก ก็มี ENRES สตาร์ทอัพไทยที่ใช้งาน Internet of Things และปัญญาประดิษฐ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารและโรงงานในขณะเดียวกับที่สร้างประโยชน์ให้กับโลกไปพร้อม ๆ กัน

เส้นทางสู่พลังงานหมุนเวียนของประเทศไทยที่ผ่านมานั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย Hashizume จากธนาคารพัฒนาเอเชียเล่าว่าตอนที่ ADB เคยช่วยสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์ระดับโครงสร้างสาธารณูปโภคเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในประเทศไทยเมื่อปี 2010 ก็มีความกังขาอย่างมากเกี่ยวกับต้นทุนและความน่าเชื่อถือของพลังงานหมุนเวียน

ต่อมาความกระตือรือร้นในการใช้พลังงานหมุนเวียนของประเทศดูเหมือนจะลดลงไปสองสามปี เนื่องจากความพร้อมใช้งานของพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ จนปัจจุบันประเทศไทยได้ตื่นตัวอีกครั้งกับโอกาสต่าง ๆ และพร้อมที่จะใช้ประโยชน์จากการลงทุนระลอกใหม่ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากบริษัทต่าง ซึ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องการยกระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

นอกเหนือจากพลังงานแสงอาทิตย์ ลม และน้ำแล้ว Hashizume ยังมองเห็นโอกาสใหม่ จากไฮโดรเจนสีเขียว แอมโมเนียสีเขียว การขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า การดักจับคาร์บอน และพลังงานลมนอกชายฝั่ง

Leave a Reply

Your email address will not be published.