fbpx

แผนวีซ่าใหม่ของไทยมุ่งเป้าไปยัง Digital Nomad ที่ร่ำรวยจากยุโรป

1024 684 Content Writer

แผนวีซ่าใหม่ของไทยมุ่งเป้าไปยัง Digital Nomad ที่ร่ำรวยจากยุโรป

เร็ว ๆ นี้ ประเทศไทยกำลังจะเปิดรับคำขอสำหรับโครงการ “Golden Visa” ระยะเวลา 10 ปี ซึ่งมุ่งเป้าไปยังชาวต่างชาติที่ร่ำรวย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ทำงานในภาคส่วนเทคโนโลยีและ Digital Nomad หรือ “ผู้ที่ทำงานระยะไกลจากประเทศไทย” ตามที่รัฐบาลกล่าวไว้ โดยแผนดังกล่าวคาดว่าจะสร้างมูลค่าราว 2.6 หมื่นล้านยูโรให้กับเศรษฐกิจของประเทศในช่วงทศวรรษหน้า

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ประมาณการว่าอย่างน้อย 50% ของผู้ที่ยื่นขอวีซ่าระยะยาว (LTR) จะมาจากยุโรป

“เรามั่นใจว่า LTR จะดึงดูดความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายของเราในยุโรปได้เป็นอย่างดี” เขากล่าว “ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่ชาวยุโรปชื่นชอบอยู่แล้ว ผลตอบรับที่เราได้รับจากแคมเปญก่อนเปิดตัวสะท้อนให้เห็นถึงความสนใจเป็นอย่างมาก และคาดว่า LTR จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอีกหลังจากเริ่มโครงการ”

ประเทศจากสหภาพยุโรปเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่อันดับสองของประเทศไทยรองจากญี่ปุ่น โดยมีมูลค่าการลงทุนโดยตรง (FDI) ในประเทศไทยอยู่ที่ 1.98 หมื่นล้านยูโร ณ สิ้นปี 2020 

 

ผู้ใดบ้างที่มีสิทธิ์ได้รับวีซ่าในโครงการใหม่

โครงการใหม่ซึ่งจะเริ่มเปิดรับคำขอในวันที่ 1 กันยายน เสนอวีซ่าทำงานให้กับชาวต่างชาติใน 4 ประเภท โดยมีข้อกำหนดพื้นฐานคือ ต้องมีสินทรัพย์อย่างน้อย 1 ล้านดอลลาร์ และมีรายได้ต่อปีอย่างน้อย 80,000 ดอลลาร์ แม้ว่ากฎเกณฑ์จะแตกต่างกันเล็กน้อยในแต่ละกลุ่ม โดย “ผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะสูง” จะต้องทำงานในภาคส่วนที่รัฐบาลไทยเห็นว่าจำเป็น

“ผู้ที่ทำงานระยะไกลจากประเทศไทย” ซึ่งมุ่งเป้าไปที่พนักงานในกลุ่มเทคโนโลยีเป็นหลัก จะต้องได้รับการว่าจ้างจากบริษัทที่มีรายได้อย่างน้อย 150 ล้านดอลลาร์ ในช่วงสามปีหลัง

“พลเมืองโลกผู้มั่งคั่ง” จะต้องมีการลงทุนอย่างน้อย 500,000 ดอลลาร์ ในเศรษฐกิจของประเทศไทย นับรวมทั้งพันธบัตรและอสังหาริมทรัพย์

ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติสำหรับ “ผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะสูง” จะได้รับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 17% (เทียบกับ 35% สำหรับผู้ที่มีรายได้มากกว่า 140,000 ดอลลาร์ ในวีซ่าแบบปกติ)

ผู้ถือวีซ่า LTR ทุกคนจะได้รับใบอนุญาตทำงานและสิทธิ์ในการกลับเข้าประเทศใหม่ โดยวีซ่า LTR จะมีอายุ 10 ปี และสามารถต่ออายุได้ สิทธิประโยชน์เหล่านี้จะมีผลกับผู้ถือวีซ่าหลักพร้อมกับผู้ติดตามสูงสุดสี่คน รวมคู่สมรสและบุตร

บริษัทที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้จะได้รับการยกเว้นจากกฎหมายที่กำหนดให้จ้างชาวไทยสี่คนต่อพนักงานต่างชาติหนึ่งคน

ในปี 2018 ประเทศไทยเคยจัดโครงการ “ Smart Visa ” เสนอสิ่งจูงใจให้กับนักลงทุนต่างชาติที่ร่ำรวย ซึ่งเกือบ 50% ของผู้สมัครที่ได้รับการรับรองมาจากประเทศในยุโรป นายนริศกล่าว

เขากล่าวว่ากลุ่ม “ผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะสูง” ภายใต้วีซ่า LTR ใหม่ “เหมือนเป็นการขยายระยะเวลาและสิทธิพิเศษของโครงการ Smart Visa”

 

วีซ่าใหม่ไม่ใช่ตัวเปลี่ยนเกมสำหรับธุรกิจ

Guillaume Rebiere กรรมการบริหารของสมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์ในประเทศไทยกล่าวว่ากระแสตอบรับจากธุรกิจในยุโรปนั้น “โดยทั่วไปแล้วเป็นบวก แต่ส่วนใหญ่แล้วจะรอดูก่อน”

