fbpx

ธนาคารโลกในประเทศไทย

751 408 Content Writer

ประเทศไทยเป็นตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จในการพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ ด้วยนโยบายทางเศรษฐกิจที่ชาญฉลาด ทำให้ประเทศยกระดับขึ้นมามีรายได้ปานกลางระดับสูง และกำลังดำเนินไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ตลอดสี่ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก สามารถเลื่อนจากประเทศที่มีรายได้ต่ำไปสู่ประเทศที่มีรายปานกลางระดับสูงโดยใช้เวลาไม่ถึงชั่วอายุคน ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงได้รับการกล่าวถึง ในแง่ของ “ความสำเร็จด้านการพัฒนา” อย่างกว้างขวาง จากการเติบโตที่แข็งแกร่งอย่างยั่งยืน และการลดความยากจนที่น่าประทับใจ  แต่ขณะที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการยับยั้งการติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เศรษฐกิจกลับได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและนำไปสู่สภาวะการว่างงานในวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อทั้งครัวเรือนชนชั้นกลาง และกลุ่มคนยากจน รวมถึงเป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการลดความยากจนที่ได้ทำมา

การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยคาดว่าจะมีการหดตัวในปี 2563 ซึ่งอาจมีความรุนแรงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เนื่องจากอุปสงค์ภายนอกที่ลดลง ส่งผลกระทบต่อการค้าและการท่องเที่ยว การหยุดชะงักของซัพพลายเชน และการบริโภคภายในประเทศที่ลดลง การระบาดของโรคมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การว่างงานจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากการควบคุมการแพร่เชื้อและมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ผลกระทบต่อสวัสดิภาพของครัวเรือนมีแนวโน้มที่รุนแรงเช่นกัน จำนวนประชากรที่ขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มผู้ที่ดำรงชีวิตอยู่ด้วยรายได้ต่ำกว่าา 5.5 ดอลลาร์ต่อวัน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจาก 4.7 ล้านคนในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 เป็นประมาณ 9.7 ล้านคนในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 ก่อนจะฟื้นตัวเล็กน้อยเป็น 7.8 ล้านคนในไตรมาสที่ 3 ปี 2563 โดยรัฐบาลได้ตอบสนองอย่างรวดเร็วด้วยมาตรการช่วยเหลือด้านการคลัง (6% ของ GDP) ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในแง่ของขนาดและความหลากหลายของเครื่องมือที่นำมาใช้ เพื่อมุ่งเป้าไปที่การสนับสนุนครัวเรือนและบริษัทที่มีความเปราะบาง ธนาคารโลกพร้อมให้การสนับสนุนโครงการฟื้นฟูจากโควิด-19 ของรัฐบาลด้วยเครื่องมือต่าง ๆ อย่างเต็มรูปแบบ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาการเติบโตทางเศรษฐกิจมีการชะลอตัวจาก 4.2% ในปี 2561 เป็น 2.4% ในปี 2562 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากความต้องการส่งออกที่ลดลงซึ่งสะท้อนถึงผลกระทบของความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน การชะลอการลงทุนของภาครัฐ รวมถึงปัญหาภัยแล้งซึ่งส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร ความท้าทายหลักในการพัฒนาซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตในอนาคตหากต้องการเปลี่ยนสถานะสู่ประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2580 ได้แก่ ความอ่อนแอของการพัฒนาระบบการศึกษาและทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้าง ซึ่งส่งผลต่อภาคการผลิตและโอกาสของคนรุ่นใหม่ในอนาคต อีกประการคือความไม่เท่าเทียมกันในเชิงพื้นที่เพิ่มสูงขึ้น หมายถึงผู้คนในพื้นที่ห่างไกลจะสูญเสียโอกาสและล้าหลังทั้งในเชิงเศรษฐกิจและตัวชี้วัดด้านสวัสดิภาพ

 

 

ความยากจนลดลงอย่างมากในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาจาก 65.2% ในปี 2531 เหลือ 9.85% ในปี 2561 อย่างไรก็ตามการเติบโตของรายได้ครัวเรือนและการบริโภคต่างหยุดชะงักทั่วประเทศในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ความคืบหน้าของการลดความยากจนในประเทศไทยกลับตรงกันข้าม ระหว่างปี 2558 ถึง 2561 อัตราความยากจนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 7.2% เป็น 9.8% และจำนวนของประชากรที่ใช้ชีวิตอย่างยากจนเพิ่มขึ้นจาก 4.85 ล้านคนเป็นมากกว่า 6.7 ล้านคน การเพิ่มขึ้นของความยากจนในปี 2561 เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในทุกภูมิภาคคิดเป็น 61 จาก 77 จังหวัด ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนคนจนเพิ่มขึ้นกว่าครึ่งล้านในช่วงเวลาดังกล่าว ขณะที่ภาคใต้ซึ่งได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งกลายเป็นภูมิภาคที่มีอัตราความยากจนสูงสุดเป็นครั้งแรกในปี 2560

