fbpx

เงินเฟ้อ: ภัยคุกคามต่อการฟื้นตัวอาเซียน

1024 683 Content Writer

เงินเฟ้อ: ภัยคุกคามต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2022 และอนาคต

ราคาอาหารและพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นจะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจอ่อนแอลงจากการลดการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน

อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่สูงขึ้นอาจส่งผลเสียต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2022 โดยรายงาน Global Economic Prospects ของธนาคารโลกเดือนมิถุนายนมีการประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อในประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าจะเพิ่มขึ้นจาก 1.9% เป็น 6.95% ตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนเมษายน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในประเทศเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาจะเพิ่มขึ้นจาก 4.23% เป็น 9.37% ในช่วงเวลาเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อที่สูงนั้นคาดว่าจะยังคงดำเนินต่อไปมากกว่าเพียงแค่ชั่วคราว เนื่องจากการรุกรานยูเครนของรัสเซียทำให้ราคาอาหารและพลังงานเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบอย่างหนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้นำเข้าสินค้าดังกล่าว

เงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นกดดันธนาคารกลางให้เข้มงวดกับนโยบายการเงินเพื่อควบคุมราคาสินค้าที่สูงขึ้น ด้วยภาวะทางการเงินที่ตึงตัวนี้โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้วขนาดใหญ่ อาจส่งผลให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ที่ไหลออกไปยังเศรษฐกิจอาเซียนลดลง ตัวอย่างเช่น ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์จ่ายเพื่อกู้ยืมเงินสำรองระยะสั้น) สามครั้งในช่วงครึ่งแรกของปีจาก 0.25% ในเดือนมีนาคม 2020 เป็น 0.50% ในมีนาคมปีนี้ จากนั้นเป็น 1% ในเดือนพฤษภาคม และ 1.75% ในเดือนมิถุนายน

อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะเป็นการเพิ่มต้นทุนการกู้ยืมสำหรับทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภค ต้นทุนสินเชื่อที่สูงขึ้นจะลดการลงทุนและการบริโภคของภาคเอกชนในประเทศ ในขณะเดียวกันก็ทำให้บริษัทต่าง ๆ ไม่กล้าลงทุนในต่างประเทศ นักลงทุนต่างชาติจะไม่สามารถทำกำไรจากการขยายโครงการที่กำลังดำเนินอยู่หรือลงทุนในโครงการใหม่ได้ เนื่องจากต้นทุนการผลิตซึ่งโดยปกติแล้วจะได้มาจากการกู้ยืมจากธนาคารสูงขึ้น

FDI เป็นแหล่งเงินทุนภายนอกที่ใหญ่ที่สุดในเศรษฐกิจอาเซียน โดยสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นแหล่ง FDI ที่ใหญ่ที่สุดที่ไหลเข้าสู่อาเซียนนั้นมีมูลค่า 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 26% ของทั้งหมดในปี 2020 การลดลงของเงินทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามาอาจทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนอ่อนแอลงจากการลดโอกาสในการทำงานสำหรับแรงงานในอาเซียน ลดเงินทุนสำหรับการลงทุนของภาคเอกชน และลดรายได้จากภาษีนิติบุคคลที่ใช้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายสาธารณะของรัฐ

แนวโน้มเงินเฟ้อที่สูงขึ้นยังสามารถสังเกตได้ในกลุ่มเศรษฐกิจอาเซียนเอง ซึงมีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 0.9% ในเดือนมกราคม 2021 เป็น 3.1% ในเดือนธันวาคม 2021 และเพิ่มขึ้นเป็น 4.7% ในเดือนเมษายน 2022 โดยสี่ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ประสบกับปัญหาอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนเมษายน ได้แก่ อินโดนีเซีย (149%) สิงคโปร์ (161%) ลาว (206%) และไทย (267%) ส่วนอัตราเงินเฟ้อในประเทศมาเลเซียลดลง ขณะที่ในฟิลิปปินส์และเวียดนามยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

ต่างจาก Fed ธนาคารกลางอาเซียนยังไม่ได้ตอบสนองต่อการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อด้วยการดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวด ตัวอย่างเช่น ณ วันที่ 10 มิถุนายน ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (อัตราที่ธนาคารกลางเรียกเก็บจากธนาคารพาณิชย์สำหรับเงินกู้) อยู่ที่ 0.5% ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2020 ซึ่งอาจสะท้อนถึงความจำเป็นในการรักษาระดับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยการรักษาทรัพยากรทางการเงินที่มีอยู่สำหรับการลงทุนและการบริโภคของภาคเอกชน นอกจากนี้ยังอาจสะท้อนถึงข้อจำกัดของนโยบายทางการเงินเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อที่สูงซึ่งเกิดจากแรงกดดันด้านอุปทาน เช่น การเพิ่มขึ้นของราคาอาหารและพลังงาน หรือการขาดแคลนแรงงานอันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19

อย่างไรก็ตามราคาอาหารและพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นอาจทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในอาเซียนอ่อนแอลง จากการลดการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน แม้ว่าจะไม่ได้มีนโยบายด้านการเงินที่เข้มงวดก็ตาม ราคาอาหารที่สูงขึ้นทำให้กำลังซื้อของครัวเรือนลดลง เนื่องจากต้องใช้เงินมากขึ้นเพื่อซื้ออาหารในปริมาณเท่าเดิม นอกจากนั้นยังอาจมีผลให้จำนวนผู้ขาดสารอาหารในอาเซียนเพิ่มสูงขึ้นอีก โดยสัดส่วนของผู้ขาดสารอาหารต่อประชากรทั้งหมดในปี 2019 อยู่ในช่วงจาก 5.3% ในลาว 6.5% ในอินโดนีเซีย 6.7% ในเวียดนาม 7.6% ในเมียนมาร์ 8.2% ในประเทศไทย และ 9.4% ในฟิลิปปินส์

ผลกระทบของราคาอาหารที่สูงขึ้นต่อการบริโภคในครัวเรือนคาดว่าจะมีมากโดยเฉพาะในประเทศไทยและอินโดนีเซีย เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีอัตราเงินเฟ้อและอัตราส่วนของค่าใช้จ่ายครัวเรือนในด้านอาหารที่ค่อนข้างสูง โดยอัตราส่วนของค่าใช้จ่ายด้านอาหารมีตั้งแต่ 7% ในสิงคโปร์ 21% ในมาเลเซีย 26% ในไทย 31% ในอินโดนีเซีย 39% ในเวียดนาม และ 42% ในฟิลิปปินส์ ความเสี่ยงจากการบริโภคในครัวเรือนที่ลดลงอาจลดความเชื่อมั่นของนักลงทุน ในขณะที่ราคาพลังงานที่สูงขึ้นทำให้ค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยทั้งสองนี้จะทำให้บริษัทต่าง ๆ ไม่สามารถขยายธุรกิจได้

อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกกำลังคุกคามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2022 และปีต่อ ๆ ไป โดยอาจทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอ่อนแอลงจากการลดการไหลเข้าของ FDI การบริโภค และการลงทุนของภาคเอกชน นอกจากนี้ยังอาจส่งผลให้เกิดภาวะขาดสารอาหารเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ในเศรษฐกิจอาเซียน

 

Author

Content Writer

All stories by: Content Writer

Leave a Reply

Your email address will not be published.