fbpx

อาเซียนสามารถคว้าโอกาสด้านพลังงานได้อย่างไร

1024 683 jai

ในภูมิทัศน์ของโลกที่มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ประเทศสมาชิกอาเซียนจำเป็นต้องฉวยโอกาสเพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างเส้นทางสำหรับการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ควบคู่ไปกับการเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน เศรษฐกิจ และบรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศ

10 ประเทศในอาเซียนมีประชากรรวมกันประมาณ 650 ล้านคน และเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตนี้ความต้องการพลังงานของภูมิภาคได้เพิ่มขึ้นในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาโดยเฉลี่ยประมาณ 3% ต่อปี จนกลายเป็นอันดับสี่ของโลกรองจากจีน สหรัฐอเมริกา และอินเดีย แค่เฉพาะในเวียดนามก็มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณ 8% ต่อปี นั่นทำให้ต้องมีการขยายกำลังการผลิตอย่างรวดเร็ว

การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานทั่วโลกซึ่งเคยเป็นไปอย่างเชื่องช้าแต่มั่นคง บัดนี้กลายเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากและไม่แน่นอนสำหรับประเทศและบริษัทต่าง ๆ การหดตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2020 จากโควิด-19 ทำให้ความต้องการพลังงานทั่วโลก การปล่อยก๊าซคาร์บอน และการลงทุนลดลงในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ก็ตามมาด้วยความต้องการพลังงานและการปล่อยก๊าซที่พุ่งสูงขึ้นไม่แพ้กันในปีต่อมา ท้ายที่สุดสงครามในยูเครนก็มาทำให้ตลาดพลังงานที่กำลังตึงตัวเข้าสู่วิกฤตพลังงานโลกอย่างแท้จริง ซึ่งนั่นมีผลกระทบอย่างมากกับประเทศในอาเซียนด้วยปัญหาต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น คอขวดของห่วงโซ่อุปทาน และความมั่นคงด้านพลังงาน

สถานการณ์เหล่านี้ทำให้เห็นถึงความจำเป็นในการสร้างความสามารถในการรับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นและเร่งการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ในขณะเดียวกันความจำเป็นในการจัดการและปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศก็กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค สมาชิกอาเซียน 9 ใน 10 ประเทศ ได้มีการตั้งเป้าหมาย Net Zero ซึ่งหลายประเทศนั้นจัดอยู่ในกลุ่มที่เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

เพื่อตอบสนองความต้องการด้านพลังงานในอนาคตจากมุมมองของความมั่นคงและความคุ้มค่าพร้อมไปกับการลดการปล่อยมลพิษ ความท้าทายที่ประเทศต่าง ๆ ต้องเผชิญคือวิธีลดความเข้มข้นของการใช้พลังงานเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และลดความเข้มของการใช้คาร์บอนจากการบริโภคและการผลิตพลังงาน นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็เป็นไปได้

การปรับปรุงความเข้มข้นของพลังงานหมายถึงการใช้พลังงานให้น้อยลงสำหรับทุกหน่วยของผลผลิตทางเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธีทั้งการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ หรือการสร้างดิจิทัลโซลูชัน เช่น ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid)

การเปลี่ยนไปใช้พลังงานไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมและการขนส่งก็เป็นอีกหนึ่งวิธีในการเพิ่มประสิทธิภาพและลดการปล่อยมลพิษ โดยปัจจุบันความต้องการยานยนต์ไฟฟ้า (EV) กำลังสูงขึ้นทั่วโลก และคาดว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้น 35% ในปีนี้หลังจากทำลายสถิติในปี 2022 จากการลงทุนและการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น

ประเทศในอาเซียนต้องสร้างแรงจูงใจและลงทุนในการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น แบตเตอรี่โซเดียมไอออนของ CATL สามารถปูทางไปสู่ความก้าวหน้าขั้นต่อไปของการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าและการจัดเก็บพลังงาน การเติบโตอย่างก้าวกระโดดนั้นเป็นไปได้ ในปี 2022 ยานยนต์ไฟฟ้ากำลังเฟื่องฟูในอินเดีย ไทย และอินโดนีเซีย โดยมียอดขาย EV เพิ่มขึ้นกว่าสามเท่าเมื่อเทียบกับปี 2021