ความเหลื่อมล้ำ เมื่อวัดจากค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคด้านรายได้ (Gini coefficient) เพิ่มขึ้นระหว่างปี 2558 ถึง 2560 โดยมีค่าเฉลี่ยการบริโภคของครัวเรือนต่อหัวเพิ่มขึ้น แต่การบริโภคของครัวเรือนที่อยู่ในระดับล่างสุด 40% ของประชากรกลับลดลง จากรายงานดัชนีใหม่ของธนาคารโลก ที่เรียกว่า ดัชนีทุนมนุษย์ (Human Capital Index) ซึ่งวัดระดับผลผลิตของของประชากรวัยทำงานรุ่นใหม่เทียบกับศักยภาพที่พวกเขาพึงมีหากได้รับการศึกษาและการดูแลสุขภาพอย่างดีที่สุด พบว่าคุณภาพการศึกษาเป็นความท้าทายที่สำคัญมากสำหรับประเทศไทย เด็กไทยที่เกิดวันนี้คาดว่าจะได้รับการศึกษา 12.7 ปีก่อนอายุครบ 18 ปี อย่างไรก็ตามเมื่อคำนึงถึงคุณภาพของการเรียนรู้แล้วจะเทียบเท่ากับการศึกษาเพียง 8.7 ปี ซึ่งมีความต่างอยู่ถึง 4 ปี อัตราการรอดชีวิตของกลุ่มประชากรวัยผู้ใหญ่ในประเทศไทยอายุระหว่าง 15-60 ปีนั้นต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศทั้งหมดที่มีข้อมูล ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาทั้งการตรวจพบโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นเป็น 3 และ 4 เท่าตามลำดับ รวมถึงอัตราการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนนที่สูง ล้วนแต่ส่งผลด้านลบต่ออัตราการรอดชีวิตของผู้ใหญ่ โดยคาดว่าจะมีเด็กอายุ 15 ปีเพียง 87% เท่านั้นที่จะมีชีวิตอยู่จนถึงอายุ 60 ปี

 

การวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาประเทศไทยอย่างเป็นระบบ: กลับสู่เส้นทาง ฟื้นฟูการเติบโตและสร้างความมั่งคั่งให้กับทุกคน

 

ประเด็นสำคัญ

ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากในการขจัดความยากจนและกระจายความมั่งคั่ง
  • เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราเฉลี่ย 7% ต่อปีเป็นเวลาเกือบสี่ทศวรรษก่อนวิกฤตการเงินเอเชียในปี 2540
  • รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 2% ต่อปีในช่วงปี 2543-2556
  • การส่งออกเติบโตในอัตรา 15% ต่อปีในช่วงปี 2529-2539 โดยในเวลาเดียวกันมีการลงทุนของภาคเอกชนเฉลี่ยมากกว่า 30% ของ GDP
  • การเติบโตที่สูงช่วยลดความยากจนจาก 67% ในปี 2529 เป็น 5% ในปี 2557

 

รายงานระบุมาตรการสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยกลับสู่เส้นทาง ฟื้นฟูการเติบโตและสร้างความมั่งคั่งให้กับทุกคน
  • สร้างงานที่ดีเพิ่มขึ้น โดยการส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มการแข่งขันผ่านข้อตกลงการค้าเสรีและลดกฎระเบียบข้อบังคับ รวมถึงเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระดับบริษัทด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม
  • ให้การสนับสนุนแก่ประชากรกลุ่มล่างสุด 40% โดยการปรับปรุงการศึกษาและทักษะของแรงงาน กระตุ้นการผลิตภาคเกษตรกรรม และสร้างระบบคุ้มครองทางสังคมที่มีประสิทธิภาพ
  • สร้างการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ด้วยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ ลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
  • สร้างความเข้มแข็งให้กับการดำเนินงานของสถาบันในภาครัฐ เพื่อดำเนินการตามแผนที่วางไว้

 

ติดตามช่องทางสำหรับรับข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติม ได้ที่ 

Youtube: Interloop Solutions & Consultancy

 

Author

Content Writer

All stories by: Content Writer

Leave a Reply

Your email address will not be published.