“นักธุรกิจหลายคนที่อยู่ในประเทศไทยอยู่แล้วได้แสดงความสนใจในการสมัคร เนื่องจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบริหารสำหรับพวกเขา” เขากล่าว “จนถึงขณะนี้เรายังไม่เห็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหรือความสนใจในการย้ายการดำเนินงานมายังประเทศไทยเพื่อรอแผนดังกล่าว”

Hans van den Born กรรมการบริหารหอการค้าเนเธอร์แลนด์-ไทย ได้เห็นการตอบสนองเช่นเดียวกัน “ปฏิกิริยาแรกเริ่มยังนิ่งอยู่” เขากล่าว “ผมเดาว่ามันต้องการเวลาและใช้การสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้นอีกมากเพื่อให้เกิดแรงฉุด”

นักวิเคราะห์มองว่ารัฐบาลไทยมีการมองโลกในแง่ดีเล็กน้อยในการคาดการณ์ โดย BOI คาดว่าจะมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ LTR 1 ล้านคนภายในปี 2027 ซึ่งหากแต่ละคนสร้างมูลค่า 28,000 ดอลลาร์ให้กับเศรษฐกิจในประเทศ โครงการทั้งหมดจะมีมูลค่ารวม 2.76 หมื่นล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตามมีการออกวีซ่าเพียง 1,200 ฉบับ ภายใต้โครงการสมาร์ทวีซ่านับตั้งแต่เริ่มในเดือนกุมภาพันธ์ 2018 แม้ว่าโครงการ LTR ใหม่จะให้สิ่งจูงใจที่มากขึ้นและยืนยันว่าจะใช้ระบบราชการน้อยลง

“ผมไม่คิดว่ามันจะเป็นตัวเปลี่ยนเกมสำหรับการลงทุนของชาวดัตช์ในอนาคต เนื่องจากมีปัจจัยสำคัญอื่น ๆ อีกมากมายก่อนที่บริษัทต่าง ๆ จะตัดสินใจลงทุนในส่วนนี้ของโลก” van den Born กล่าว และเสริมว่าโครงการน่าจะมีส่วนช่วยให้นักลงทุนที่กำลังมีแผนจะลงทุนรู้สึกดีมากขึ้น

 

ไทยเร่งฟื้นฟูจากการเกิดโรคระบาด

เช่นเดียวกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ ไทยประสบปัญหาขาดผู้มาเยือนอย่างมากในช่วงของการเกิดโรคระบาด โดยการท่องเที่ยวนั้นคิดเป็นสัดส่วนประมาณหนึ่งในห้าของ GDP ก่อนเกิดโรคระบาด 

คงต้องรอดูกันต่อไปว่าโครงการวีซ่ารูปแบบใหม่นี้จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้มากขึ้นหรือไม่

Lynn Tastan หัวหน้าฝ่าย Global Mobility Services ที่ KPMG สำนักงานบัญชีระหว่างประเทศ กล่าวว่าวีซ่า LTR นั้นมีข้อบกพร่องบางประการ เช่น ผู้รับบำนาญชาวยุโรปอาจต้องการยื่นขอวีซ่าเกษียณอายุที่มีอยู่เดิมของประเทศไทย ซึ่งมีภาระผูกพันด้านการลงทุนต่ำกว่าที่กำหนดไว้ภายใต้หมวด “ผู้เกษียณอายุผู้มั่งคั่ง” ของโครงการ LTR

“ความท้าทายหลักประการหนึ่งคือการจัดเตรียมเอกสารสนับสนุนในการปฏิบัติตามข้อกำหนดภายใต้ LTR” Tastan กล่าว “การลดภาระการบริหารของทุกฝ่ายภายใต้ LTR จะเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อความสำเร็จ”

แต่สิ่งที่ดึงดูดใจหลักของโครงการนี้คือหมวดหมู่ “พลเมืองโลกผู้มั่งคั่ง” และ “ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำงานจากประเทศไทย” ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยไม่มีโครงการวีซ่าหรือใบอนุญาตทำงานเฉพาะสำหรับชาวต่างชาติในกลุ่มนี้ อีกทั้งโครงการ LTR ยังระบุว่าชาวต่างชาติในสองกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องมีผู้รับรองในไทยเพื่อทำงานหรืออยู่อาศัยในประเทศอีกด้วย 

“หลังโควิด-19 บริษัทข้ามชาติมีการดำเนินการจัดการแบบไฮบริดหรือทำงานจากที่ไหนก็ได้ ซึ่งประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูด โดยต้องแข่งขันกับภายในภูมิภาคเพื่อพนักงานที่ทำงานจากระยะไกลภายใต้โครงการ LTR” เธอกล่าวเสริม

ประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็กำลังพิจารณาโครงการวีซ่าที่มีลักษณะคล้ายกัน เช่น กัมพูชาพึ่งเปิดตัวโครงการ “My 2nd Home” ซึ่งเสนอสิ่งจูงใจสำหรับชาวต่างชาติที่มีเงินลงทุน 100,000 ดอลลาร์ ส่วนอินโดนีเซียกำลังพิจารณาวีซ่า “Digital Nomad” อายุ 5 ปี เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีการใช้จ่ายสูง

Author

Content Writer

All stories by: Content Writer

Leave a Reply

Your email address will not be published.