ความเข้มข้นของคาร์บอนหรือปริมาณของการปล่อยก๊าซต่อหน่วยของพลังงานที่ผลิตและบริโภคก็สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้อีก การเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนสามารถประหยัดต้นทุนได้อย่างมาก เป็นการปรับปรุงทั้งความมั่นคงด้านพลังงานและความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ยิ่งไปกว่านั้นความสามารถในการใช้พลังงานสะอาดที่เพียงพอยังเป็นตัวสร้างความแตกต่างที่สำคัญสำหรับประเทศในอาเซียนในการดึงดูดการลงทุนจากบริษัทระดับโลกที่มุ่งมั่นในการทำ Net Zero และมองหาการสร้างห่วงโซ่มูลค่าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การดำเนินงานต่าง ๆ กำลังก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ ตัวอย่างเช่น แผนปฏิบัติการเพื่อความร่วมมือด้านพลังงานของอาเซียนปี 2016-2025 มีเป้าหมายในการบรรลุสัดส่วนพลังงานทดแทนที่ 23% จากพลังงานทั้งหมดภายในปี 2025 ปัจจุบันเวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่ทำได้ดีที่สุด มีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนที่ติดตั้งแล้วในปี 2020 ที่ 16.5 GW และขณะนี้ต้องการการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถรักษาการเติบโตของพลังงานทดแทนได้อย่างต่อเนื่อง

เวียดนามและอินโดนีเซียยังเป็นผู้นำในความร่วมมือด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (JETP) เพื่อทดแทนถ่านหินด้วยพลังงานหมุนเวียน โดยอินโดนีเซียได้ประกาศในการประชุมสุดยอด G20 ปี 2022 ที่บาหลีว่ามีแผนจะปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 10.1 GW ภายในปี 2030 ผ่าน JETP ซึ่งจะปลดล็อกการเงินระหว่างประเทศมูลค่า 20,000 ล้านดอลลาร์

ขณะที่ประเทศในอาเซียนกำลังพยายามเปลี่ยนแปลงระบบพลังงานของตนและสร้างจุดเปลี่ยนในด้านต่าง ๆ เช่น การขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าหรือการปรับเพิ่มการผลิตพลังงานหมุนเวียน มีประเด็นสำคัญสองประการสำหรับความสำเร็จนั่นคือ นโยบายและความร่วมมือ

แรงจูงใจด้านนโยบายพลังงาน สภาพภูมิอากาศ หรือเศรษฐกิจจะเป็นตัวกำหนดความเร็ว ส่วนเป้าหมาย Net Zero และการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะช่วยกำหนดทิศทางที่ชัดเจนได้ เป้าหมายเหล่านี้ต้องถูกเปลี่ยนให้เป็นแผนและนโยบายที่ชัดเจนซึ่งสร้างแรงจูงใจและลดความเสี่ยงในการลงทุน ตัวอย่างเช่น นโยบายพลังงานแห่งชาติของมาเลเซียปี 2022-2040 กำหนดให้พลังงานเป็นองค์ประกอบหลักของกลยุทธ์การเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศ

การทำงานร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก็เป็นกุญแจสำคัญเช่นกัน ความร่วมมือระหว่างประเทศสามารถทำได้โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานข้ามพรมแดน จัดทำแผนความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียนปี 2025-2035 และเรียนรู้จากกันและกัน บริษัทจากภาคส่วนต่าง ๆ เองก็ต้องทำงานร่วมกันกับผู้กำหนดนโยบายเพื่อสร้างวิสัยทัศน์และเร่งการเปลี่ยนแปลงด้วยการทำงานร่วมกัน

นอกจากนั้นแล้วผู้ใช้พลังงานก็จะต้องถูกรวมอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานทั้งหมดที่เกิดขึ้นเช่นกัน เนื่องจากสามารถมีบทบาทสำคัญด้วยการปรับปรุงพฤติกรรมให้ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

Leave a Reply

Your email address will not be published.