fbpx

แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลในอาเซียน

1024 683 Content Writer

แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลในอาเซียน

พลวัตทางเศรษฐกิจของอาเซียนนั้นเป็นที่รู้จักกันดี และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาภูมิภาคนี้ได้เห็นถึงการเกิดขึ้นของเศรษฐกิจดิจิทัลที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก โดยโควิด-19 มีส่วนช่วยเร่งให้เกิดกระแสนี้ ส่งผลให้มีผู้บริโภคดิจิทัลใหม่ถึง 60 ล้านคน นับตั้งแต่เริ่มมีการระบาด และเศรษฐกิจทางอินเทอร์เน็ตจะมีมูลค่าถึง 360,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2025

การเร่งตัวของเศรษฐกิจดิจิทัลควบคู่ไปกับความต้องการที่ถูกจำกัดในช่วงโควิด-19 ได้กระตุ้นการเกิดนวัตกรรมและผู้ประกอบการที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภูมิภาค ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากตัวชี้วัดต่าง ๆ  ตามข้อมูลของ Bloomberg บริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระดมทุนได้ประมาณ 8.2 พันล้านดอลลาร์ในปี 2020 ซึ่งทำได้ดีกว่าตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ ส่วนใหญ่ แม้ว่าจะมีการชะลอตัวลงในปี 2022 ตามแนวโน้มทั่วโลก โดยในปี 2021 มีบริษัทสตาร์ทอัพที่เป็นยูนิคอร์น (มูลค่าตั้งแต่ 1 พันล้านดอลลาร์ขึ้นไป) ในอาเซียนมากกว่า 30 ราย และตัวเลขดังกล่าวก็กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ด้วยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ นักลงทุนได้มองข้ามจุดหมายของการลงทุนสตาร์ทอัพในอดีต เช่น สิงคโปร์ที่มีนวัตกรรมระดับโลกมาอย่างยาวนาน และอินโดนีเซียซึ่งเป็นที่นิยมเนื่องจากเป็นตลาดขนาดใหญ่ มายังประเทศอื่น ๆ เช่น มาเลเซียและเวียดนาม ในขณะเดียวกันผู้บริโภคกลุ่ม Millennial และ Gen Z ที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่เพิ่มมากขึ้นกำลังกลายเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของการเร่งทางดิจิทัลนี้ เป็นการสร้างมุมมองเชิงบวกให้กับนวัตกรรมในเศรษฐกิจดิจิทัลอีกด้วย

ความท้าทายที่เกิดจากโรคระบาดได้เร่งให้เกิดนวัตกรรมในภาคส่วนเฉพาะ Agritech Healthtech และ Edtech นวัตกรรมที่สร้างขึ้นจากการรวมเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับการเกษตรและอาหาร การดูแลสุขภาพ และการศึกษา ได้เห็นการพัฒนาที่สำคัญ ตัวอย่างเช่น ในสิงคโปร์ นโยบายริเริ่ม การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) และกฎระเบียบใหม่ ๆ เพื่อช่วยส่งเสริมการผลิตเนื้อสัตว์ในห้องแล็บและเกษตรกรรมแบบยั่งยืนในเขตเมือง ทำให้ประเทศสามารถดึงดูดบริษัทสตาร์ทอัพชั้นนำในด้านนี้ได้

ในประเทศอาเซียนอื่น ๆ แอปพลิเคชั่นมือถือที่เชื่อมต่อกับผู้ให้บริการทางการแพทย์มีการเติบโตอย่างมากในช่วงล็อคดาวน์ หนึ่งในแพลตฟอร์มเครือข่ายการดูแลสุขภาพที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในภูมิภาคนี้ คือ Halodoc จากอินโดนีเซียที่เชื่อมโยงผู้ป่วยทั่วทั้งหมู่เกาะเข้ากับแพทย์ และให้บริการจัดส่งยาถึงบ้านในช่วงที่ประเทศประสบกับปัญหาการระบาดของโควิด-19 สูงสุด

เทคโนโลยีการศึกษากลายเป็นสิ่งจำเป็นเมื่อต้องปิดโรงเรียนจากโควิด-19 และภาคส่วนนี้ก็เติบโตขึ้นอย่างมากตั้งแต่ปี 2020 แต่ตัวอย่างของการเริ่มต้นธุรกิจ Edtech ในระดับภูมิภาคนั้นมีมาตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาด เช่น ช่องทางออนไลน์สำหรับการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ EasyUni ซึ่งก่อตั้งขึ้นในกัวลาลัมเปอร์เมื่อปี 2008 เพื่อเชื่อมโยงนักเรียนเข้ากับโอกาสทางการศึกษาระดับนานาชาติ

หากภูมิภาคต้องการใช้ประโยชน์และต่อยอดจากการพัฒนาเชิงบวกเหล่านี้เพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประเทศรายได้ระดับปานกลางและระดับสูง ประเด็นต่าง ๆ ต่อไปนี้จะต้องได้รับการจัดการ

