fbpx

เป้าหมายระบบนิเวศ EV ของอาเซียน

1024 614 jai

ความนิยมของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากหลาย ๆ ประเทศจูงใจให้ประชาชนเปลี่ยนไปใช้ EV มากขึ้นเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยจีนเป็นผู้นำในการผลิตประมาณ 44% ของรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดระหว่างปี 2010-2020 และ 77% ของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนในปี 2022 แต่การกระจายห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกอย่างต่อเนื่องจะเปลี่ยนภูมิทัศน์นี้และนำเสนอโอกาสที่น่าสนใจสำหรับประเทศกลุ่มอาเซียน

อาเซียนมีปัจจัยที่จำเป็นในการสร้างตัวเองให้เป็นศูนย์กลางการผลิต EV ที่เฟื่องฟู ตัวอย่างเช่น อินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคมีแร่นิกเกิลมากที่สุดในโลก นอกจากนี้ยังเป็นผู้ผลิตดีบุกและทองแดงรายใหญ่ซึ่งจำเป็นสำหรับแบตเตอรี่ EV

ปริมาณสำรองนิกเกิลที่อุดมสมบูรณ์ของเวียดนามทำให้ที่นี่เป็นจุดหมายปลายทางที่เหมาะสำหรับการผลิตแบตเตอรี่ ผู้นำในตอนนี้คือ VinFast กลุ่มบริษัทเอกชนที่มีชื่อเสียงของเวียดนาม กำลังก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่ขนาด 14 เฮกตาร์ ความจุ 5 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี เทียบเท่ากับเซลล์แบตเตอรี่ 30 ล้านเซลล์

ประเทศไทยซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตและตลาดรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในภูมิภาค กำลังนำเสนอสิ่งจูงใจในการจัดตั้งตัวเองเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยกลยุทธ์นี้จะมีผลให้ภาษีนำเข้าลดลงและทำให้รถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศมีราคาที่จับต้องได้มากขึ้น

ในปี 2023 ผู้นำอาเซียนได้ออกประกาศจะสร้างระบบนิเวศของ EV ในระดับภูมิภาค แสดงถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานEV ของภูมิภาค และวางตำแหน่งให้เป็นศูนย์กลางการผลิต EV ระดับโลก ความคิดริเริ่มนี้จะช่วยยกระดับการดำเนินงานของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

นโยบายจะเน้นไปที่กลยุทธ์หลักสองประการ ได้แก่ การปรับมาตรฐาน EV ระดับภูมิภาคเพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าข้ามพรมแดนและการทำงานร่วมกันอย่างราบรื่น และการพัฒนาทุนมนุษย์ผ่านโปรแกรมการฝึกอบรมและการรับรอง ด้วยการรวมมาตรฐานให้เป็นหนึ่งเดียวและส่งเสริมความเข้ากันได้ อาเซียนมีเป้าหมายที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพของการค้าและสร้างตลาด EV ที่เหนียวแน่นซึ่งอยู่เหนือพรมแดนของประเทศ ส่วนการลงทุนด้านการฝึกอบรมและการรับรองนั้นมีเป้าหมายเพื่อบ่มเพาะแรงงานที่มีทักษะสามารถช่วยขับเคลื่อนการปฏิวัติ EV ได้

วัตถุประสงค์ของแนวทางเหล่านี้คือการสร้างระบบนิเวศ EV ที่มีความเชื่อมโยงและเสมอภาคกันในภูมิภาคที่ปัจจุบันครอบครองโดยผู้ผลิตแบตเตอรี่และ EV จากจีนและเกาหลีใต้ อีกทั้งยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และยกระดับทักษะแรงงาน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างชื่อเสียงของภูมิภาคและความได้เปรียบในการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วนี้