ผู้ประกอบการที่มีทักษะสูงเป็นกุญแจสำคัญในการเกิดและการรวมตัวของศูนย์นวัตกรรม อาเซียนต้องขยายการลงทุนในการพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับในชนบทและพื้นที่รอบนอกซึ่งมีการขาดแคลนทักษะมากที่สุด การลงทะเบียนเรียนในระดับอุดมศึกษาในภูมิภาคอาเซียนมีค่าเฉลี่ยที่ต่ำกว่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกมาก

ภูมิภาคนี้จำเป็นต้องยกระดับคุณภาพของมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งนอกจากในสิงคโปร์แล้วยังไม่ทัดเทียมกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชียแปซิฟิก ไม่น่าแปลกใจที่ผู้ประกอบการดิจิทัลในอาเซียนที่ประสบความสำเร็จจำนวนมากคือคนที่กลับมาพร้อมปริญญาจากต่างประเทศ การเปิดเสรีเพื่อให้การศึกษาที่มีคุณภาพโดยอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศและเชื่อมต่อกับเครือข่ายการศึกษาระดับโลกเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างพื้นฐานสำหรับผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยี อินโดนีเซียได้มีการเปิดวิทยาเขตที่มีเจ้าของเป็นต่างชาติแห่งแรกเมื่อปีที่แล้ว

ในขณะเดียวกันผู้กำหนดนโยบายของอาเซียนควรพิจารณาถึงวิธีที่จะทำให้เกิดการหมุนเวียนของผู้มีความสามารถในระดับภูมิภาคได้ง่ายขึ้น ซึ่งสามารถทำได้โดยการลดความซับซ้อนของการย้ายถิ่นฐานภายในอาเซียนและดึงดูดผู้มีความสามารถด้านดิจิทัลเข้ามาในภูมิภาคมากขึ้น สิงคโปร์เป็นผู้บุกเบิกแนวคิดนี้ด้วย Tech.Pass ที่พึ่งเปิดตัวซึ่งประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนสามารถทำตามได้

การจัดการกับความแตกต่างและความหลากหลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนนวัตกรรมดิจิทัล ผลลัพธ์ที่ได้จากเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนนั้นมีความเข้มข้นสูงในบางภาคส่วน โดยเฉลี่ยแล้วพื้นที่เขตเมืองอาเซียนได้รับประโยชน์อย่างไม่สมส่วนในแง่ของการสร้างดิจิทัลสตาร์ทอัพ บางประเทศไม่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพียงพอในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งทำให้การเป็นผู้ประกอบการด้านดิจิทัลเป็นเรื่องยาก

ผู้ชายและบริษัทขนาดใหญ่ยังได้รับผลตอบแทนในสัดส่วนที่ไม่เท่าเทียมผ่านนวัตกรรมดิจิทัล ผู้หญิงล้าหลังในแง่ของโอกาสในการเป็นผู้ประกอบการ ความรู้ทางวิชาการ และการเป็นผู้นำ SME ของอาเซียนลงทุนและนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในอัตราที่ต่ำกว่ากลุ่มบริษัทขนาดใหญ่มาก การพัฒนาความคิดริเริ่มระดับภูมิภาค เช่น Go Digital ASEAN ซึ่งขยายการมีส่วนร่วมทางทักษะดิจิทัลใน 10 ประเทศ มีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำนี้

สุดท้ายแล้วแม้ว่าตัวชี้วัดที่คอยติดตามเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนจะไม่ได้ถูกกล่าวถึงเสมอไป แต่มันมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจถึงการพัฒนาในภูมิภาค ความเหลื่อมล้ำที่กำลังเพิ่มขึ้นทำให้เราต้องมีความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้นและวางแผนสำหรับการเกิดขึ้นของศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลในอาเซียน

ตัวชี้วัดบางตัวที่ใช้กันทั่วไปในการประเมิณนวัตกรรมเหล่านี้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สิทธิบัตรและการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา อาจไม่เหมาะสมกับประเทศที่กำลังพัฒนา บริษัทในภูมิภาคนี้มีแนวโน้มที่จะจดสิทธิบัตร ลงทุน หรือรายงานการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในระดับต่ำ อีกทั้งยังมีเศรษฐกิจนอกระบบขนาดใหญ่ นักวิจัยและผู้กำหนดนโยบายจึงจำเป็นต้องคิดอย่างสร้างสรรค์และใช้ข้อมูลที่มีอยู่มากมายเพื่อติดตามแนวโน้มและการพัฒนา สิ่งนี้จะสร้างความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับภูมิภาคและทำให้เกิดการใช้งานมาตรการที่จำเป็นที่สุดเพื่อพัฒนาความสามารถทางดิจิทัลอย่างครอบคลุมในอนาคต

 

Author

Content Writer

All stories by: Content Writer

Leave a Reply

Your email address will not be published.