การดำเนินการตามคำประกาศจะเป็นความท้าทายอย่างไม่ต้องสงสัย ประการแรกและสำคัญที่สุดคือแม้ว่าประเทศสมาชิกอาเซียนจะมีศักยภาพสูงในฐานะผู้จัดหาแร่ธาตุที่สำคัญ แต่ห่วงโซ่อุปทานของ EV ยังคงอยู่ในระยะเริ่มต้น ขณะที่ภูมิภาคนี้มีตลาดขนาดใหญ่ซึ่งมีประชากรมากถึง 664 ล้านคน และมีกลุ่มชนชั้นกลางที่กำลังเติบโต แต่อัตราการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้ากลับยังต่ำอยู่ โดยมีอุปสรรคสำคัญคือค่าใช้จ่ายที่สูงเมื่อเทียบกับรถยนต์สันดาปแบบดั้งเดิม ทำให้ผู้ที่มีรายได้ปานกลางและต่ำยังเข้าไม่ถึง นอกจากนั้นความกังวลในเรื่องของระยะทางและความขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานในการชาร์จทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ EV นั้นทำได้ยากยิ่งขึ้น

แต่อุปสรรค์ที่น่ากลัวที่สุดคือการกำหนดมาตรฐานระดับภูมิภาคสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งเป็นมาตรการเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญ โดยการจัดทำมาตรฐานเหล่านี้น่าจะเกี่ยวข้องกับการจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วมกัน (MRA) แต่แนวทางในการจัดทำนั้นอาจจะนำมาซึ่งการเจรจาที่ยาวนานระหว่างประเทศสมาชิก ดังที่เห็นได้จากระยะเวลา 14 ปี ของข้อตกลงยอมรับร่วมผลการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์ กระบวนการที่ยืดเยื้อดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะทำลายรากฐานของระบบนิเวศ EV ที่อาเซียนพยายามที่จะทำให้เกิดขึ้น

ประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศควรให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างระบบนิเวศ EV ของตน ซึ่งสามารถทำได้โดยใช้มาตรการจูงใจทางการคลัง ออกนโยบายการลงทุนที่เอื้ออำนวย และสร้างโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จที่ดีอย่างรวดเร็ว การดำเนินการเหล่านี้ไม่เพียงช่วยเรื่องสนับสนุนการผลิต แต่ยังกระตุ้นความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศอีกด้วย โดยอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนามเป็นตัวอย่างของประเทศที่กำลังเดินหน้าออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาตามวัตถุประสงค์ที่สำคัญเหล่านี้อย่างจริงจัง

เพื่อเริ่มต้นโครงการ EV ระดับภูมิภาค รัฐบาลอาเซียนสามารถร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อสร้างแพลตฟอร์มในการแบ่งปันข้อมูล ซึ่งจะอำนวยความสะดวกในการอภิปรายเกี่ยวกับกรอบนโยบายที่เหมาะสมสำหรับการสร้างระบบนิเวศ EV ขั้นตอนนี้อาจไม่ยิ่งใหญ่เท่าการจัดทำ MRA แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ใช้งานได้จริงซึ่งจะช่วยสร้างความรู้อันมีค่าและที่สำคัญที่สุดคือสร้างความไว้วางใจระหว่างประเทศสมาชิก โดยความไว้วางใจนี้สามารถเร่งการเจรจา MRA ในอนาคตได้

ความคิดริเริ่มที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือการพัฒนาโปรแกรมระดับภูมิภาคที่ครอบคลุมสำหรับการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษา (TVET) เพื่อเสริมสร้างทุนมนุษย์และก้าวให้ทันกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี EV แนวทางนี้ควรได้รับการสนับสนุนจากสภา TVET ของอาเซียน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับความไว้วางใจให้ออกแบบและดูแลโครงการเพื่อสนับสนุนความก้าวหน้าในภูมิภาค ความพยายามในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากข้อมูลสนับสนุนของภาคเอกชนมีความจำเป็นในการระบุและฝึกฝนทักษะและความสามารถที่จำเป็นซึ่งอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าต้องการ

อาเซียนนั้นมีทั้งศักยภาพและความทะเยอทะยานที่จะครองตำแหน่งศูนย์กลางของการผลิต EV ในระดับแนวหน้าของโลก แต่เพื่อให้มั่นใจว่าแผนการดังกล่าวจะประสบความสำเร็จ ภูมิภาคนี้จะต้องมุ่งความสนใจไปที่การคว้าโอกาสในขอบเขตที่เอื้อมถึงและหลีกเลี่ยงสิ่งล่อใจที่อาจจะเกินความสามารถที่มีอยู่ในปัจจุบัน

Leave a Reply

Your email address will not be published.